คนกทม.แฝง สิทธิบัตรทองกทม.ใช้บัตรใบเดียว รักษาปฐมภูมิได้ทุกที่ ฟรี!

คนกทม.แฝง สิทธิบัตรทองกทม.ใช้บัตรใบเดียว รักษาปฐมภูมิได้ทุกที่ ฟรี!

เพราะ “คนกทม.”ไม่ใช่แค่คนที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในกรุงเทพมหานครเท่านั้น แต่ยังรวมถึง “คนกทม.แฝง”หรือผู้ที่เข้ามาทำงานหรือใช้ชีวิตในเมืองหลวง ที่จะต้องได้รับสิทธิรักษาพยาบาลฟรี ตั้งแต่ 1ม.ค.265 คนใช้สิทธิบัตรทองกทม. ใช้บัตรใบเดียวเข้ารับการรักษาปฐมภูมิได้ทุกที่

    นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า  ประชากรแฝงในกทม.เมื่อย้ายจากต่างจังหวัดเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ โดยไม่ได้มีทะเบียนบ้านอยู่ในกทม.ที่อยู่ในสิทธิรักษาบัตรทอง  ยืนยันว่าสามารถใช้สิทธิบัตรทองในกทม.ได้อยู่แล้ว โดยอาจจะแจ้งย้ายหน่วยบริการมาเป็นหน่วยบริการใกล้บ้านในพื้นที่กทม. ก็ได้ซึ่งมีสิทธิย้ายได้ปีละ 4 ครั้ง เพราะอาจจะไม่ได้เข้ามาเพียงวันเดียวแล้วกลับ แต่มาทำงานเป็น 3-4 เดือนช่วงว่างจากการทำนา ทำไร่

     หรือ ไม่จำเป็นต้องแจ้งย้ายสิทธิหน่วยบริการก็สามารถเข้ารับบริการรักษาในหน่วยบริการปฐมภูมิทุกที่ได้ฟรี สามารถใช้เพียงบัตรประชาชนใบเดียว เพียงแต่ที่ผ่านมา หน่วยบริการปฐมภูมิอาจจะมีข้อกังวลในเรื่องการเบิกจ่ายเงิน ซึ่งขอย้ำว่าสปสช.ได้จัดระบบกลไกการเงินสำหรับมาจ่ายให้กับพี่น้องประชาชนที่ไปรับบริการปฐมภูมิได้ทุกที่ทั่วประเทศ

     “ยืนยันว่าปัจจุบันผู้มีสิทธิบัตรทองที่ทะเบียนอยู่ในต่างจังหวัดและมีหน่วยบริการตามสิทธิอยู่ในต่างจังหวัด แต่เข้ามาทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ สามารถใช้เพียงบัตรประชาชนใบเดียวไปรับบริการรักษาพยาบาลที่หน่วยบริการปฐมภูมิในกทม.ได้ฟรี ไม่ต้องมีใบส่งตัว เช่น คลินิกเอกชนที่เป็นเครือข่ายของสปสช.ใกล้บ้านทุกแห่ง โดยที่คลินิกไม่มีสิทธิปฏิเสธ เพราะคลินิกสามารถเบิกค่ารักษามายังสปสช.ได้อยู่แล้ว โดยดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 หน่วยบริการทุกแห่งที่ให้บริการประชาชนในลักษณะนี้ จะไม่ต้องให้ประชาชนกลับไปรับใบส่งตัว หรือมีการเรียกเก็บเงินจากประชาชน”นพ.จเด็จกล่าว 

      นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า  ในส่วนของกทม. มีนโยบายต้องการที่จะขยายบริการปฐมภูมิให้พี่น้องประชาชนเข้าถึงบริการได้มากขึ้น ที่ผ่านมาแม้จะมีหน่วยบริการปฐมภูมิจำนวนมากแต่อาจจะรู้สึกว่าไม่พอ เนื่องจากพื้นที่กทม.มีประชากรแฝงเข้ามาอยู่มาก เมื่อจะเปลี่ยนสิทธิบัตรทองเข้ามาอยู่ในกทม.ในหน่วยบริการที่ใกล้บ้านก็พบว่าเต็ม จึงต้องพิจารณาข้อมูลอีกครั้งว่าจุดไหนยังเป็นปัญหา เพราะบางที่มีแออัดมาก แต่บางที่ก็ยังไม่มาก เช่น มีนบุรี เป็นเขตที่อาจจะยังมีไม่มาก ส่วนเขตพญาไทมีหน่วยบริการเต็มไปหมด

     ซึ่งกรุงเทพมหานครจะต้องเข้ามามีบทบาท โดยจัดว่าจุดไหนที่มีคนมาทำงานมาก แต่ยังหน่วยบริการปฐมภูมิลงทะเบียนไม่ได้ ก็จะต้องเพิ่มหน่วยบริการ ส่วนจะเพิ่มเท่าไหร่จะต้องพิจารณาจากข้อมูล โดยอาจเป็นการดึงคลินิกเอกชนในพื้นที่นั้นเข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายบัตรทองในการให้บริการประชาชนมากขึ้น หรือรูปแบบอื่นๆ

     ผู้สื่อข่าวถามถึงการรับบริการในรูปแบบเทเลเมด(Telemed) ปัจจุบันอยู่ในสิทธิประโยชน์ สามารถรับบริการได้ฟรีหรือไม่ นพ.จเด็จ กล่าวว่า  อยู่ในสิทธิประโยชน์อยู่แล้ว หากสถานพยาบาลในเครือข่ายบัตรทอง มีบริการเทเลเมดและพิจารณาแล้วว่าผู้ป่วยสามารถรับบริการในรูปแบบเทเลมดได้ ผู้ป่วยก็สามารถรับบริการได้ฟรีไม่ต้องจ่ายเงินเอง เพียงแต่ที่ผ่านมาบริการรูปแบบนี้อาจจะไม่ได้รับความนิยมมากนัก แต่เชื่อว่าหลังการระบาดของสถานการณ์โควิด19จะได้รับนิยมใช้บริการผ่านรูปแบบเทเลเมดมากขึ้น ส่วนเทเลเมดที่เป็นการพัฒนาแอปพลิเคชั่นขึ้นมาเฉพาะ แต่ไม่ได้ผูกติดกับรพ.หรือหน่วยบริการนั้น  อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

      คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ได้จัดทำข้อเสนอจากการประชุมรับฟังความคิดเห็นแนวทางการปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิในพื้นที่ กทม. เพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดโรคติดเชื้อระดับชาติและโรคอุบัติใหม่ (Big Rock 1) ภายใต้โปรแกรมการยุติโรคระบาดด้วยนวัตกรรม มีข้อเสนอเชิงนโยบาย 7 ข้อในระยะเวลา 1 ปี ได้แก่

1.ผู้ว่าฯ กทม. จัดตั้ง System Manager ด้านปฐมภูมิในระดับเขต/กลุ่มเขต และระดับ กทม. อย่างมีส่วนร่วมจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนภายใน 1 เดือน

 2.คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) สำนักงานประกันสังคม (สปส.) และกรมบัญชีกลาง ร่วมสนับสนุนงบประมาณและออกแบบระบบการเงินที่ส่งเสริมศักยภาพของระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ โดยมุ่งเน้นบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (Health Promation and Prevention) พร้อมพัฒนารูปแบบการจ่ายเงินผู้ให้บริการอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

3.ผู้ว่าฯ กทม. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในทุกกลไกของระบบบริการปฐมภูมิ และสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพ กทม. 

4. กทม. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ประสานให้เกิดการพัฒนาระบบข้อมูลสุขภาพ (Personal Health Data) ที่นำมาสู่การพัฒนาระบบบริการและส่งเสริมการดูแลตัวเองของประชาชน

5.สำนักอนามัย พัฒนาระบบอาสาสมัครสาธารณสุขให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงและยั่งยืน โดยอาศัยทรัพยากรจาก สธ. 

6.กทม.เร่งดำเนินการ Sandbox ของระบบบริการปฐมภูมิภายใน 3 เดือน และขยายผลภายใน 1 ปี โดยมีรูปแบบที่คำนึงถึงบริบทเฉพาะของแต่ละพื้นที่

7.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับ กทม. จัดตั้งกลไกความร่วมมือทางวิชาการเพื่อสนับสนุนกลไกในการดำเนินงานตามแนวทางการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง