ดูแลตัวเองอย่างไร เมื่อเผชิญกับ อาการทาง "สุขภาพจิต" หลังติดโควิด

ดูแลตัวเองอย่างไร เมื่อเผชิญกับ อาการทาง "สุขภาพจิต" หลังติดโควิด

อาการด้าน "สุขภาพจิต" เป็นอีกหนึ่งอาการสำคัญ ของ "ลองโควิด" ที่พบหลัง "ติดโควิด-19" ซึ่งจะพบภาวะดังกล่าวในช่วงหลังติดโควิดไปแล้วเป็นเวลา 3 เดือน ดังนั้น จะมีวิธีการดูแลและสังเกตตัวเองอย่างไรเมื่อต้องเผชิญกับภาวะดังกล่าว

หลังจาก "ติดโควิด" และรักษาตัวจนหายเป็นปกติแล้วนั้น หลายๆ คนอาจจะต้องเผชิญกับปัญหาของ อาการลองโควิด (Long COVID) ที่เกิดขึ้นจากภาวะอักเสบที่ยังหลงเหลือ บางคนอาจมีอาการ ไอ, มีไข้, ปวดศีรษะ, การรับรู้กลิ่นหรือรสชาติลดลง, เจ็บหน้าอก หรือ หายใจได้ไม่เต็มที่ แตกต่างกันออกไปในแต่ละคน ซึ่งอาจจะมีอาการอยู่ที่ประมาณ 4 – 6 เดือน และไม่ใช้แค่เพียงอาการทางกายเท่านั้น ยังมีเรื่องของอาการทางด้าน “สุขภาพจิต” อีกด้วย 

 

3 กลุ่มอาการ สุขภาพจิต หลังติดโควิด

 

ข้อมูลจาก "หมอพร้อม" ได้อธิบายถึง กลุ่มอาการด้านสุขภาพจิตหลังติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งประกอบด้วย 3 กลุ่มอาการ ได้แก่ 

1. ภาวะนอนไม่หลับ เกิดหลังติดเชื้อโควิด-19 ไปแล้วเป็นเวลา 3 เดือน มีอาการอย่างน้อย 3 ครั้ง ต่อสัปดาห์ ติดต่อกันอย่างน้อย 3 เดือน ได้แก่ 

  • นอนหลับยาก ใช้เวลานานกว่า 20 นาที ถึงจะหลับ 
  • นอนหลับๆ ตื่นๆ หรือตื่นกลางดึก และหลับต่อยาก 

 

2. ภาวะวิตกกังวล เกิดหลังติดเชื้อโควิด-19 ไปแล้ว 3 เดือน โดยไม่มีสาเหตุมาจากโรคทางจิตเวช และโรคทางกาย ได้แก่ 

  • คิดฟุ้งซ่าน
  • สะดุ้งตกใจง่าย 
  • สมาธิหรือความจำแย่ลง 
  • ตื่นตัวตลอดเวลา หายใจไม่อิ่ม 
  • กลัวการติดเชื้อมากเกินปกติ 

 

3.ภาวะซึมเศร้า เกิดหลังติดเชื้อโควิด-19 ไปแล้ว 3 เดือน โดยไม่มีสาเหตุมาจากโรคทางจิตเวช และโรคทางกาย ได้แก่ 

  • มีอารมณ์เศร้า ขาดความสนใจในกิจกรรมที่เคยทำ 
  • พฤติกรรมการนอนเปลี่ยน นอนมากขึ้นหรือนอนไม่หลับ
  • ความอยากอาหารเปลี่ยนไป เบื่ออาหารหรืออยากอาหารมากขึ้น 
  • รู้สึกเหนื่อย ไม่มีเรี่ยวแรง หรือขาดสมาธิ 

 

ดูแลตัวเองอย่างไร เมื่อเผชิญกับ อาการทาง "สุขภาพจิต" หลังติดโควิด

 

การดูแลตัวเอง 

 

  • สำหรับแนวทางการดูแลตัวเอง มีดังนี้ 
  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และพักผ่อนให้เพียงพอ 
  • ฝึกการผ่อนคลาย เช่น ดูหนัง ฟังเพลง โยคะ ทำสมาธิ 
  • ฝึกการหายใจ เช่น หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกช้าๆ

 

พญ.เปี่ยมลาภ แสงสายัณห์ หัวหน้ากลุ่มงานอายุรศาสตร์ปอด สถาบันโรคทรวงอก เผยว่า การดูแลรักษาภาวะเครียด และปัญหาสุขภาพจิตในเบื้องต้น การออกกำลังกาย ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การกลับมาทำงานของร่างกายได้อย่างรวดเร็วและสมบูรณ์รวมถึงต้องอาศัยกำลังใจทั้งจากตนเอง และคนรอบข้าง ทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์เพื่อบรรเทาความเครียด ก็สามารถช่วยให้สุขภาพจิตที่ย่ำแย่จากภาวะลองโควิดให้ดีขึ้นได้

ทางด้าน โรงพยาบาลกรุงเทพ ได้แนะนำว่า หากมีความเครียดมาก ผิดปกติควรพบจิตแพทย์เพื่อประเมินและรักษาอย่างเหมาะสม หรือหากมีนัดสม่ำเสมออยู่แล้วในกรณีที่เคยพบแพทย์มาก่อน ก็ไม่ควรหยุดพบแพทย์ เพราะอาจนำไปสู่อาการรุนแรง และเป็นอันตรายได้

 

นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยติดโควิดแต่เริ่มรู้สึกว่ามีปัญหาด้านสุขภาพจิตเนื่องจากความตึงเครียดของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดนั้น ควรหมั่นสังเกตตัวเองว่าเข้าข่ายหรือไม่ เช่น

  • อารมณ์เปลี่ยนแปลง
  • แปรปรวน
  • กลัว
  • เครียด
  • กังวล
  • หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย
  • นอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท
  • หรือพฤติกรรมการกินผิดปกติ
  • บางรายกินไม่ลง
  • บางรายกินมากผิดปกติ

ควรปรึกษาจิตแพทย์เช่นเดียวกัน เพื่อที่จะได้รับการรักษาได้ทันท่วงที