"วัคซีนป้องกันฝีดาษลิง" ไทยยังไม่จำเป็นต้องให้ทั่วไป

"วัคซีนป้องกันฝีดาษลิง" ไทยยังไม่จำเป็นต้องให้ทั่วไป

5 องค์กรวิชาชีพแพทย์ระบุประชาชนทั่วไปยังไม่จำเป็นต้องรีบหาวัคซีนป้องกัน “ฝีดาษลิง” ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯเผยวัคซีนมีความเสี่ยง คนภูมิคุ้มกันต่ำปลูกฝีอาจตายได้

      เมื่อวันที่ 26 พ.ค.2565  ศ.นพ.สมศักดิ์  โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า  ฝีดาษวานร(ฝีดาษลิง) ยังไม่พบผู้ป่วยในประเทศไทยและไม่เคยพบผู้ป่วยในไทยมาก่อน ปกติจะเจอผู้ป่วยในแอฟริกา แต่ตอนนี้ที่ทุกประเทศต้องกังวลและเพิ่มมาตรการเฝ้าระวัง เนื่องมีการระบาดในบางประเทศยุโรปและพบผู้ป่วยในหลายประเทศ ที่บอกว่าไม่ได้มีประวัติไปแอฟริกามาก่อน แสดงว่ามีการแพร่กระจายเชื้อในประเทศนั้น
     อย่างไรก็ตาม พบว่าผู้ป่วยยังมีประวัติเชื่อมโยงถึงการเข้าร่วมกิจกรรมหนึ่งที่มีการรวมกลุ่มของคนจำนวนมากและจากหลากหลายประเทศ และมีกิจกรรมที่สัมผัสใกล้ชิดกันมากๆจนทำให้ติดเชื้อในหลายประเทศ แต่ก็ยังเป็นการพบการแพร่เชื้อในวงจำกัดและเฉพาะกลุ่ม ซึ่งโรคนี้การติดเชื้อโดยหลักยังเป็นการต้องสัมผัสใกล้ชิดโดนสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ และแพร่ะเชื้อระยะที่มีอาการแล้ว เช่น มีตุ่ม หรือแผล ทำให้สังเกตได้ชัดเจน

      ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า  5 องค์กรวิชาชีพทางการแพทย์ออกหนังสือชี้แจงกรณี โรคฝีดาษวานร โดยระบุข้อหนึ่งว่า วัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ จะป้องกันโรคฝีดาษวานรได้ด้วย แต่ยังไม่มีความจำเป็นที่ประชาชนทั่วไปจะต้องเร่งรีบหาวัคซีนนี้ เนื่องจากโรคนี้ยังถือเป็นการระบาดในวงจำกัดอยู่ในต่างประเทศ และประเทศไทยไม่เคยพบการติดเชื้อนี้มาก่อน  ยังถือว่ามีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคไม่มาก การให้วัคซีนฝีดาษวัวที่ป้องกันฝีดาษคนและฝีดาษวานรได้ด้วย จึงยังไม่มีความจำเป็นต้องเร่งรีบในขณะนี้ และคนที่เคยได้รับวัคซีนนี้แล้ว ก็ยังสามารถป้องกันโรคได้อยู่ มีการศึกษาพบว่าผ่านไป 80 ปีภูมิคุ้มกันก็ยังใช้ป้องกันได้  
      ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า  วัคซีนนี้เป็นแบบเชื้อเป็น จึงมีความเสี่ยงมาก การให้ในคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ อาจทำให้เชื้อลามทั้งตัว และเสียชีวิตได้  โดยประเทศไทยหยุดการให้วัคซีนนี้ไปหลายสิบปีแล้ว เนื่องจากองค์การอนามัยโลกระบุว่าโรคนี้หมดไปในปี 2523 คนที่ได้รับการปลูกฝีแล้วยังสามารถป้องกันโรคได้ ส่วนคนที่ยังไม่ได้รับการปลูกนั้น จากการประเมินตอนนี้ที่ไม่มีการระบาด  การให้วัคซีนจึงยังมีความเสี่ยงกว่า แต่ถ้ามีการระบาดแน่นอนว่าอาจจำเป็น  ค่อยดูอีกครั้ง แต่ตอนนี้ยังเป็นการระบาดในต่างประเทศแบบวงจำกัด ประเทศไทยจึงยังไม่ได้มีความเสี่ยงต่อการระบาดมาก การให้วัคซีนจึงยังไม่มีความจำเป็น

   “ความเสี่ยงของประเทศไทยตอนนี้ ยังไม่ถึงขั้นต้องรีบให้วัคซีน เพราะตอนนี้ยังเป็นการระบาดอยู่ในวงจำกัดในต่างประเทศ ต้องติดตามว่าจะมีการระบาดมากขึ้นหรือไม่ อย่างไร  ซึ่งปัจจุบันคนกลัวเรื่องโรคระบาดมาก ทำให้เมื่อพบการติดเชื้อที่ผิดปกติก็จะมีการแจ้งเตือนเร็ว ทำให้แต่ละประเทศมีการเริ่มกลไกการรับมือ เฝ้าระวังได้เร็ว การจัดการปัญหาทำได้เร็ว ปัญหาก็น้อยลง” ศ.นพ.สมศักดิ์กล่าว
        ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2565 องค์กรวิชาชีพทางการแพทย์ ได้แก่ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย ออกประกาศคำชี้แจงเรื่องโรคฝีดาษวานร ระบุว่า
         ด้วยสถานการณ์ตามที่ปรากฎเป็นข่าวในสื่อมวลชนเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่ามีการระบาดของ โรคฝีดาษวานร (ฝีดาษลิง) ในประเทศอังกฤษ แคนาดา สหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศที่ไม่เคยเป็นแหล่งระบาดของโรคนี้มาก่อน ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าจะกลายเป็นโรคระบาดใหญ่ สร้างความเสียหายในหลายด้านคล้ายกับโควิด-19 นั้น องค์กรวิชาชีพทางการแพทย์ขอให้ข้อมูลเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าใจ ทราบวิธีปฏิบัติเพื่อความปลอดภัย และสามารถดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างปกติ ดังนี้ 

1. โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในสัตว์ฟันแทะที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอาฟริกา แล้วแพไปสู่สัตว์ชนิดอื่น ที่มีรายงานครั้งแรกคือการติดเชื้อในลิงที่เลี้ยงไว้เป็นสัตว์ทดลอง จึงเรียกว่า ผีดาษวานร หรือฝีดาษลิง สัตว์ตระกูลลิง ไม่ใช่แหล่งรังโรค และยังไม่มีรายงานการพบเชื้อนี้ในสัตว์ประเภทฟันแทะในประเทศไทย
 2. การติดเชื้อที่มีรายงานในอดีต มักเกิดในสัตว์เลี้ยง หรือคน ที่อยู่ใกล้ชิดกับสัตว์ฟันแทะ แต่การระบาดที่เกิดขึ้นขณะนี้ ยังไม่ทราบต้นตอที่แน่ชัด คาดว่าน่าจะมีความเชื่อมโยงกับสัตว์ป่าในทางใดทางหนึ่ง ยังต้องรอการสอบสวนโรคอีกระยะเวลาพอสมควรก่อนที่จะชี้ชัดได้ว่าการระบาดมีมาจากสาเหตุใด

3. การแพร่เชื้อจากผู้ป่วย อาจจะเริ่มตั้งแต่มีอาการไข้ และจะแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้มากที่สุดในช่วงระยะเวลาที่มีตุ่มน้ำตามตัว ซึ่งต่างจากโควิด- 19 ที่สามารถแพรได้แม้ผู้ติดเชื้อยังไม่มีอาการ ดังนั้น จึงสามารถหลีกเลี่ยงการสัมผัสโรคได้ง่ายกว่า

4. การระบาดในประเทศต่าง ( ยังไม่กว้างขวางมากถึงจุดที่จะต้องห้ามการเดินทางเข้ามาของคนจากประเทศนั้น ๆ อย่างไรก็ตาม หากพบนักเดินทางจากประเทศที่มีรายงานการพบโรค มีอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ แนะนำให้ไปรับการตรวจวินิจฉัยโดยเร็ว โดยเฉพาะผู้ที่มีผื่นและตุ่มน้ำใสตามแขนขาและใบหน้าหลังจากมีไข้แล้ว 2-3 วัน

5. ถ้ามีการติดเชื้อ ส่วนใหญ่จะหายได้เองโดยไม่ทิ้งร่องรอยใด ๆ ไว้ตามร่างกายหากไม่มีการติดเชื้อแทรกซ้อน ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ อาจมีอาการรุนแรง องค์การอนามัยโลกระบุว่าโรคนี้มีอัตราตายประมาณ 3.6%
   6. หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับนักเดินทางที่มีอาการตามข้อ 4 และมาจากประเทศที่มีรายงานการระบาด

7. การสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย และการล้างมือหลังการสัมผัสผู้ป่วย เป็นวิธีการที่ช่วยลดโอกาสการติดเชื้อได้ดี

8. หลีกเลี่ยงการนำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือบริโภค เพราะอาจนำเชื้อก่อโรคชนิดใหม่ ๆ รวมทั้งฝีดาษวานรมาติดและแพร่ระบาดได้

 และ 9.วัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ จะป้องกันโรคฝีดาษวานรได้ด้วย แต่เนื่องจากประเทศไทยหยุดฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษมาแล้วเกือบ 50 ปี ดังนั้นผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปี น่าจะมีภูมิคุ้มกันโรคนี้จากการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ แต่ผู้ที่อายุน้อยกว่าจะไม่มีภูมิคุ้มกัน แต่มีโอกาสที่โรคนี้จะแพร่ระบาดมาถึงประเทศไทยได้น้อย จึงยังไม่มีความจำเป็นที่ประชาชนทั่วไปจะต้องเร่งรีบหาวัคซีนนี้

\"วัคซีนป้องกันฝีดาษลิง\" ไทยยังไม่จำเป็นต้องให้ทั่วไป

\"วัคซีนป้องกันฝีดาษลิง\" ไทยยังไม่จำเป็นต้องให้ทั่วไป