เมื่อ "กัญชา"เป็นสมุนไพรควบคุม ห้าม! ครอบครอง-ใช้ในคน 3 กลุ่ม

เมื่อ "กัญชา"เป็นสมุนไพรควบคุม ห้าม! ครอบครอง-ใช้ในคน 3 กลุ่ม

สธ.เร่งออกประกาศ "กัญชา"เป็นสมุนไพรควบคุม กำหนดห้ามครอบครอง-ใช้ ในคน 3 กลุ่ม อายุต่ำกว่า 20 ปี หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ย้ำห้ามใช้ในสถานศึกษามีกฎหมายอยู่แล้ว ห้ามก่อกลิ่น-ควันกัญชาในที่สาธารณะ

เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2565 ที่ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ในการควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ไม่เหมาะสม ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใดเป็นเหตุรำคาญ พ.ศ. 2565 ซึ่งก็จะเป็นการควบคุมกรณีการนำไปใช้ทางที่ไม่เหมาะสมแล้วควันและกลิ่นก่อเหตุรำคาญ ก็เป็นการควบคุมการใช้ในที่สาธารณะ ซึ่งในส่วนของร.ร.หรือมหาวิทยาลัย ก็เข้าข่ายเป็นที่สาธารณะ ก็ห้ามก่อให้เกิดควันและกลิ่นอยู่แล้ว เท่ากับเป็นการควบคุมการใช้ในสถานศึกษา รวมถึง สถานที่ต่างๆที่เข้าข่ายที่สาธารณะ

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการยกร่างประกาศ ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา ) ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พศ.2542 โดยกำหนดให้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม หลักการจะมุ่งเน้นการห้ามครอบครองและใช้ในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีตั้งครรภ์และสตรีที่ให้นมบุตร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างร่างและจะมีการประชุมของคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาไทย ที่มีนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ก่อนเสนอมายังตนหากพิจารณาแล้วมีความครอบคลุม ชัดเจน ก็จะรีบลงนามให้เร็วที่สุด 

   "เมื่อมีประกาศเหล่านี้ออกมาอุดรอยรั่วระหว่างที่ร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชงยังไม่มีออกมาบังคับใช้ ก็ไม่จำเป็นต้องออกพรก.เกี่ยวกับกัญชามาฝช้วนระหว่างนี้ก่อนอีก ซึ่งจะเห็นว่าประกาศของสธ.ครอบคลุมทั้งการห้ามใช้ในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ก็เท่ากับห้ามใช้ในเด็กเยาวชน มีเรื่องห้ามก่อเหตุรำคาญที่เป็นกลิ่น ควัน ก็เป็นการห้ามเสพสูบในที่สาธารณะ ซึ่งก็รวมถึงโรงเรียนและสถานศึกษาด้วยแล้ว แต่การที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม.จะออกประกาศกทม.ห้ามใช้ในโรงเรียน ก็เป็นเรื่องดีที่ออกมาย้ำถึงกฎหมายที่มีการกำหนดไว้อยู่แล้วอีกครั้ง"นายอนุทินกล่าว

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า การปลดล็อคกัญชาเสรีทางการแพทย์ เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. เป็นต้นมา เน้นย้ำเรื่องการเอาไว้ใช้ทางการแพทย์ ไม่ใช่เอาไปใช้เสพหรือสูบเกินขนาดจนเกิดอุบัติเหตุ อย่างกรณีที่มีการพูดถึงผู้ใช้กัญชาเกินขนาด จนหัวใจวายแล้วเสียชีวิต ก็เป็นการพูดโดยที่ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน ซึ่งวันนี้แพทย์ก็มีการแถลงข้อมูลออกมาแล้วว่า ไม่ได้เกิดจากการเสพกัญชาจนหัวใจวายแล้วเสียชีวิต

"ต้องถามว่าสงสารและนึกถึงญาติผู้เสียชีวิตหรือไม่ ที่การบันทึกสาเหตุของการเสียชีวิตว่าเกิดจากการหัวใจวาย หรือการเสพกัญชาแล้วเสียชีวิต เพราะให้ความรู้สึกที่ต่างกันมาก สิ่งเหล่านี้ไม่ควรนำมาเล่น กระทรวงสาธารณสุขเห็นทุกคุณค่าชีวิต นโยบายของกระทรวงฯ ปลดล็อกกัญชามาเพื่อช่วยชีวิต ไม่ใช่ทำร้ายชีวิต" นายอนุทินกล่าว

นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า เมื่อวานนี้ มีผู้ประสานให้ตนได้ต่อสายคุยกับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้ทำความเข้าใจกันแล้ว วันนี้ท่านก็มีสปิริตดี ที่ข่าวบอกว่าไม่ได้เสียชีวิตจากการเสพกัญชา ส่วนรายละเอียดของผู้เสียชีวิตนั้นก็ขอให้สอบถามทางการแพทย์ที่จะมีวิธีการชันสูตรหรือไม่ก็เป็นไปตามกฎหมาย
เมื่อ \"กัญชา\"เป็นสมุนไพรควบคุม ห้าม! ครอบครอง-ใช้ในคน 3 กลุ่ม
เมื่อถามว่าหากมีรายงานผู้เสียชีวิตอย่างกรณีเช่นนี้อีกจะต้องมีการชันสูตรหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งทำไมก่อนหน้านี้ไม่มีกรณีการเสียชีวิตจากการเสพกัญชาโดยตรงแบบนี้ ตรงนี้เราก็ต้องไปดูสาเหตุของการเสียชีวิต เหมือนอย่างคนที่เสียชีวิตจากโควิด-19 ต้องไปดูว่ามีโรคแทรกซ้อนที่ไปเร่งให้เกิดอาการมากขึ้นหรือไม่

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า เห็นด้วยที่จะให้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม ตามที่กรมการแพทย์แผนไทยฯ เสนอมาหากทำได้ก็ให้เร่งทำ เพราะเมื่อกัญชาเสรีแล้วเราก็ต้องปกป้องประชาชนในส่วนที่ไม่ดี ที่จะเกิดผลเสียต่อสุขภาพ เราออกประกาศควบคุมกลิ่นและควันกัญชาให้เป็นเหตุรำคาญ รวมถึงหากมีผลต่อจิตประสาท มีผลต่อพฤติกรรมที่ทำให้เสพติด มีอาการจิตประสาท ก็ต้องเฝ้าระวัง ป้องกันซึ่งจะสะท้อนผลออกมาในเรื่องของอุบัติเหตุ มีผลทางจิตประสาทมากขึ้นหรือไม่ หรือจะมีผลเสียกับเด็กเยาวชนหรือเปล่า จึงต้องเร่งมาตรการป้องกันให้มากที่สุด ถ้าเป็นอาหารสำเร็จรูปก็ต้องฝากทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ออกคำเตือน เช่นเครื่องดื่มชูกำลังห้ามดื่มเกินวันละ 2 ขวด ทั้งหมดนี้พิจารณาตามหลักวิชาการ รวมถึงร้านใดที่มีการผสมอาหารด้วยกัญชาก็จะต้องมีการแจ้งให้ประชาชนทราบ ซึ่งหาก พ.ร.บ. กัญชาฯ ยังไม่ออกก็อาจใช้กฎหมายที่ สธ. มีอยู่ก่อน เพื่อให้เกิดความรอบคอบปลอดภัยที่สุด
ด้านนพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมนามัย กล่าวว่า ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใดเป็นเหตุรำคาญ พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 15 มิ.ย. 2565 ซึ่งเนื้อหาในประกาศกำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ เนื่องจากการใช้กัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด ในทางที่ไม่เหมาะสม เช่น สันทนาการ อาจส่งผลกระทบต่อสภาวะความเป็นอยู่โดยปกติสุข หรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยควันของพืชดังกล่าว จะมีอนุภาคขนาดเล็กที่สามารถเข้าสู่ปอดได้ด้วยการหายใจเอาควันเข้าไป ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย เช่น โรคปอด หอบหืด หลอดลมอักเสบ เพื่อควบคุมและป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบจนเป็นเหตุให้เสื่อม หรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียง หรือผู้ที่ต้องประสบภัยกับเหตุนั้น ซึ่งจากประกาศนี้ หน่วยงานภาครัฐหรือเอกชน สามารถนำไปใช้พิจารณาออกประกาศองค์กรต่อไปได้ เหมือนกับการห้ามสูบบุหรี่ในที่ทำงาน เป็นต้น