7 เรื่องใหญ่ต้องรู้! เกี่ยวกับ "ขยะพลาสติก" ในมหาสมุทร 

7 เรื่องใหญ่ต้องรู้! เกี่ยวกับ "ขยะพลาสติก" ในมหาสมุทร 

เมื่อ "ขยะพลาสติก" ยังคงมีปริมาณมากในมหาสมุทรทั่วโลก ซึ่งเป็นตัวการทำให้ระบบนิเวศทางทะเลเสื่อมโทรม สัตว์ทะเลตายมากขึ้น เนื่องใน "วันทะเลโลก" 8 มิถุนายน ชวนทุกคนตระหนักถึงปัญหานี้และร่วมกันแก้ไขให้เร็วที่สุด

แม้หลายๆ ประเทศในโลกวันนี้จะส่งสัญญาณร่วมกันที่จะหันมาลดปริมาณการใช้พลาสติกมากขึ้น แต่ในทางกลับกัน มลพิษจากพลาสติกในมหาสมุทรกลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะจนถึงวันนี้ "ขยะพลาสติก" จากมือของเราก็ยังคงไหลไปลงก้นทะเลอยู่

นี่คือ 7 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ "ขยะพลาสติก" ในมหาสมุทร ที่คุณอาจเคยได้ยินมาก่อน แต่เราอยากย้ำให้ฟังอีกครั้ง 

สหรัฐต้องการยุทธศาสตร์ระดับชาติ เพื่อจัดการปัญหา "ขยะพลาสติก" ในมหาสมุทร

สถาบันวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และการแพทย์แห่งชาติ ได้เรียกร้องให้มียุทธศาสตร์ระดับชาติภายในสิ้นปีนี้ เพื่อลดมลภาวะทางทะเลจากพลาสติก รายงานระบุว่า สถานการณ์จากทั่วโลก มีขยะพลาสติกขนาดเท่ารถบรรทุกขยะ ถูกทิ้งลงทะเลในทุกๆ นาที โดยมี สหรัฐอเมริกาในลิสต์รายชื่อของผู้ก่อมลพิษพลาสติกอันดับต้นๆ ของโลก

28 ปีจากนี้ ขยะพลาสติกในมหาสมุทรจะเพิ่มขึ้น 4 เท่า

มีผลการศึกษาใหม่ที่ได้รับการเผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้พบว่า ภายในปี 2050 ขยะพลาสติกในทะเล จะมีการเติบโตอย่างรวดเร็วจนเราคาดไม่ถึง อีก 28 ปีจากนี้ มีการคาดคะเนว่า ปริมาณพลาสติกในมหาสมุทรจะเพิ่มเป็น 4 เท่า เหตุการณ์นี้จะยิ่งเร่งอัตราการสูญพันธุ์ของสัตว์ทะเลกว่า 1,000 สายพันธุ์ ให้ยิ่งหมดไปเร็วขึ้นไม่ว่าจะเป็น เต่าทะเล โลมา หรือแมวน้ำ ก็อยู่ในข่ายนี้ 

แพขยะทะเลที่ลอยอยู่ในมหาสมุทรทั่วโลก แบ่งออกเป็น 5 โซน 

จากนอกชายฝั่งตะวันตกของอเมริกาเหนือ ระหว่างแคลิฟอร์เนียและฮาวาย เป็นพื้นที่ของมหาสมุทรที่สร้างกระแสน้ำวน ซึ่งรวบรวมพลาสติกจากมหาสมุทร ไมโครพลาสติก และเศษขยะเอาไว้ด้วยกัน กลายเป็น "แพขยะทะเล" ขนาดใหญ่ ที่รู้จักกันในชื่อของ Great Pacific Garbage Patch หรือ GPGP

แต่จินตนาการออกไหมว่า ในแต่ละโซนกระแสน้ำวนที่มีอยู่อีก 4 แห่งนั้นจะมีปริมาณขยะมากขนาดไหน เมื่อลำพังแค่ GPGP ก็มีขนาดใหญ่กว่ารัฐเท็กซัสถึง 2 เท่าแล้ว 

เหนือกว่าขยะพลาสติกในทะเล คือ "ไมโครพลาสติก"

รายงานจากมหาวิทยาลัยบาเซโลน่า (University of Autonoma de Barcelona) ระบุว่า เราประเมินปริมาณไมโครพลาสติก หรือ พลาสติกจิ๋ว ในทะเลต่ำเกินไป เนื่องจากตัวอย่างส่วนใหญ่ถ่ายในพื้นที่ชายฝั่งทะเล ไม่ใช่ในทะเลเปิด ข้อมูลจึงไม่สะท้อนความเป็นจริงเท่าที่ควร

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงนั้น ไมโครพลาสติกมีความหนาแน่นและเข้มข้นมากในทะเล เข้มข้นขนาดที่เคยมีการศึกษาค้นพบพลาสติกจิ๋วแทรกซึมอยู่ในกระแสเลือดของคนเรามาแล้ว

 

 การนำกลับมาใช้ใหม่ คือหนึ่งในทางออกที่เป็นไปได้ ในการช่วยรักษามหาสมุทร

แม้แต่ประเทศที่มีเทคโนโลยีสูงอย่าง สหรัฐอเมริกาก็ยังมีอัตราการรีไซเคิลพลาสติกเพียง 5% เท่านั้น หากเราสามารถทำให้ตัวเลขนี้เติบโตขึ้นได้อีก อาจส่งผลต่อการลดปริมาณ "ขยะพลาสติก" ที่ไหลลงสู่ทะเลได้อย่างมหาศาล

เพราะเราต่างรู้ดีว่า การซื้อพลาสติกให้น้อยลงเป็นสิ่งสำคัญ แต่การนำพลาสติกที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ ก็สำคัญไม่ต่างกันเมื่อคิดถึงปริมาณพลาสติก 14 ล้านตันที่แออัดในมหาสมุทรในแต่ละปี นี่จึงเป็นอีกวิธีที่ทุกคนไม่อาจมองข้ามได้

พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เป็นสาเหตุสำคัญของมลพิษในมหาสมุทร

ไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เป็นสัดส่วนหลักของขยะพลาสติกในทะเล แน่นอนว่า เราหมายถึงถ้วย หลอด และถุงพลาสติก ที่เป็นตัวการสำคัญของปัญหาขยะทะเล ที่จัดการได้ยากอย่างยิ่ง

การลดปริมาณของพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง จึงเป็นสิ่งที่เราควรต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก รวมทั้งการหันมาเน้นใช้งานวัสดุอื่นๆ ที่ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ทดแทนการใช้พลาสติก

อวนจับปลาที่ถูกทิ้ง หรือ "อวนผี" ยังเป็นอันตรายที่มองไม่เห็น

สาเหตุสำคัญประการหนึ่งของการเกิดพลาสติกในมหาสมุทร คือ อวนจับปลาที่ถูกทิ้ง ราว 10% ของขยะพลาสติกทั้งหมดที่พบในมหาสมุทร มาจากอุปกรณ์ตกปลาเชิงพาณิชย์ และของใช้ส่วนตัว

จากข้อมูลของ WWF (World Wide Fund for Nature) พบว่า อุปกรณ์ตกปลาเหล่านี้ถูกทิ้งไว้ในมหาสมุทรมากกว่า 1 ล้านตันทุกปี แน่นอนว่า เกือบครึ่งหนึ่งของแพขยะแปซิฟิก ก็ประกอบไปด้วยอวนผีเหล่านี้นี่เอง

--------------------------------------

อ้างอิง : recyclecoach