“ฝีดาษลิง” ยังไม่พบในไทย แต่ "มาลาเรีย โนวไซ” ติดจากลิง และระบาดในไทยแล้ว

“ฝีดาษลิง” ยังไม่พบในไทย แต่ "มาลาเรีย โนวไซ” ติดจากลิง และระบาดในไทยแล้ว

รู้จัก “มาลาเรียโนวไซ” อีกหนึ่งโรคที่มี “ลิง” เป็นพาหะนำโรค ที่พบผู้ป่วยในไทย มีอาการอย่างไร เหมือน “ฝีดาษลิง” ที่กำลังเฝ้าระวังหรือไม่ ?

ฝีดาษลิง” เป็นโรคระบาดที่โลกกำลังจับตา ขณะที่ประเทศไทย แม้จะยังไม่พบผู้ป่วยในประเทศ แต่ก็จำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น ซึ่ง "กรมควบคุมโรค" โดยกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค ได้เริ่มให้บริการคัดกรองโรคฝีดาษลิงสำหรับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ และเน้นติดตามเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีความเสี่ยงสูง

ทั้งนี้ แม้จะมีชื่อว่า "โรคฝีดาษลิง" แต่ในความเป็นจริง โรคฝีดาษลิง ที่สามารถติดจากสัตว์สู่คน แต่ไม่ได้ติดจากลิงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังพบการติดเชื้อจากสัตว์พาหะอย่างสัตว์ตระกูล "สัตว์ฟันแทะ" อย่างหนูป่า กระรอก ที่สามารถแพร่เชื้อมาสู่คนได้ด้วย

ขณะที่ฝีดาษลิง ไม่จำเป็นต้องติดจากลิง แต่ทราบหรือไม่ว่า ในตอนนี้ ยังมีอีกหนึ่งโรคที่ติดได้จากลิง และกำลังระบาดในบางพื้นที่ของไทย นั่นคือ "มาลาเรียโนวไซ" ที่พบผู้ป่วยในไทยหลายสิบรายแล้วในตอนนี้

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" จะพาไปทำความรู้จัก “มาลาเรียโนวไซ” ว่าอาการเป็นอย่างไร เหมือน “ฝีดาษลิง” ที่กำลังเฝ้าระวังหรือไม่ ?

  •  “มาลาเรียโนวไซ” เกิดจากอะไร ? 

"มาลาเรียโนวไซ" เกิดจากเชื้อโปรโตซัว Plasmodium knowlesi ซึ่งเชื้อนี้มีอยู่ในลิง แต่สามารถติดต่อและทำให้เกิดโรคในคนได้ หลายคนอาจคิดว่า ชีวิตนี้ไม่ได้ใกล้ชิดลิงเลยไม่มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้

แต่ความจริงแล้ว ไข้มาลาเรียแพร่จากลิงสู่คนผ่าน “ยุงก้นปล่อง” อีกทอดหนึ่ง นั่นก็คือยุงที่ไปกัดลิงที่มีเชื้อ แล้วมากัดคนต่อ ทำให้ติดโรคได้นั่นเอง

สำหรับมาลาเรียชนิดโนวไซสามารถแบ่งตัวในร่างกายคนได้เร็วกว่าเชื้อมาลาเรียชนิดอื่นๆ โดยข้อมูลจากกรมควบคุมโรครายงานว่า ในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2564 – 31 มี.ค. 65 พบผู้ป่วยไข้มาลาเรียจากเชื้อชนิด “โนวไซ” แล้ว 70 ราย จังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ระนอง สงขลา และตราด

  •  อาการของโรคมาลาเรีย โนวไซ 

อาการของ "มาลาเรีย โนวไซ" จะมีอาการคล้ายไข้มาลาเรีย รวมถึงคล้ายกับโรคที่พบบ่อยในประเทศไทยอีกหลายโรค เช่น ไข้เลือดออก ไข้รากสาดใหญ่ (ซึ่งมีการรักษาแตกต่างกัน)

ดังนั้น หากท่านมี อาการไข้สูง ปวดศีรษะ หนาวสั่น เหงื่อออกมาก บวกกับมีประวัติกลับออกจากป่า หรือพื้นที่อยู่อาศัยของลิงที่เป็นโรค แล้วขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อเจาะเลือดตรวจหาเชื้อมาลาเรีย และแจ้งประวัติเข้าป่า เพื่อให้การรักษารวดเร็ว หากช้าอาจมีอาการแทรกซ้อนร้ายแรงและเสียชีวิตได้ ผู้ที่มีไข้ติดต่อเกิน 3 วันควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติม

  •  วิธีป้องกัน ไข้มาลาเรียโนวไซ 

สำหรับคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรือทำงานในป่าหรือนักท่องเที่ยว ควรป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด โดยสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด ทายากันยุง และนอนในมุ้ง เพราะมาลาเรียโนวไซ คือโรคที่ติดต่อจากลิงที่มีเชื้อสู่คน โดยมียุงก้นปล่องเป็นพาหะนั่นเอง

------------------------------------

อ้างอิง: โรงพยาบาลเวชศาสตร์ เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล