จ่อปรับ "โควิด-19" เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง  เทียบเคียง “ไข้เลือดออก”

จ่อปรับ "โควิด-19" เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง  เทียบเคียง “ไข้เลือดออก”

ปัจจุบันประเทศไทยจัด “โรคโควิด-19”เป็นโรคติดต่ออันตรายลำดับที่ 14  แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลายมากขึ้น คณะกรรมการโรคติดต่ดแห่งชาติ เตรียมพิจารณาปรับเป็น “โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง” และเสนอศบค.ต่อไป  

       เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข แถลงภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ว่า  สถานการณ์โควิด-19ที่ถือเป็นวิกฤติสุขภาพโลก  โดยประเทศไทยสามารถรับมือกับการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี  มีการจัดการบริหาร ควบคุมโรคระบาด และสถานการณ์ได้อย่างดี มีความพร้อมเผชิญปัญหา สามารถปรับตัวรับสถานการณ์ที่เปลี่นแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งการให้ความร่วมมือของประชาชนทำให้สามารถประสบผลสำเร็จได้ การที่ประชาชนได้ปฏิบัติตามคำแนะนำต่างๆของการป้องกันควบคุมโรคตามแนวทางสธ. สามารถปรับวิถีชีวิตเป็นNew normal ได้มากยิ่งขึ้น และประชาชนรับวัคซีนจำนวนมาก ทำให้การแพร่ระบาดอยู่ในวงจำกัด
          “ขณะนี้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยคลี่คลายมาจนถึงจุดที่กรมควบคุมโรค และกระทรวงสาธารณสุขมีความมั่นใจว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้  จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงต่ำกว่า 5,000 รายต่อวัน ผู้เสียชีวิตลดลงต่ำกว่า 50 รายต่อวัน การฉีดวัคซีนโควิด-19 ฉีดไปแล้วกว่า 137 ล้านโดส และการฉีดเข็มกระตุ้นเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง”อนุทินกล่าว 

   ในการเตรียมความพร้อมเปลี่ยนผ่านโรคโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น 4 ด้าน คือ 1.มาตรการด้านสาธารณสุข เดินหน้า Universal Vaccination จะเร่งการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ได้มากกว่า 60% ปรับระบบเฝ้าระวังเน้นการระบาดเป็นกลุ่มก้อนและผู้ป่วยปอดอักเสบ ผ่อนคลายมาตรการสำหรับผู้เดินทางจากต่ประเทศ ปรับแนวทางการแยกกักผู้ป่วยและกักกันผู้สัมผัส

2.มาตรการด้านการแพทย์ ปรับแนวทางการดูแลรักษาเป็นแบบผู้ป่วยนอก เน้นดูแลผู้ป่วยโควิด-19ที่เสี่ยงอาการรุนแรง และมีอาการรุนแรง ผู้ป่วยภาวะ Long COVID ปรับมาตรการการดูแลรักษาผู้ป่วยทั่วไป 
          3.มาตรการด้านกฎหมาย สังคมและองค์กร โดยบริหารจัดการด้านกฎหมายเพื่อลดความสูญเสียและเพิ่มประสิทธิภาพระบบสาธารณสุข ซึ่งคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติจะพิจารณาเสนอให้ปรับโรคโควิด 19 จากโรคติดต่ออันตราย เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง, ผ่อนคลายมาตรการทางสังคม ลดการจำกัดการเดินทางและการรวมตัวของคนหมู่มาก เน้นมาตรการ COVID Free Setting  

และ 4.มาตรการด้านการสื่อสาร ทุกภาคส่วนร่วมการสร้างความรู้ความเข้าใจและพฤติกรรมให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตร่วมกับโควิดได้ (Living with COVID) และสื่อสารประชาสัมพันธ์เชิงรุกอย่างครอบคลุมให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง และสน้างความร่วมมือของประชาชนในแต่ละช่วงเวลา

   การบริการของรพ. ในส่วนของผู้ป่วยทั่วไปและไม่ใช่ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง การเข้ารับการรักษาทั้งแบบผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ไม่ต้องตรวจโควิด-19 คนเข้าใกล้ไม่ต้องตรวจATK ญาติสามารถเยี่ยมได้สะดวกมากขึ้น  จะมีการตรวจATK หรือ RT-PCR ในผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัด หรือรับการตรวจรักษาที่อาจมีการแพร่กระจายเชื้อในอากาศและผู้ป่วยฉุกเฉินตามความเหมาะสม เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ป่วยอื่นและบุคลากรทางการแพทย์

      “จากนี้เป็นต้นไปการบริการรพ.จะกลับคืนสู่สภาวะปกติพร้อมการป้องกันการติดเชื้อของโรคเดินหายใจที่ดีขึ้น  และหากเกิดระบาดโรคระบบทางเดินหายใจ สธ.มีความพร้อมทั้งบุคลากร เตียง เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ป้องกันอย่างเพียงพอ และคงเครือข่ายบริการสุขภาพที่พร้อมรับมือกับสถานการณ์” อนุทินกล่าว 

       ระยะต่อไปที่โควิด-19 จะเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ จะมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ เสนอให้ปรับโรคโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตราย เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง โดยจะยังคงต้องเสนอนโยบายและแนวทางปฏิบัติต่างๆต่อที่ประชุมศบค. เพราะยังอยู่ภายใต้พรก.ฉุกเฉินอยู่ และในเรื่องของเชิงนโยบายว่าประกาศเป็นโรคประจำถิ่นหรือไม่อย่างไร ยังมีอีกหลายขั้นตอน และต้องนำเสนอให้ได้รับความเห็นชอบจากศบค.ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานต่อไป

    สิ่งที่ขอความร่วมมือจากประชาชนในช่วงของการเตรียมการเข้าสู่โรคประจำถิ่น  คือ ขอให้ยังคงปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค ใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างเท่าที่จำเป็นได้ มีการประเมินความเสี่ยงตามสถานการณ์แต่ละคน และขอให้เข้ารับวัคซีนเข็มแรกและเข็มกระตุ้น ซึ่งการได้รับเข็ม 3 ,เข็ม 4  ป้องกันการติดเชื้อได้ 76% ป้องกันอาการหนัก เสียชีวิตได้ 99 %
      อนุทิน กล่าวอีกว่า การจะประกาศเป็นโรคประจำถิ่นยังมีขั้นตอนอีกมากมาย การที่โควิด-19จะเป็นโรคประจำถิ่นได้  ต้องดูว่าองค์การอนามัยโลกหรือWHO มีความเห็นอย่างไร เพราะเป็นผู้ประกาศให้เป็นโรคระบาดใหญ่ทั่วโลก และเมื่อมีการระบาดอย่างรุนแรงช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ผ่านพรก.ฉุกเฉิน และตั้งศบค.ขึ้น ซึ่งกฎหมายต่างๆที่ใช้ในเรื่องการสาธาณณสุขไปขึ้นกับศบค.ภายใต้อำนาจนายกฯ สธ.ต้องรับนโยบายจากนายกฯ     
       ทั้งนี้  จะศึกษา ติดตามสถานการณ์จากการเปิดสถานบันเทิงประมาณ 2-3 สัปดาห์ดูว่ามีผลอย่างไร ซึ่งมั่นใจว่ามีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่การติดเชื้อปกติหรือไม่ ไม่ได้มีอาการหนักเพิ่มขึ้น กลุ่มที่เสี่ยง กลุ่มที่ป่วยยังอยู่ในกลุ่มเดิม ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ ยังสามารถดำรงชีวิตปกติได้ ไม่มีอาการหนัก หากเป็นไปตามนี้จึงจะนำเสนออีกครั้ง
      “ทุกวันนี้การปฏิบัติมาตรการประจำวัน ได้ผ่อนคลายมาตรการหลายอย่างแทบเป็นปกติแล้ว แม้แต่สิ่งที่ปิดมาเป็นปี อย่างสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ก็เปิดแล้ว  ซึ่งการเปิดเท่ากับว่าเดินเข้าไปอยู่ในโหมดของการเป็นโรคที่ไม่ติดต่อร้ายแรง จนจะต้องมีการล็อกดาวน์ หรือมาตรการคุมเข้มต่างๆ  ถ้าอยู่กับด้วยความเข้าใจและระมักระวัง เรื่องกฎหมายเป็นเรื่องรองทันที”อนุทินกล่าว 
      การถอดหรือใส่หน้ากากอนามัย อนุทิน กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่เคยเป็นข้อบังคับใดๆ แต่เป็นแนวทางในการปฏิบัติตนลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ แต่หลังจากได้รับความร่วมมือประชาชนมากมายในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันส่วนบุคคล มีส่วนช่วยในเรื่องลดการติดเชื้อและทำให้ตนเองมีความปลอดภัยมากขึ้น แม้วันนี้มีสถานการณ์ทึ่คลี่คลายลง การจะใส่หน้ากากอนามัยก็ไม่มีผลเสียอะไร ถ้าประเมินแล้วว่าในสถานที่ที่เราอยู่มีความสุ่มเสี่ยงอย่างไร ถ้าไม่มีความสุ่มเสี่ยง  ก็เปิดหน้ากาได้ แต่ถ้ารู้สึกว่าไม่ปลอดภัย   ใส่ได้ก็ใส่  ก็ประเมินตามสถานการณ์
     เรื่องการรักษา อนุทิน บอกว่า  ถ้าองค์การอนามัยโลกประกาศจากที่มีการสำรวจจำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิต ความรุนแรงโรค แล้วว่าทั่วโลกเป็นอย่างไร  และรัฐบาลไทยได้ใช้มาตรการที่ผ่อนคลายไปมากขนาดนี้แล้ว แต่ไม่เกิดความสูญเสียเพิ่มมากขึ้นจนเป็นนัยสำคัญจนเกิดอันตรายต่อประชาชน  ขั้นตอนต่อไปเมื่อสถานการณ์กลับเป็นปกติแล้ว ก็ต้องคืนภารกิจหน้าที่ไปตามหน่วยงานต่างๆ จะเกิดการยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน และประกาศให้โควิด-19เป็นโรคที่ไม่มีความรุนแรง แต่เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง เมื่อมีวัคซีนครบถ้วนแล้ว ก็จะเป็นโรคประจำถิ่น โรคปกติต่อไป

     “การดูแลรักษาประชาชนก็คงเป็นไปตามสิทธิ ต้องแยกแยะให้ถูกระหว่างที่เป็นโรคระบาดรุนแรง มีผลกระทบมาก รัฐบาลก็ให้การดูแลรักษา ฉีดวัคซีนให้ประชาชนทุกคน แต่เมื่อเป็นโรคปกติ ความุรนแรงลดลงไป ประชนมีภูมิคุ้มกันเต็มที่แล้ว ก็ต้องไปใช้วิธีการตามสิทธิหลักประกันสุขภาพที่ประชาชนแต่ละคนมีอยู่ ส่วนวัคซีนอาจจะเข้าไปเน้นในเฉพาะกลุ่มเสี่ยง อย่างการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้ประชาชนคนไทย  ที่ฉีดปีละราว 8 ล้านโดสก็เน้นที่กลุ่มเสี่ยง สถานการณ์คงจะโน้มนำไปทางแบบนี้”อนุทินกล่าว 
       ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) อธิบายว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีโรคติดต่อเฝ้าระวังหลายโรค อย่างเช่น โรคไข้เลือดออก  ซึ่งทราบว่ามีการระบาดตามฤดูกาลจากระบบเฝ้าระวัง เพราะฉะนั้น โรคต่างๆโดยหลักการจะต้องดำเนินการ 1.เฝ้าระวัง 2.ป้องกัน 3.ควบคุม และ4.การพัฒนา โดยจะมีระบบเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ของโรค และระบบรายงาน เพื่อประเมินวิเคราะห์ว่ากลุ่มเสี่ยงคือใคร จะต้องเข้าไปดำเนินการควบคุมอย่างไร ต้องมีมาตรการใดเพิ่มเติมหรือไม่  
      “กรณีมีการติดเชื้อมากๆก็มีทีมเข้าไปสอบสวนโรค หากมีการระบาดมากก็ประกาศเป็นโรคระบาด หรือผู้ว่าราชการจังหวัดอาจจะประกาศมาตรการต่างๆ  อย่างเช่น ไข้เลือดออก พื้นที่ไหนระบาดมาก บางครั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ก็ประกาศเป็นสาธารณภัย ก็จะมีกฎหมายให้อำนาจหน้าที่เข้าไปดำเนินการ”นพ.โอภาสกล่าว