1 ก.ค.นี้ เปิด“โฮมวอร์ด”ดูแล"ผู้ป่วยใน"ที่บ้าน นำร่องบางโรค บางพื้นที่

1 ก.ค.นี้ เปิด“โฮมวอร์ด”ดูแล"ผู้ป่วยใน"ที่บ้าน นำร่องบางโรค บางพื้นที่

ในโอกาส  80 ปีกรมการแพทย์ ขับเคลื่อนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพและสร้างการแพทย์วิถีใหม่ที่ดีกว่าเดิม New Normal มุ่งนำบริการทางการแพทย์ออกจากรพ.ไปหาคนไข้ “ทุกที่ ทุกเวลา” เตรียมนำร่องโครงการ  “โฮมวอร์ด(Home Ward)” ดูแลผู้ป่วยในบางโรคที่บ้าน เริ่ม 1 ก.ค.2565 

    นพ.สมศักดิ์  อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า  80 ปี กรมการแพทย์จะเดินหน้าสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่  ประชาชนได้รับบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ และมาตรฐานวิชาชีพมากขึ้น สู่ยุคNew Normal โดยนำบริการทางการแพทย์ออกจากรพ.ไปหาคนไข้ใน “ทุกที่  ทุกเวลา” โดยจะมีการเริ่มดำเนินการ “Home Ward” หรือการดูแลรักษาคนไข้ที่บ้าน  ไม่ต้องเข้ารับการรักษานอนในรพ.จะเริ่มในวันที่ 1 ก.ค.2565 โดยทำที่บ้านคนไข้ให้เป็นเหมือนเตียงดูแลผู้ป่วยในรพ.อาจจะไม่ใช่ทุกพื้นที่แต่เป็นโครงการนำร่อง  ในบางโรค เบื้องต้นอาจจะมี 6-7 โรค  ที่ทำแบบนี้เพราะคนไข้ไม่อยากนอนรพ.และรพ.ไม่มีเตียงให้นอน เตียงล้น

        เช่น  ผู้ป่วยเบาหวานที่น้ำตาลในเลือดสูง เดิมเมื่อเจาะเลือดที่รพ.แล้วน้ำตาลในเลือดสูง ถ้าเกินระดับที่กำหนดจะต้องนอนรักษาในรพ.ทั้งหมด จะปรับเป็นการพิจารณาว่าบางส่วนไม่ต้องนอนรพ. หรือผู้ป่วยแผลกดทับที่ถึงระดับหนึ่งต้องมานอนรพ.ดูแลแผลเพื่อพลิกตัวทุก 12 ชั่วโมง   พบว่าเมื่อมาอยู่รพ.บางครั้งแผลยิ่งแย่ แต่อยู่บ้าน คุณภาพชีวิตดี  ก็จะสามารถดูแลที่บ้านได้  ซึ่งขึ้นกับ 1.โอกาสที่อาการผู้ป่วยจะแย่ลงมากๆนั้นมีน้อย  2.ต้องติดตามประเมินได้เมื่อไปที่บ้านหรือโฮมวอร์ด อย่างน้อยจะต้องมีเทเลเมดและมีอุปกรณ์เบื้องต้นที่สามารถติดตามอาการได้  เช่น เครื่องวัดน้ำตาลปลายนิ้ว  3.การตัดสินใจ จะไม่ใช่การตัดสินใจจากเฉพาะฝั่งแพทย์ แต่จะเป็นการตัดสินใจร่วมกันระหว่างคนไข้ และญาติ
1 ก.ค.นี้ เปิด“โฮมวอร์ด”ดูแล\"ผู้ป่วยใน\"ที่บ้าน นำร่องบางโรค บางพื้นที่

    ในส่วนของค่าใช้จ่ายสนับสนุน “โฮมวอร์ด” สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)อยู่ระหว่างการพิจารณากำหนดการจัดสรรงบประมาณเป็นแบบผู้ป่วยใน  เบื้องต้นอาจจะเหมาเหมือนผุ้ป่วยในระดับน้อยที่สุดก่อน ราว 7,000-8,000 บาท  สิ่งที่เกิดขึ้นคือคนไข้ไม่ต้องมารพ.และลดภาระคนไข้ในที่รพ. ทำให้เตียงว่าง สามารถรับคนไข้ประเภทอื่นได้มากขึ้น

      “เป้าหมายของการดูแลแบบโฮมวอร์ด ไม่ใช่เป็นเรื่องของสุขภาพเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของคุณภาพชีวิตด้วย”นพ.สมศักดิ์กล่าว

        อีกทั้ง ที่ผ่านมาได้ปรับบริการจากเชิงรับเป็นเชิงรุก  ช่วงโควิด19เป็นโอกาสอย่างหนึ่งที่ได้มาทบทวนการดำเนินงานการดูแลประชาชนด้านสุขภาพ ว่าจำเป็นหรือไม่ที่ประชาชนต้องมารพ. พบว่า หลายส่วนอาจจะไม่จำเป็น อาทิ คนไข้โรคไม่ติดต่อ คนไข้ที่คุมเบาหวานได้ไม่ดี  จึงพิจารณากระบวนการทั้งหมดว่าเส้นทางของคนไข้เมื่อมารพ.ต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งคนไข้เบาหวานเมื่อมารพ.ก็ต้องไปเจาะเลือด พบแพทย์ รับยา และกลับบ้าน  นำมาสู่การพิจารณาให้เจาะเลือดนอกรพ.
       โดยรพ.ราชวิถี เลิดสิน และนพรัตน์ ได้นำร่องดำเนินการ ด้วยการให้เจาะเลือดคนไข้ที่บ้าน หรือไปเจาะเลือดใกล้บ้านที่คลินิกหรือศูนย์บริการสาธารณสุขกทม. จะส่งข้อมูลเข้ามาแบบออนไลน์ ถ้าผลปกติ แพทย์จะมีกระบวนการนัดคนไข้อยู่แล้ว ก็จะเทเลเมด(Telemedicine)พูดคุยกันและส่งยาทางไปรษณีย์  กระบวนกทั้งหมดหลายรพ.ตั้งเป้าว่าคนไข้โรคไม่ติดต่อ จะไม่ต้องมารพ.ในปลายปีนี้ 20 % จะเป็นการลดความแออัดในรพ.และเพิ่มเวลาคุยกันระหว่างคนไข้และแพทย์ทางเทเลเมดมากขึ้น

    “จากที่นำร่องในรพ. 3 แห่งดังกล่าว พบว่ามีเพนพอทย์บางอย่าง เช่นการเจาะเลือดนอกรพ.มีค่าใช้จ่าย เดิมที่รพ.ราชวิถีทำในคนที่อยู่ไกลๆ ส่งทีมไปเจาะให้ต้องคิดค่าบริการราว 200-300 บาทก็มีปัญหา  ซึ่งกำลังหารือว่าจะเป็นในลักษณะเหมาเจาะแล้วสปสช.ช่วยจ่าย จากปัจจุบันที่ช่วยจ่ายค่าเจาะเลือดไม่รวมค่าแล็ปเบื้องต้น 50 บาท ถ้าเป็นเหมาเจาะได้จริงๆ และดีขึ้น จะเป็นบริการที่ทำให้ประชาชนสะดวกขึ้น ไม่ต้องมาเจาะเลือดตั้งแต่เช้ามืดตีห้า และบุคลากรปลอดภัยและลดภาระบางส่วนได้ด้วย”นพ.สมศักดิ์กล่าว  

         สำหรับเรื่อง “กัญชาทางการแพทย์” กรมการแพทย์  ได้มีการจัดตั้ง ศูนย์วิจัยกัญชาทางการแพทย์ระหว่างประเทศ ซึ่งทำงานร่วมกับต่างประเทศ และได้รับการประสานจากประเทศมาเลเซีย ที่ปัจจุบันกัญชายังเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่ต้องการที่จะทำให้ถูกกฎหมาย โดยขอเรียนรู้จากประเทศไทย   และกรมได้จัดทำคำแนะนำการใช้กัญชาทางการแพทย์ ฉบับล่าสุด ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 พ.ศ.2564 โดยกำหนดโรค/ภาวะที่น่าจะได้ประโยชน์จากสารสกัดกัญชา ได้แก่ 1.โรคพาร์กินสัน 2.โรคอัลไซเมอร์ 3.โรควิตกกังวล 4.โรคปลอกประสาทอักเสบอื่นๆ และ5.โรคอื่นๆที่มีข้อมูลทางวิชาการว่าน่าจะได้ประโยชน์  อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำให้มีการใช้สารสกัดกัญชา เป็นการรักษาเริ่มต้นในทุกกรณี 
1 ก.ค.นี้ เปิด“โฮมวอร์ด”ดูแล\"ผู้ป่วยใน\"ที่บ้าน นำร่องบางโรค บางพื้นที่
       ในส่วนของ “ผู้ป่วยมะเร็งรักษาได้ทุกที่ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว” หรือ Cancer Anywhere ที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ 1 ม.ค.2564  นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์  กล่าวว่า จากที่คิดว่าจะทำให้คนไข้เข้ารับบริการในส่วนกลางที่กทม.มาก แต่จากที่ดำเนินโครงการ พบว่า ระบบนี้ทำให้คนไข้สามารถที่รับบริการภายในระดับเขตสุขภาพได้ คนไข้ในกทม.ไม่ได้เพิ่มขึ้น เพราะว่ารพ.ในเขตสุขภาพสามารถบริหารจัดการดูแลกันภายในเขตได้  ไม่ต้องส่งต่อเข้ามาในส่วนกลาง แสดงว่าศักยภาพของเขตสุขภาพในการดูแลผู้ป่วยใกล้เคียงกับในกทม.มาก  ไม่ได้ไหลคนไข้เข้ามาส่วนกลาง 
      “โครงการนี้ส่งผลให้คนไข้จากเดิมที่ได้รับความลำบากที่จะต้องใช้ใบส่งตัวหากจะต้องไปรับบรการในอีกรพ. ปัจจุบันไม่ต้องใช้ใบส่งตัว สามารถใช้เลขประจำตัว 13 หลักและวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งสามารถเข้ารับบริการได้เลย รวมถึง สามารถจัดการคิวในการรักษาได้ง่ายและเหมาะกับคนไข้มากขึ้น เพราะเห็นคิวทั้งหมดว่าที่ไหนว่าง ไม่ว่าง จึงสามารถจัดการได้ และคนไข้ประหยัดค่าใช้จ่ายทั้งทางอ้อม ทางตรง ทั้งญาติที่ต้องมาเฝ้าหรือการต้องเดินทางกลับไปมาเพื่อเอาใบส่งตัว หรืออื่นๆ”นพ.ณัฐพงศ์กล่าว 
       อนึ่ง ระหว่างวันที่ 8-10 ก.ค.2565 กรมการแพทย์จัดงาน "มหกรรม 80 ปี กรมการแพทย์" ภายใต้ปณิธาน "ทำดีที่สุดเพื่อทุกชีวิต" ณ บางกอก คอนเวนชั่น เซ็นทรัลเวิลด์ โดย ภายในงานมีบริการจากศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ของกรมการแพทย์ 13 ด้าน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย  ได้แก่ 1. ด้านระบบสมอง  ที่ให้บริการคัดกรองความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง และบริการคัดกรองภาวะสมองเสื่อม 2.ด้านการมองเห็น ให้บริการตรวจสุขภาพและคัดกรองโรคต้อกระจก ต้อหิน และเบาหวานขึ้นจอตา รวมทั้งบริการ Lid Spa นวดและทำความสะอาดเปลือกตาเพื่อบรรเทาอาการตาแห้ง
           3. ด้านการได้ยิน ให้บริการตรวจการได้ยินด้วยเครื่องวัดพร้อมตู้เก็บเสียงมาตรฐาน บริการตรวจช่องหู 4.ด้านโรคจากการทำงานและสิ่งแวดล้อม 5.ด้านสุขภาพฟัน 6. ด้านโรคมะเร็งและพยาธิวิทยา 7.ด้านโรคเด็ก 8.ด้านโรคเกี่ยวกับกระดูกและข้อ 9. ด้านผู้สูงอายุ 10.ด้านการบำบัด รักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพในกลุ่มผู้ติดยาและสารเสพติด 11.ด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ 12.ด้านการจัดบริการเพื่อพระภิกษุและสามเณร และ 13.ด้านโรคผิวหนัง