เปิดผับบาร์-เลิกตรวจATK ประชาชนวินิจฉัย"ใส่แมสก์”

เปิดผับบาร์-เลิกตรวจATK  ประชาชนวินิจฉัย"ใส่แมสก์”

ประเทศไทยจะมีการปรับระบบรายงานสถานการณ์โควิด-19 ให้เข้ากับสถานการณ์เข้าสู่การผ่อนคลายมากขึ้น ให้เปิดผับบาร์ ทำตามมาตรการ COVID Free Setting นอกจากนี้จะมีการปรับแนวทางการตรวจ ATK

วันที่ 1 มิ.ย.นี้ ประเทศไทยจะมีการปรับระบบรายงานสถานการณ์โควิด-19 ให้เข้ากับสถานการณ์เข้าสู่การผ่อนคลายมากขึ้น โดยจะรายงานสถานการณ์จากฐานผู้ป่วยเป็นหลัก ไม่ใช่ฐานผู้ติดเชื้อ เพื่อเข้าสู่ระบบเฝ้าระวังในโรคที่ความรุนแรงลดลงแล้ว โดยจากนี้ไปจะปรับจากการรายงานผู้ติดเชื้อรายวันเป็นรายงานเฉพาะผู้ป่วยรายวันแบบเฉลี่ย 7 วัน เน้นผู้ป่วยที่มีอาการเข้ารับการรักษาในระบบของรพ.ทั้งแบบผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก ซึ่งผู้ป่วยปอดอักเสบ ใส่เครื่องช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิตลดลงต่อเนื่องอัตราการครองเตียงระดับ 2 และ 3 ปัจจุบันอยู่ที่ 12.8%

ขณะเดียวกันสัปดาห์นี้จะพิจารณาการปรับลดระดับเตือนภัยโควิด-19 จากระดับ 3 มาเป็นระดับ 2 ซึ่งอาจจะเป็นบางจังหวัดหรือทั้งประเทศ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาไปตามสถานการณ์ เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่จะผ่อนคลายมากขึ้นที่จะมีการเปิดผับบาร์ใน 31 จังหวัด ตามที่ศบค.มีมติให้เปิดผับบาร์ที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม.อนุญาตถึงเที่ยงคืนเริ่มวันที่ 1 มิ.ย.นี้ พนักงานต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ทำตามมาตรการ COVID Free Setting พนักงานตรวจ ATK ประจำสัปดาห์ จัดสิ่งแวดล้อมเพื่อลดความเสี่ยง

นอกจากนี้จะมีการปรับแนวทางการตรวจ ATK ในส่วนของประชาชนทั่วไป จะเน้นตรวจเฉพาะกลุ่มที่มีอาการป่วยเท่านั้น เช่น เมื่อมีอาการป่วย เช่น ไข้ ไอ น้ำมูกไหล เจ็บคอ หอบเหนื่อย เป็นต้น เพื่อจะได้นำเข้าระบบดูแลรักษาต่อไป ดังนั้นต่อไปบริษัทสถานประกอบการ จึงไม่ต้องตรวจประจำสัปดาห์แล้ว คนที่จะตรวจ ATK จะอยู่ในเกณฑ์ 4 กลุ่มดังต่อไปนี้

1.ตรวจ เมื่อมีข้อสงสัยว่าจะมีอาการป่วยว่าใช่หรือไม่ 

2,กลุ่มคนดูแล ใกล้ชิด ผู้สูงอายุและเด็กเล็กที่ไม่ได้ฉีดวีคซีน อาจจะจำเป็นต้องตรวจเพื่อความปลอดภัยของกลุ่มเสี่ยง

3.หากต้องไปในสถานที่และกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันของคนหมู่มาก

4.กรณีบุคคลสำคัญก็จำเป็นต้อง ATK เพื่อความปลอดภัย

อย่างไรก็ตามในอนาคตแม้ว่าเมื่อเปลี่ยนผ่าน “โรคโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น” แล้ว “การสวมหน้ากากอนามัย” ยังเป็นพฤติกรรมที่สำคัญและจำเป็นอยู่ เพราะเป็นมาตรการป้องกันส่วนบุคคลที่สามารถป้องกันการติดเชื้อ โดยเฉพาะในพื้นที่ปิด อับ และพื้นที่ที่มีการสัมผัสใกล้ชิด ป้องกันการระบาดและเพื่อกลับไปใช้ชีวิตปกติ ซึ่งหากจะมีการถอดหน้ากากจะพิจารณาในพื้นที่ที่มีความพร้อม ทั้งเรื่องการฉีดวัคซีนให้ได้ 60% ขึ้นไป อาจจะเริ่มในพื้นที่สีเขียว สีฟ้าที่พร้อม โดยพิจารณาเป็นรายพื้นที่ไม่ใช่ทุกจังหวัด และผ่อนคลายในพื้นที่โล่งแจ้งก่อน และหากสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดี ประชาชนคนไทยก็สามารถพิจารณาตัดสินใจได้ว่า จะ “ถอด” หรือ “ใส่” เพื่ออยู่ร่วมกับ “โควิด-19” ได้อย่างปลอดภัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดี