ธุรกิจยุคใหม่ ขับเคลื่อนด้วย Data แนะรัฐเปิดโอกาสภาคเอกชนร่วมสร้างคน

ธุรกิจยุคใหม่ ขับเคลื่อนด้วย Data แนะรัฐเปิดโอกาสภาคเอกชนร่วมสร้างคน

เผยไทยต้องการกำลังคนด้าน Data สูง เหตุขาดแคลนหนัก ค่าตอบแทนสูง เชื่อ Data อาวุธของนักธุรกิจ เพิ่มมูลค่า การแข่งขัน ขณะที่ “กลุ่มธนาคาร” มี Data มากสุด ฝากรัฐบาลเปิดโอกาสภาคเอกชนร่วมสร้างหลักสูตร สร้างคน เพิ่มทักษะ Data เบื้องต้นแก่ทุกอาชีพ

Economic Intelligence Center (EIC) หน่วยงานภายใต้ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่ามูลค่าตลาด Data Center ของไทยมีแนวโน้มเติบโต 20% Compound Annual Growth Rate  (CAGR) หรือ อัตราการเติบโตของพอร์ตเฉลี่ยต่อปีแบบทบต้น  ในช่วงปี 2020-2022 มาอยู่ที่ราว 3.2 หมื่นล้านบาท โดยจะมาจากการเติบโตของ Public Cloud เป็นหลัก

ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2020-2022 จะขยายตัวสูงที่ 24 % CAGR มาอยู่ที่ 2.6 หมื่นล้านบาท เนื่องจากผู้ใช้บริการสามารถประหยัดงบลงทุนในส่วนของอุปกรณ์ไอทีและยังมีความยืดหยุ่นในการขยายหรือลดการใช้งานได้มากกว่าแบบ Colocation หรือ Private Cloud ซึ่งคาดว่าจะเติบโตที่ 6% CAGR มาอยู่ที่ 6 พันล้านบาท ในช่วงเวลาเดียวกัน

  • ธุรกิจยุคใหม่ขับเคลื่อนด้วยData

ดร. วิโรจน์ จิรพัฒนกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง Skooldio และ อดีต Data Scientist ที่ Facebook และอาจารย์พิเศษ ภาควิชาสถิติ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าโลกขับเคลื่อนด้วย Data ทำให้ทุกอาชีพที่เกี่ยวกับ Data มีการเติบโตอยู่เรื่อยๆ เพราะว่าทุกธุรกิจเริ่มทำดิจิตอลมากขึ้น โดยดูได้จากการทำโฆษณา ทำแพลตฟอร์ม ทำเว็บ ทำแอปพลิเคชั่น ล้วนมุ่งสู่ตลาดออนไลน์ทั้งสิ้น

ถือเป็นโอกาสของธุรกิจหากมีข้อมูลมหาศาลได้มาวิเคราะห์ บริหารจัดการธุรกิจ เนื่องจากข้อมูลจะกลายเป็นความอยู่รอดของธุรกิจ และเป็นอาวุธของนักธุรกิจ หากองค์กรธุรกิจไหนวิเคราะห์ข้อมูลได้ถูกใจลูกค้า เดาใจลูกค้าได้อย่างแม่นยำก็จะช่วยเพิ่มยอดขายมากขึ้น รวมถึงเพิ่มโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจได้ ฉะนั้นในมุมของธุรกิจ ความต้องการ Data Scientist มีการเติบโตมากขึ้น” ดร.วิโรจน์ กล่าว

 

  • กลุ่มธนาคารมีData มากที่สุด

ปัจจุบันมีตำแหน่งที่เกี่ยวกับ Data มากมาย และทุกตำแหน่งล้วนต้องการกำลังคนสูง ไม่ว่าจะเป็นData Scientist เป็นการนำข้อมูลมาทำโมเดล มาทำ Machine Learning ,AI หรือData Engineer การเตรียมหลังบ้านให้พร้อม ให้ข้อมูลไปใช้งานได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น หรือตำแหน่งทั่วไปในองค์กร เช่น Marketing Sales ,นักบัญชี ทุกคนเริ่มมีการนำข้อมูลมาใช้ เพื่อทำงานของตัวเองให้ดีขึ้น

ทุกอุตสาหกรรมได้ประโยชน์จากข้อมูล แต่ไม่ใช่ทุกอุตสาหกรรมที่ปรับตัวนำData ไปใช้ อย่าง กลุ่มโรงงาน อาจจะไม่ได้มีการเก็บรวบรวมข้อมูล แตกต่างกับในกลุ่มธนาคารจะมีการใช้ข้อมูลจำนวนมาก รองลงมา คือ ตลาด E-Commerce และโรงงานขนาดใหญ่ในประเทศไทยที่มีเทคโนโลยี มีการมอนิเตอร์ หรือมีการติดเซนเซอร์ที่สัตว์

ดร.วิโรจน์ กล่าวต่อไปว่าโลกเทคโนโลยี เมื่อใดที่เป็นเจ้าตลาดก็จะเป็นผู้ที่มีข้อมูลมากที่สุด และสามารถใช้ข้อมูลกำหนดทิศทางของตลาด อ่านใจลูกค้าได้ ทำให้สามารถเดินนำหน้าคนอื่น 1 ก้าวตลอดเวลา

ดังนั้น การนำ Data หรือเทคโนโลยี อย่าง AI มาใช้ของอุตสาหกรรมไทยไม่แตกต่างจากต่างประเทศ แต่การนำมาใช้ในไทย ตอนนี้หลายคนตามกระแส ซึ่งอยากให้เข้าใจก่อนว่า ธุรกิจของตนเองจำเป็นต้องลงทุนหรือไม่ อยากให้มองจุดคุ้มทุน ดูถึงประโยชน์ของการใช้งาน

 

  • ทักษะจำเป็นของData Scientist

สำหรับการผลิตกำลังคนด้าน Data ยังไม่ตอบโจทย์ 100% เพราะต่อให้มหาวิทยาลัยมีหลักสูตรเหล่านี้มากขึ้น แต่อาชีพเหล่านี้ ไม่ใช่เพียงนำ Data ใส่โปรแกรมแล้วใช้ได้ทันที

ดร.วิโรจน์ กล่าวด้วยว่า ทักษะ Data Scientist ที่ควรมี คือ การเขียนโปรแกรม มีความรู้คณิตศาสตร์ สถิติ การสื่อสาร เพราะมนุษย์ Data ต้องคุยกับคนอื่นให้รู้เรื่อง เวลาทำโมเดลซับซ้อน ต้องนำเสนอ เล่าเรื่องแก่ผู้บริหารให้ได้ รวมถึงต้องมีความอยากรู้อยากเห็นตลอดเวลา รู้จักการตั้งคำถามเพื่อนำ Data มาใช้ให้แตกต่างจากบริษัทอื่นๆ และหาโอกาสจากข้อมูล ที่สำคัญควรมีความรู้ความเข้าใจในธุรกิจของตนเอง

  • รัฐเปิดโอกาสนักธุรกิจสร้างนักData

ดร.วิโรจน์ กล่าวอีกว่าหลายองค์กรสามารถสอนทักษะเบื้องต้นด้าน Data ให้แก่คนในองค์กรของตนเอง ให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้ง่ายๆ เพื่อให้องค์กรสามารถขับเคลื่อนในเรื่องข้อมูลได้ง่าย มากกว่าการจะสร้าง

หลายๆ กระทรวงมีงบประมาณในการพัฒนาทักษะด้าน Data ให้แก่ประชาชน คนทั่วไปมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในสายอาชีพของตนเอง เพราะประเทศไทยกำลังเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิตอล ภาครัฐควรมีคูปองให้ประชาชนพัฒนาทักษะของตนเองเหมือนสิงคโปร์ และควรเชื่อในเรื่องการแข่งขันเสรี อยากให้ภาคเอกชนได้มีโอกาสเข้ามาทำ เข้ามาแข่งขันในการสร้างหลักสูตร ช่วยพัฒนาบุคลากรแก่ประเทศดร.วิโรจน์ กล่าว