20 จ.ฉีดวัคซีนโควิด19 เข็มกระตุ้นเกิน 60 % แต่เขตฯ12 ใต้ตอนล่างฉีดได้ต่ำสุด

20 จ.ฉีดวัคซีนโควิด19 เข็มกระตุ้นเกิน 60 % แต่เขตฯ12 ใต้ตอนล่างฉีดได้ต่ำสุด

เปิดข้อมูลฉีดวัคซีนโควิด19  พบ 20 จังหวัดฉีดเข็มกระตุ้นได้มากกว่า 60 % ส่วนเขตสุขภาพที่ 12 ภาคใต้ตอนล่าง ฉีดได้ต่ำที่สุด  เข็มกระตุ้นกลุ่ม608 ได้ไม่ถึง 20%  ย้ำกระจายวัคซีนถึงรพ.สต.แล้ว  ช่วยประชาชนเข้าถึงบริการสะดวกมากขึ้น 

     เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงข่าวสถานการณ์โควิด 19 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า  หลายประเทศเริ่มไม่รายงานผู้ติดเชื้อใหม่แล้ว เริ่มมีตัวเลขศูนย์รายงานกัน แต่สำหรับไทยยังรายงานและให้ความสำคัญกับผู้เสียชีวิต ผู้มีอาการหนัก ผู้รักษาในรพ. เป็นสำคัญ ส่วนตัวเลขติดเชื้อต้องเรียนว่าส่วนใหญ่ปัจจุบันเป็นการติดเชื้อแล้วอาการไม่มาก จึงใช้ระบบแบบผู้ป่วยนอก(OPD) จะปรับตามสถานการณ์

     รายงานผู้เสียชีวิตรายใหม่วันนี้มี 27 ราย แนวโน้มเฉลี่ย 14 วันพบว่าค่อยๆ ลดลง แนวโน้มจะลดลงต่ออีกระยะหนึ่ง อัตราป่วยตายลดต่ำลงอยู่ที่ 0.09% ขณะที่ผู้อาการหนักที่ใช้เกณฑ์จากอาการปอดอักเสบ มี 761 ราย แนวโน้มลดลงเรื่อยๆ จากสัปดาห์ก่อนที่พบพันรายก็ลดลงเหลือ 700 ราย ส่วนผู้ที่ใช้ท่อช่วยหายใจ มี 375 ราย จากที่เคยพบสูงสุดในระลอกโอมิครอนอยู่ที่พันกว่าราย ฉะนั้นภาพรวมของประเทศไทยกสถานการณ์ผู้ติดเชื้อ ป่วยหนัก เสียชีวิต มีแนวโน้มลดลง สอดคล้องกับข้อบ่งชี้ เช่น การรักษาใน รพ. ที่เตียงไอซียู เตียงอาการหนักใช้เพียง 10% ทำให้ระบบสาธารณสุขเริ่มกลับไปให้บริการผู้ป่วยโรคอื่นตามปกติ

       ผู้เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 20-30 รายต่อวัน ปัจจัยสำคัญมาจาก 1.ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่เห็นชัดจะอยู่ในกลุ่ม 70 ปีขึ้นไป 2.ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง ซึ่งใน 2 ปัจจัยนี้เป็นกลุ่ม 608 ที่มีสัดส่วนเสียชีวิตสูงอย่างวันนี้รายงาน 27 ราย มี 26 รายที่อยู่ในกลุ่ม 608 คิดเป็น 96% และ 3.ส่วนใหญ่ไม่ได้วัคซีน สูงถึง 59% ไม่ได้รับเข็มกระตุ้น 30% ซึ่งสอดคล้องกับการวิเคราะห์ตัวเลขมาตลอด เราจึงพยายามลดการสูญเสียชีวิตด้วยการเร่งฉีดวัคซีนร่วมมาตรการอื่นที่จำเป็น โดยที่ประชุมอีโอซี ได้เห็นชอบแผนเร่งรัดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อลดดอาการป่วยหนักและรุนแรงถึงกว่า 30% โดยเฉพาะช่วงต่อไปที่จะเปิดประเทศ เปิดกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น

“ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.ที่อนุญาตให้สถานบันเทิง ผับบาร์ คาราโอเกะเปิดให้บริการ ยังไม่พบแนวโน้มผู้ติดเชื้อมากขึ้น ซึ่งต้องติดตามอีก 1-2 สัปดาห์ จึงจะบอกได้ชัดเจนว่า การเปิดสถานบันเทิงไม่มีผลกระทบต่อจำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้มีอาการหนักมากนัก” นพ.โอภาสกล่าว

     นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า สำหรับรายงานข้อมูลการฉีดวัคซีนโควิด 19 เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2565 ฉีดสะสมแล้วกว่า 138 ล้านโดส เข็มที่ 1 ฉีดแล้ว 56 ล้านโดส คิดเป็น 81.7%  เข็มที่ 2 ฉีด 52 ล้านโดสคิดเป็น 75.9% และเข็มกระตุ้น(เข็ม3ขึ้นไป) ฉีด 28 ล้านโดสคิดเป็น 41.1% ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้เพื่อเปิดกิจการต่างให้ปลอดภัยคือต้องฉีดเข็มกระตุ้นคือเข็ม 3ขึ้นไป อย่างน้อยได้ 60% ซึ่งเป็นเหตุผลที่ต้องเร่งรัดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมายอีก 15-20 ล้านโดส

       อย่างไรก็ตาม มี 20 จังหวัดที่ฉีดเข็มกระตุ้นมากกว่า 60% มี 20 จังหวัด คือ ภูเก็ต นนทบุรี สมุทรปราการ กรุงเทพฯ อยุธยา น่าน สระบุรี ลำพูน ระยอง นครนายก ฉะเชิงเทรา อ่างทอง สิงบุรี ชัยนาท ยโสธร สมุทรสงคราม ชลบุรี ลพบุรี มหาสารคาม และนครปฐม

    นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า  ผู้ที่ยังไม่มั่นใจเรื่องการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น  ต้องเรียนว่าองค์การอนามัยโลก(WHO) มีคำแนะนำให้ฉีดเข็มกระตุ้นในทุกสูตร ซึ่งคำแนะนำของไทยคือผู้อายุ 12 ปีขึ้นไป สามารถรับเข็ม 3 และ 4 ได้ โดยคนที่รับเข็ม 2 เกิน 3 เดือนให้รับเข็ม 3 ส่วนคนที่รับเข็ม 3 แล้ว โดยเฉพาะกลุ่ม 608 เมื่อครบ 3 เดือนให้ฉีดเข็ม 4 ส่วนคนทั่วไปให้ฉีดหลังจากครบ 4 เดือน ซึ่งข้อมูลประสิทธิภาพวัคซีน พบว่าเข็ม 4 ป้องกันติดเชื้อ76% ลดการเสียชีวิตได้ 96% แต่ทั้งเข็ม 3 และเข็ม 4 สามารถลดการเสียชีวิตได้ดีมากระดับ 90กว่า %

         ที่ผ่านมา สธ.และศบค.มีกลไกการจัดหาวัคซีนโควิด ทั้งชนิด ปริมาณ จำนวน และกลุ่มเป้าหมายในการฉีด ผ่านคณะกรรมการหลายชุด เช่น คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ศปก.สธ. และ ศบค.ที่เป็นผู้อนุมัติ โดยแผนของปี 2564 จัดซื้อทั้งหมด 121 ล้านโดส ฉีดได้ 104.4 ล้านโดส แผนของปี 2565 จัดซื้อ 120 ล้านโดส มีการอนุมัติจากศบค.และลงนามซื้อแล้ว 90 ล้านโดส ส่งมอบ 36 ล้านโดส ฉีดแล้ว 34 ล้านโดส ทั้งนี้ วัคซีนส่วนหนึ่งได้มาจากการรับบริจาควัคซีน เช่น ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม แอสตร้าเซเนกา ไฟเซอร์ โมเดอร์นา และโคโวแว็กซ์ รวมทั้งหมด 13 ล้านโดส ขณะเดียวกันไทยเริ่มบริจาคให้ประเทศขาดแคลน เช่น ประเทศแถบแอฟริกา

    “ที่คนอยากทราบคือ ต้องฉีดทุกปีหรือไม่ จึงต้องเรียนว่า อยู่ในแผนที่ดำเนินการแล้ว แต่จะฉีดทุกปีเหมือนไข้หวัดใหญ่หรือไม่ ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลที่บอกได้ชัด แต่อย่างน้อยมีแผนเตรียมการแล้ว เช่นปี 2565 ที่จัดซื้อ 120 ล้านโดส ตอนนี้นำเข้ามา 36 ล้านโดส ฉะนั้นส่วนที่เหลือจะสำรองไว้ปีหน้า ถ้าจำเป็นต้องฉีดเข็มกระตุ้นทุกปี” นพ.โอภาสกล่าว

20 จ.ฉีดวัคซีนโควิด19 เข็มกระตุ้นเกิน 60 % แต่เขตฯ12 ใต้ตอนล่างฉีดได้ต่ำสุด

       นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า เทียบตัวเลขง่ายๆ คนไทย 70 ล้านคน ฉีดคนละ 2 โดส รวมเป็น 140 ล้านโดส ซึ่งตอนนี้ฉีดสะสมได้ 138 ล้านโดส แต่หากต้องฉีด 3 เข็มก็รวมเป็น 210 ล้านโดส ซึ่งเรามีสัญญาการส่งมอบในมือ หากจำเป็นหาวัคซีนเพิ่มเติม ก็มีแหล่งวัคซีนให้เหมาะสมกับคนไทย แต่ปัญหาคือ ประชาชนเริ่มไม่อยากรับวัคซีน ด้วยสาเหตุคือ 1.กังวล กลัวผลข้างเคียง 2.คิดว่ารับ 2 เข็มเพียงพอแล้ว แต่ข้อมูลจะเห็นว่ายังไม่เพียงพอโดยเฉพาะกลุ่มสูงอายุ

        3.คิดว่าโควิดสายพันธุ์ใหม่ไม่รุนแรง ไม่จำเป็นต้องรับวัคซีน ซึ่งมีความจริงส่วนหนึ่ง แต่ความหมายไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ดังเดิม แต่หากไม่รับวัคซีนก็เสียชีวิตได้เหมือนกัน 4.กังวลผลข้างเคียงระยะยาวกรณีรับวัคซีน mRNA ส่วนนี้ต้องรับว่าวัคซีนใหม่ แม้มีประสิทธิภาพดูเหมือนสูงกว่าตัวอื่น แต่ยังไม่มีใครบอกผลข้างเคียงระยะยาวได้ แต่เชื่อว่า ไม่มีผลมากนัก และมีคนรับวัคซีนไปมากแล้ว แต่หากยังกังวลก็มีวัคซีนชนิดอื่นให้เลือกฉีดได้ และ 5.เดินทางมารับวัคซีนลำบาก เราจึงกระจายวัคซีนไปใกล้บ้านตั้งแต่ รพ.สต. รพ.ชุมชน รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป ศูนย์วัคซีนฯ อื่นๆ

      “กลยุทธ์ที่จะทำให้ประชาชนรับวัคซีนมากขึ้น จะเน้นย้ำในแผนของแต่ละจังหวัดว่ายังขาดวัคซีนเข็มกระตุ้นเท่าไหร่ ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่คนรับวัคซีนครบจะอยู่ในอำเภอเมือง คนอภเภอห่างไกลยังฉีดค่อนข้างน้อย บางอำเภอฉีดเข็ม 3 ไม่ถึง 10% ซึ่งหวังว่าเราจะร่วมใจกันเพื่อให้เราเปิดกิจการต่างๆ ได้อย่างมั่นใจและปลอดภัย” นพ.โอภาสกล่าว

      ด้าน นพ.สุเทพ เพชรมาก หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 กว่า 81.67% แต่ในจำนวนมีผู้สูงอายุ 2 ล้านคนและเด็ก 5 – 11 ปี เป้าหมาย 5 ล้านคน ขณะนี้มีอีก 2 ล้านคนยังไม่ได้รับเข็ม 1 ดังนั้นการเปิดกิจกรรมต่างๆ ได้ ต้องได้เข็ม 3 อย่างน้อย 60% โดยข้อมูลขณะนี้เราต้องเพิ่มเข็ม 1 อีก 9-10 ล้านโดส ต่อด้วยเข็ม 2 และเข็ม 3 ที่ต้องฉีดอีก 15 ล้านโดส ฉะนั้นเป้าหมายที่ต้องดำเนินการคือฉีดเพิ่มอย่างน้อย 30 ล้านโดส ทั้งนี้ สธ.กระจายวัคซีนไปที่ รพ.สต. พาวัคซีนไปหาแขนเพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น โดยเราขอความร่วมมือกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ขอให้ฉีดวัคซีนทุกวัน

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ข้อมูลการฉีดวัคซีนโควิด 19 แบ่งรายเขตสุขภาพทั้ง 13 เขต  พบว่า เขตสุขภาพที่ 12  ภาคใต้ตอนล่าง ประกอบด้วย จ.ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และยะลา  มียอดการฉีดวัคซีนได้ต่ำที่สุดทั้งในเข็มที่ 1 ,เข็มที่ 2 และเข็มกระตุ้น โดยฉีดเข็ม 1 ได้ 69.83 % เข็ม 2 ได้ 62.22  %เข็ม 3 ได้ 17.88 %  และเมื่อพิจารณาในส่วนของกลุ่มเป้าหมาย 608 ก็พบว่า ฉีดเข็มกระตุ้นได้ต่ำที่สุดเช่นกัน โดยฉีดเข็ม 3ได้ 21.47 %  โดยเขตฯที่ฉีดได้มากที่สุด คือ เขตสุขภาพที่ 13 กรุงเทพมหานคร  ฉีดเข็มกระตุ้นในกลุ่ม 608 ได้ 55.79 %