พัฒนาระบบภาคีเครือข่ายอาชีพ ช่วยเด็กกระทำผิดกลับคืนสู่สังคม

พัฒนาระบบภาคีเครือข่ายอาชีพ ช่วยเด็กกระทำผิดกลับคืนสู่สังคม

“โอกาส” เป็นสิ่งที่ทุกคนต่างอยากได้ ยิ่งในกลุ่มของเด็กและเยาวชนที่เคยกระทำผิดด้วยเหตุจำเป็นหลากหลาย การได้เดินกลับเข้ามาอยู่ในสังคม มาใช้ชีวิตอย่างคนปกติที่ไม่เคยต้องโทษย่อมเป็นสิ่งที่ทุกคนล้วนปรารถนา

“การพัฒนาระบบภาคีเครือข่ายอาชีพเพื่อรองรับการกลับคืนสู่สังคมของเด็กและเยาวชนที่เคยกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด” จัดทำโดยโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  เป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะช่วยให้น้องๆ ผู้ที่เคยก้าวผิดได้กลับเข้าสู่สังคม  ได้รับโอกาสมีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้ เลี้ยงดูตนเองและครอบครัว

วานนี้ (17 พ.ค.2565) โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ร่วมกับวช.จัดประชุมเผยแพร่ผลการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาระบบภาคีเครือข่ายอาชีพเพื่อ รองรับการกลับคืนสู่สังคมของเด็กและเยาวชนที่เคยกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด” โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมและร่วมแสดงเจตจำนงการส่งเสริมอาชีพแก่เด็กและเยาวชนจากภาคส่วนต่างๆ ไม่น้อยกว่า 200 คน

พันตำรวจตรี ดร.ปริญญา สีลานันท์ อาจารย์ (สบ2) คณะนิติวิทยาศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ/ หัวหน้าโครงการวิจัย รายงานผลการวิจัยด้านคุณสมบัติของเด็กและเยาวชนที่ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ ว่าโครงการวิจัยดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกระบวนการยุติธรรมเพื่อเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิด รวมถึงส่งเสริมภาคีเครือข่ายสถานประกอบการ เพิ่มโอกาสให้เด็กมีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้ที่เหมาะสมกลับเข้าไปสู่โอกาสทางสังคม และสร้างความตระหนักให้แก่เด็กและเยาวชนเกิดความมุ่นมั่นในการใช้ชีวิตเป็นคนดีพร้อมกลับสู่สังคมอย่างมีคุณภาพด้วยกายและใจที่แข็งแรง

“ผลการสำรวจความต้องการประกอบอาชีพของเด็กและเยาวชนเมื่อกลับคืนสู่สังคม จำนวน 307 คน พบว่า เด็กและเยาวชน ร้อยละ 54 มีความสนใจในการประกอบอาชีพอิสระเนื่องจากมีความคล่องตัวและชอบ
ความเป็นอิสระ รองลงมาร้อยละ 43 ยังต้องการเข้าทำงานกับสถานประกอบการเพราะมีความเสี่ยงน้อย
และมีรายได้ที่แน่นอน ส่วนความสนใจในอาชีพรับราชการมีเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น”
พันตำรวจตรี ดร.ปริญญา
กล่าว

 

  • รับรองความประพฤติช่วยเด็กหลงผิดกลับสู่สังคม

สำหรับทักษะที่ต้องเพิ่มเติมให้แก่เด็กต้องเพิ่มทั้งด้าน Hard Skill และ Soft Skill ส่วนเครือข่ายผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมีไม่น้อยกว่า 25 แห่ง ที่พร้อมสนับสนุนทางอาชีพแก่เด็กและเยาวชนทั้งให้ความรู้ รับเข้าฝึกงาน และรับทำงาน

ทั้งนี้ งานวิจัยได้มีข้อเสนอว่า ในการจะทำให้เด็กและเยาวชนที่กระทำผิดกลับเข้าสู่สังคม มีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้นั้น กรมพินิจฯ จะต้องรับรองความประพฤติและมีการกำกับติดตามอย่างต่อเนื่อง ส่วนตัวเด็กและเยาวชนจะต้องมี Soft Skill ด้านความซื่อสัตย์ มีความขยัน อดทน เห็นคุณค่าในตนเอง และมีทัศนคติที่ดีต่อสังคมรอบข้าง สำหรับ Hard Skill ขอเพียงมีพื้นฐานในเบื้องต้นก็เพียงพอ เพราะทักษะระดับสูงจะสามารถเรียนรู้ได้จากการทำงานจริง

“ช่องว่างในการแก้ไขปัญหาแก่เด็ก ไม่ใช่เรื่องกฎหมาย หรือดูแลเพียงอย่างเดียว แต่พวกเขาต้องการโอกาส ต้องการยอมรับจากผู้อื่น การสร้างโอกาสให้เขาจำเป็นต้องสร้างภาคีเครือข่ายผู้ประกอบการ ให้เด็กได้รับการฝึกอบรมทักษะอาชีพ และอื่นๆ เพราะจริงๆ แล้วพวกเขามีความสามารถที่จะให้สังคมยอมรับได้ โครงการนี้จะทำหน้าที่แสวงหาความสามารถของเด็กที่สอดคล้องกับผู้ประกอบการ ให้ผู้ประกอบการและเด็กได้เจอกัน”พันตำรวจตรี ดร.ปริญญา กล่าว

เด็กและเยาวชนร้อยละ 40 จะกระทำผิดซ้ำเนื่องจากเมื่อเขาได้รับการปล่อยตัวสู่สังคม เขาไม่มีงานทำ ไม่มีอาชีพ ไม่มีรายได้ ก็ต้องกลับไปผัวพันกับยาเสพติด เพราะเคยทำมาแล้ว ดังนั้น การหาเครือข่ายอาชีพให้แก่พวกเขา มีความจำเป็นอย่างมาก เป็นการสร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้พวกเขาไม่กลับไปยุ่งกับยาเสพติดอีก

 

  • เด็กและเยาวชนไทยติดคดียาเสพติดมากที่สุด

ด้าน ศ.พลตำรวจตรีหญิง ดร.พัชรา สินลอยมา ที่ปรึกษาคณะตำรวจศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ/ผู้บริหารจัดการโครงการวิจัย กล่าวว่าเด็กและเยาวชน ถือเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ดังนั้น กระบวนการฟื้นฟู และเพิ่มศักยภาพของเด็กเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องบูรณาการร่วมกัน โดยเฉพาะในเรื่องการพัฒนาอาชีพ การสร้างบุคลิกภาพที่เหมาะสมตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ เพื่อเพิ่มโอกาสมีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้ เลี้ยงดูตนเองและครอบครัว ไม่ได้กระทำผิดซ้ำ

“การส่งเสริมพัฒนาอาชีพ ฟื้นฟูศักยภาพเด็กภายใต้ความร่วมมือกับสถานประกอบการ ให้เด็กได้อยู่ในโปรแกรมฝึกอาชีพจากสถานที่จริง สภาพแวดล้อมจริง และอยู่ภายใต้การควบคุมน้อยที่สุดซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขให้แก่เด็ก รวมถึงต้องสร้างความเข้าใจแก่สังคม ผู้ประกอบการในการฟื้นฟูเด็กและเยาวชน ผลักดันให้เกิดโอกาสอย่างมีคุณภาพ” ศ.พลตำรวจตรีหญิง ดร.พัชรา กล่าว

โครงการดังกล่าว เป็นความร่วมมือที่เกิดจากการมองปัญหาของเด็กและเยาวชน ซึ่งปัจจุบันเด็กและเยาวชนกระทำผิดคดียาเสพติดมากที่สุด และการที่พวกเขาต้องโทษอยู่ในสถานพินิจบางครั้งอาจทำให้เขาไม่ได้รับโอกาสในการเรียนหนังสืออย่างคนอื่น ทำให้เมื่อเขาถูกปล่อยตัวไม่ได้มีงานทำ หรืออาชีพที่มั่นคง โครงการดังกล่าวจะเกิดขึ้น และได้นำเสนอแผนงานให้แก่วช.เพื่อสนับสนุนการดำเนินการ

ศ.พลตำรวจตรีหญิง ดร.พัชรา กล่าวต่อว่า สาเหตุเยาวชนที่กระทำผิดยาเสพติด คือ ต้องการเงินมาใช้จ่ายในชีวิต และหาเงินเรียน การที่ทำให้เด็กมีอาชีพหลังฝึกอบรม ทักษะตามที่ผู้ประกอบการต้องการร่วมกับหน่วยงาน และภาคเอกชน ฉะนั้น การร่วมมือกับภาคเอกชนมีหน้าที่ประสานกับเครือข่ายที่ต้องการพัฒนาประเทศให้เด็กกลับไปมีคุณภาพ สามารถประกอบอาชีพได้

“งานวิจัยเป็นการสำรวจความต้องการ ว่าสาขาไหนที่ขาดแคลน เช่น สาขาช่างเชื่อม การตรวจคุณภาพรถ ต้องการอาชีพอิสระ การขายออนไลน์ เขาต้องการบุคลากรมากกว่า 1,000 คน ซึ่งตรงกับความต้องการของเด็ก และสถานประกอบการร่วมด้วย” ศ.พลตำรวจตรีหญิง ดร.พัชรา กล่าว

  • ต้องทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการให้รู้คุณค่าเด็ก

ตอนนี้มีเด็กที่อบรมไปแล้ว 300 กว่าคน และภาคอุตสาหกรรม ต้องการเด็กซื่อสัตย์ มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ความปลอดภัย ความขยัน และอดทน ทั้งนี้ จะมีการประชาสัมพันธ์แก่ภาคเอกชน รวมถึงจะมีการดูแลเด็กก่อนขึ้นศาล และเด็กกลุ่มเสี่ยงในชุมชน โดยทางกรมฯ จะมีบัดดี้ พี่เลี้ยงจิตอาสาควรช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ เพื่อให้เด็กมีคุณภาพ

ศ.พลตำรวจตรีหญิง ดร.พัชรา กล่าวต่อไปว่าการเปลี่ยนแปลงคน ไม่ว่าจะนิสัย หรือความคิดไม่ใช่เรื่องง่าน การทำให้ผู้ประกอบการมั่นใจ ต้องมีการสอดแทรกสอนแบบเพื่อนแก่เด็ก ส่วนด้านผู้ประกอบการจะเน้นทำความเข้าใจ ทำให้ผู้ประกอบการรู้ว่าเด็กมีคุณค่า ซึ่งเด็กกลุ่มนี้มีพรสวรรค์แต่เขาจะได้รับโอกาสหรือไม่ โครงการนี้เป็นการเปิดโอกาสให้แก่เด็กกลุ่มนี้อย่างแท้จริง

“เรียนตลาดออนไลน์ เกม ยูทูปเบอร์ รวมถึงสักลาย”เป็นอาชีพที่เด็กสนใจมาก ผลสำเร็จของการดำเนินโครงการก่อให้เกิดเครือข่ายสถานประกอบการในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ และมีเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน 6 แห่ง จำนวนรวมไม่น้อยกว่า 300 คน ซึ่งหากการดำเนินงานมีการต่อยอดความร่วมมือในระยะยาว เชื่อได้ว่าจะมีเด็กและเยาวชนเข้าสู่ตลาดอาชีพไม่น้อยกว่า 150 คนต่อปี

นอกจากนี้ เด็กและเยาวชนค่อนข้างให้ความสนใจกับการประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งในปัจจุบันมีอาชีพใหม่ๆ ที่สามารถสร้างรายได้โดยที่ไม่ต้องเผชิญหน้ากับผู้คน เช่น การรีวิวสินค้า การขายของออนไลน์ การทำคอนเทนต์ในห้องเกมออนไลน์ (Streaming) การสักลายแฟชั่น เป็นต้น

ผู้ใหญ่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องบูรณาการความร่วมมือในการสนับสนุนโอกาสและการชี้นำแนวทางที่เหมาะสม เพื่อให้เด็กและเยาวชนเหล่านี้ที่จะอยู่ในสังคมต่อไปอีกไม่ต่ำกว่า 50 ปี เกิดความตระหนักในคุณค่าชีวิต เกิดความมุ่งมั่นในการกลับตนเป็นคนดี มีความพร้อมที่จะกลับคืนสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ และไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก

  • วช.มอบทุนวิจัย พัฒนาเด็กและเยาวชนกระทำผิด

วราภรณ์ สุชัยชิต นักวิเคราะห์นโนบาย และแผนชำนาญการพิเศษ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กล่าวถึงการสนับสนุนการวิจัยด้านกระบวนการสำหรับเด็กและเยาวชน ว่าการให้ทุนวิจัยมีเป้าหมายชัดเจนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เจริญเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน สร้างความรู้ในศาสตร์ทุกแขนง บูรณาการสหสาขาวิชา และการทำงานร่วมกันของหน่วยงานทั้งในและนอกกระทรวง

“การให้ทุนวิจัย สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี  ซึ่งเมื่อสิ้นสุด 10 ปี แผนอววน.ต้องบรรลุเป้าหมายเป็นกรอบ ต้องให้ทุนวิจัยอย่างมีเป้าหมาย มีทิศทางในมุมเดียวกัน ประเทศไทยได้มีปฎิรูประบบวิจัยและนวัตกรรม ผลพวงที่เกิดการตั้งกระทรวงอว.ทำให้มีโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมาย เพิ่มศักยภาพให้เพียงพอในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง พร้อมรับความท้าท้ายให้มีเกิดขึ้นในอนาคต กลไกการขับเคลื่อนงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์  จะมีหน่วยใช้ประโยชน์ หน่วยวิจัย หน่วยนโยบาย และหน่วยให้ทุน” วราภรณ์ กล่าว

  • ยกระดับกำลังคน สร้างนวัตกรรม ตอบโจทย์สังคม

สำหรับบริการจัดการวิจัยและนวัตกรรมของวช. จะมีขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ บนฐานนวัตกรรม ฐานความรู้ จะดำเนินการอย่างมีขั้นตอน และมีส่วนร่วม มีกำหนดโจทย์วิจัยและเป้าหมายการวิจัย การขยายผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน กระบวนการบริหารโรงการ กระบวนการติดตาม แนวทางในการบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม ปีงบประมาณ 2565 มีเป้าหมายที่ชัดเจน และได้วางสัมฤทธิ์ผลเพื่อเป็นตัววัด ว่าจะบรรลุการดำเนินการวิจัย ให้ทุนวิจัย หรือไม่

ให้ทุนวิจัยเรื่องการพัฒนากำลังคน ยกระดับสถาบันความรู้ ระบบนิเวศด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพ่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันพร้อมทั้งยกระดับการพึ่งพาตนเอง

  • ผู้กระทำผิดรายเก่าหมดไป ป้องกันผู้กระทำผิดรายใหม่

“ทิศทางการสนับสนุนวิจัยและนวัตกรรม แผนงานสังคมไทยไร้ตวามรุนแรง ปี 2566-2670 เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสนับสนุนให้เด็กและเยาวชน มีส่วนร่วมในการสร้างเศรษฐกิจเป็นการวิจัยและพัฒนาองค์กรเพื่อสร้างครอบครัวพลังบวก ความปลอดภัยและสันติสุข”วราภรณ์ กล่าว

ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่สำคัญ เป็นแผนงานนวัตกรรมยุติธรรท้าทายไทย เพื่อการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำและส่งเสริมโอกาสการดำเนินชีวิตของเด็กและเยาวชนที่กระทำผด เป็นการสนับสนุนให้เด็กและเวชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เด็กและเยาวชนผู้กระทำผิดรายเก่าหมดไป ป้องกันผู้กระทำผิดรายใหม่ไม่ให้เกิดขึ้น โดยมีการนำเทคโนโลยียุติธรรมอัจฉริยะ เสริมพันธะทางสังคมด้วยภาคีเครือข่าย แก้ไขการตจีตราด้วยยุติธรรมทางเลือก

กัลยรัตน์ ดวงรัตนเลิศ CEO & CO-FOUNDER บริษัท มาดามอร ฟู๊ด แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เล่าว่า โดยส่วนตัวเคยร่วมงานกับอุตสาหกรรมจังหวัด ซึ่งได้ทำหน้าที่เป็นนักบรรยาย สร้างธุรกิจด้วยตนเองให้แก่น้องๆ ประถมศึกษา เมื่อเกิดโครงการนี้ขึ้นทางอุตสาหกรรมจังหวัดได้หารือร่วมกัน และเขาต้องการคนรุ่นใหม่ ว่ามีโอกาส มีอาชีพหลากหลาย เพื่อให้น้องๆ ได้มีไอเดียในการสร้างอาชีพ ซึ่งโดยส่วนตัวทำสตาร์ทอัพไส้กรอกอีสานในสายสุขภาพ

“เรียนจบเคมี ม.พระจอมเกล้าพระนครเหนือ และคุณพ่อทำธุรกิจไส้กรอกอีสานอยู่แล้ว จึงได้ริเริ่มทำสตาร์ทอัพของตนเอง ซึ่งส่วนตัวมองว่าแต่ละคนมีความอยาก  ความสนใจต่างกัน เช่น เด็กผู้หญิงอยากทำขนม แต่เมื่ออยากขาย ไม่รู้จะขายอย่างไร เราก็แนะนำให้เขาใส่เอกลักษณ์ในการขาย และทุกคนเคยทำผิดพลาดได้ แต่เมื่อเราพลาด เราต้องเรียนรู้ว่าพลาดเพราะอะไร แก้ไขอย่างไร และการที่จะให้คนยอมรับ เราต้องพิสูจน์ตัวเอง เราต้องอดทน ต้องต่อสู้ ถ้าทุกคนตั้งใจดี อยากสร้างอนาคต ดูแลตัวเอง และครอบครัว เราสามารถสร้างอนาคตให้แก่ตัวเอง ทุกคนอยากประสบความสำเร็จของตัวเอง เราต้องให้กำลังใจเขามากขึ้น และบอกให้เขารู้ว่าเขาทำได้ดี” กัลยรัตน์ กล่าว

ผู้ประกอบการ” ควรให้โอกาส และทำให้เด็กกลุ่มนี้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าในตัวเอง และมีความฝัน อยากให้พวกเขารู้ว่าโลกไม่ได้โหดร้ายกับพวกเขา และโอกาสในสังคมมีมาก แต่เขาต้องเริ่มด้วยตัวเขา

  • เปิดโอกาสรับเด็กและเยาวชนกระทำความผิด

นาฑีรัตน์ บุญรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานทรัพยากรบุคคล Food Passion Co.,Ltd กล่าวว่า ธุรกิจของเรามีทั้งร้านอาหาร อย่าง บาบีก้อน บาบีคิวพลาซ่า มีความตั้งใจในการดูแลเด็กและเยาวชน และเชื่อในวงจรแห่งความสุข รวมถึงได้ทำเรื่องการศึกษา มาตลอดระยะเวลาหลายปี โดยเมื่อ 3 ปีที่ตั้งศูนย์การเรียนรู้ Food Passion  เพื่อให้การศึกษา ให้โอกาสเด็กด้อยโอกาส 

“ปัจจุบันเรามีนักเรียน 300 คน ซึ่งถือว่ามีความพร้อมและเข้าใจเด็กในทุกกลุ่ม โดยเฉพาะเด็กด้อยโอกาส ดังนั้น ตอนนี้เราพร้อมที่จะเปิดโอกาสให้แก่เด็กที่กระทำความผิด ซึ่งเด็กกลุ่มนี้เขาคงไม่อยากทำผิดไปตลอดชีวิต เขาก็คงอยากได้โอกาส เราคิดว่าการให้โอกาสเป็นเรื่องสำคัญ และก่อนที่เด็กจะมีโอกาส ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้แก่เด็กก่อน” นาฑีรัตน์ กล่าว

นอกจากนั้น เกณฑ์ที่ใช้ในการคัดเลือกเด็กที่กระทำผิด ต้องเป็นเด็กที่ตั้งใจ และจบม.3 รวมถึงขอให้มีการรับรองความประพฤติ เพราะการมาฝึกงานกับทางบริษัท สามารถทำได้ทั้งในร้านอาหาร ทั้งฝั่งครัว ฝั่งบริการ มีโรงงาน มีช่างซ่อมบำรุง โดยจะไม่มีการเซนต์สัญญาแต่เป็นการเซนต์คำมั่นว่าขอให้เรียนจบโดยไม่ต้องมีการชดใช้ทุน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มในปีนี้