"รากกัญชา"ไม่มีสารTHC เร่งวิจัย "ผงฟู่" แก้ปวด บำรุงร่างกาย

"รากกัญชา"ไม่มีสารTHC เร่งวิจัย "ผงฟู่" แก้ปวด บำรุงร่างกาย

กรมแพทย์แผนไทยฯ วิจัย “รากกัญชา” ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์  รูปแบบแคปซูล-สารสกัดผงฟู่  เบื้องต้นมุ่งต้านการอักเสบ อาการปวด บำรุงร่างกาย  ระบุรากไม่มีสาร THC 

  น.ส.ธีราธร สังหร่าย เภสัชกรปฏิบัติการ กองพัฒนายาแผนไทยและสมุนไพร กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า  ปัจจุบันกองพัฒนายาฯ มีการศึกษาวิจัยการใช้ประโยชน์จากรากกัญชา 2  ส่วน คือ

1.นำรากกัญชามาบดเป็นผงและอัดเป็นแคปซูล สามารถรับประทานได้

2. นำสารสกัดทำให้อยู่ในรูปแบบผง ด้วยการกลั่นด้วยไอน้ำ ทำเป็นผงและให้อยู่ในรูปแบบผงฟู่ให้ทานง่ายขึ้น ซึ่งประสิทธิภาพของเหลวจะดูดซึมได้ดีกว่าของแข็ง

อย่างไรก็ตาม การศึกษาทั้ง2ส่วนยังอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย ทบทวนวรรณกรรม จำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติม โดยเบื้องต้นจะใช้ต้านการอักเสบ อาการปวด บำรุงร่างกาย 

“ต้องการวิจัยให้เห็นว่า รากกัญชายังใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ โดยการศึกษาวิจัยมีทั้งส่วนการรักษาและสร้างเสริมสุขภาพด้วย แต่ทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้การวินิจฉัยของแพทย์ว่า ควรใช้อย่างไร ซึ่งอาจจะสามารถใช้แทนยาแก้ปวดในอนาคตได้ ลดการใช้ยาโดยไม่จำเป็น ประกอบกับตัวรากกัญชายังพบว่า ไม่มีสารTHC  ก็จะเหมาะกับคนที่ไม่สามารถใช้ THC ได้  ทั้งนี้ เมื่อผลวิจัยชัดเจนก็จะนำไปสู่การศึกษวิจัยในมนุษย์ต่อไป” น.ส.ธีราธร กล่าว 

น.ส.ธีราธร กล่าวอีกว่า ในเรื่องของ น้ำมันกัญชา ตำรับเมตตาโอสถ มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ THC 3 มิลลิกรัมต่อหยด ปัจจุบันมีการดีไซน์ให้รับประทานง่ายเป็นแคปซูลนิ่ม โดยTHC  3 มิลลิกรัมต่อ 1 แคปซูลนิ่ม ซึ่งทำให้ทานง่ายขึ้น แต่ต้องรอขั้นตอนต่างๆ เพื่อนำมาใช้จริง ขณะนี้ยังไม่สามารถใช้ในรูปแบบแคปซูลนิ่มได้

       ด้าน น.ส.โชติกา แหร่มบรรเทิง แพทย์แผนไทยปฏิบัติการ รพ.การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก  กล่าวว่า  ปัจจุบันเรามีคลินิกกัญชาทางแพทย์แผนไทยเปิดมาตั้งแต่ปี 2562 มีตำรับสูตรอาจารย์เดชา ส่วนสูตรเมตตา ใช้ในผู้ป่วยมะเร็งระยะ 3 และ 4 ที่มีอาการคลื่นไส้ นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร 
       อย่างไรก็ตาม การรักษาผู้ป่วยจะมีแพทย์ซักประวัติ ซึ่งเราจะให้คนไข้เตรียมพร้อมนำบัตรประจำตัวประชาชนมาก่อน และคนไข้ควรมาเอง หากมาได้ ไม่ได้ติดเตียง ต้องพกยาประจำตัวมาด้วย และต้องบอกรายละเอียดอาการ หรือมีโรคประจำตัวอย่างไร เนื่องจากจะมีการซักประวัติอย่างละเอียด

     ที่สำคัญต้องเอาประวัติการรักษาแพทย์แผนปัจจุบันมาด้วยเพื่อพิจารณาการรักษาควบคู่กัน อย่างหากคนไข้เป็นมะเร็งและต้องใช้คีโม จะต้องแจ้งแพทย์แผนไทย เพื่อให้หยุดใช้ยาแพทย์แผนไทยช่วงนั้น จนกว่าจะใช้คีโมจนเสร็จและร่างกายแข็งแรง

      “ไม่พบคนไข้รายใดแพ้กัญชา โดยการใช้ในผู้ป่วยแรกๆ จะให้ใช้ก่อนและยังไม่ให้กลับบ้าน ให้สังเกตอาการประมาณ 45 นาที หากไม่มีอาการใดๆ สามารถกลับบ้านได้ แต่กรณีคนไข้เก่ารับยาต่อเนื่อง อาการคงที่ ไม่แย่ลงก็กลับบ้านได้เลย คนไข้ส่วนใหญ่ที่มาจะเป็นโรคเรื้อรัง โรคมะเร็ง พาร์กินสัน ลมชัก เป็นต้น ส่วนคนทำงานก็จะมาด้วยอาการนอนไม่หลับ ก็จะมีการรักษาตรงนี้ด้วยเช่นกัน”น.ส.โชติกากล่าว