ระวัง! โรคซิฟิลิส "หลวงปู่แสง" ติดต่อได้ แม้ไม่มีเพศสัมพันธ์

ระวัง! โรคซิฟิลิส "หลวงปู่แสง" ติดต่อได้ แม้ไม่มีเพศสัมพันธ์

จากกรณีที่ “หมอปลา” พร้อมด้วยสื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาได้เข้าไปภายในที่พักสงฆ์ บ้านดงสว่าง ต.โคกนาโก อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร หลังมีคลิปอ้างว่า “หลวงปู่แสง ญาณวโร”  พระเกจิอายุ 98 ปี  มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ลวนลามหญิงสาว

ขณะที่ ลูกศิษย์ผู้ใกล้ชิดได้ออกมาโต้แย้ง ว่า หลวงปู่แสง มีอาการอาพาธด้วยโรคอัลไซเมอร์ จนอาจแสดงพฤติกรรมออกมาโดยไม่รู้ตัว

วันนี้ (14 พ.ค.2565)คณะแพทย์ผู้ดูแลอาการอาพาธ “หลวงปู่แสง ญาณวโร”  โดยนพ.เศวต ศรีศิริ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพริ้นซ์ อุบลราชธานี กล่าวในฐานะแพทย์ผู้เคยทำการรักษาอาการอาพาธ ระบุว่า ทางคณะศิษยานุศิษย์ได้มอบหมายให้คณะแพทย์ผู้ทำการรักษาอาการอาพาธของหลวงปู่แสง มากว่า 20 ปี ให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสุขภาพของหลวงปู่แสง

โดยคณะแพทย์วินิจฉัยว่า มีภาวะอัลไซเมอร์ ระยะที่ 1 มีโอกาสที่ผู้ป่วยจะมีความจำถดถอยบ้าง ถามซ้ำๆพูดซ้ำๆเรื่องเดิม แต่ยังสื่อสารและใช้ชีวิตได้ตามปกติ ส่วนจะเป็นอัลไซเมอร์ ระยะที่ 2 หรือเปล่าแพทย์เฉพาะทางยังต้องวินิจฉัยเพิ่มเติม

ขณะเดียวกันจากการตรวจสอบพบว่า หลวงปู่แสง มีประวัติไข้มาลาเรียขึ้นสมอง ซึ่งในทางการแพทย์ หากการตรวจซิฟิลิส (TPHA Test) อาจพบเชื้อลวงได้ ควรตรวจซ้ำเพื่อยืนยัน หรืออาจเคยติดเชื้อซิฟิลิซมาก่อนก็เป็นได้ หากสงสัยจริงๆอาจใช้วิธีเจาะน้ำไขสันหลังตรวจสอบเพิ่มเติม

ทั้งนี้ เมื่อมีการตรวจพบว่า หลวงปู่แสง อาจเป็นโรคซิฟิลิส ซึ่งความเข้าใจของคนส่วนใหญ่จะมองว่าเป็นโรคทางเพศสัมพันธ์ ทำให้เกิดข้อถกเถียงขึ้นมาทันที พระเกจิอายุ 98 ปี เหตุใดถึงเป็นโรคนี้ได้

 

 

  • “โรคซิฟิลิส” ติดต่อได้แม้ไม่ได้มีเพศสัมพันธ์

เมื่อพูดถึง โรคซิฟิลิส (Syphilis) ส่วนใหญ่ มักจะเข้าใจว่าเป็นโรคทางเพศสัมพันธ์ แต่จริงๆ แล้วการติดต่อโรคนี้ ไม่ได้เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์เพียงอย่างเดียว

ว่ากันว่า โรคซิฟิลิส (Syphilis) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียทรีโพนีมา แพลลิดัม (Treponema Pallidum) ที่สามารถแพร่เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ผ่านทางการสัมผัสผู้มีเชื้อ ทั้งการจูบ การมีเพศสัมพันธ์ การสัมผัสแผล การรับเลือดมาจากผู้ติดเชื้อ หรือการสัมผัสเข็มที่ติดเชื้อ

โดยปัญหาส่วนใหญ่ คือ ผู้ที่เป็นโรคซิฟิลิสนั้นมักจะไม่รู้ตัวว่าตนเองได้รับเชื้อ เนื่องจากการดำเนินของโรคหลังจากที่ได้รับเชื้อแล้วจะเป็นไปอย่างเงียบๆ ก่อนจะแสดงอาการขึ้นมาในระยะเวลาหลายปีให้หลัง ซึ่งในทางการแพทย์จะเรียกระยะนี้ว่า ระยะแฝง (Latent Phase) หากเกิดการติดเชื้อแล้วตรวจพบได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ก็จะสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ถ้าหากปล่อยไว้โดยที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี ก็อาจทำให้เกิดปัญหารุนแรงตามมาในภายหลัง

  • พฤติกรรมเหล่านี้ ไม่ติดโรคซิฟิลิส

หากไม่รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ ส่งผลต่อระบบประสาท หัวใจ สมอง ระบบต่างๆ ของร่างกาย และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

  • การนั่งฝารองชักโครก หรือใช้ห้องน้ำเดียวกัน
  • การกอด การจับมือ
  • การใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกัน
  • การรับประทานอาหารและใช้ภาชนะร่วมกัน
  • การว่ายน้ำในสระเดียวกัน หรือใช้อุปกรณ์ออกกำลังกายร่วมกัน

โรคซิฟิลิสเป็นโรคติดต่อที่หลายคนมักกลัวว่าจะติดโรคจากการใช้ของร่วมกันหรือใส่เสื้อผ้าร่วมกัน แต่ความจริงแล้วเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคซิฟิลิสถูกทำลายได้ง่ายๆ จากความร้อน สบู่ และน้ำยาทำความสะอาด ดังนั้นโรคซิฟิลิสจึงไม่ได้ติดต่อกันง่ายๆ

 

  • สาเหตุการติดเชื้อ "โรคซิฟิลิส" ที่พบบ่อยที่สุด

ผู้ป่วยมักไม่ทราบว่าได้รับเชื้อซิฟิลิส เนื่องจากเชื้อจะใช้เวลาเป็นปีกว่าจะการแสดงอาการ แถมผู้ป่วยซิฟิลิสเมื่อเกิดแผลมักมีความเสี่ยงได้รับเชื้อ HIV สูงขึ้น หากทราบว่าติดเชื้อแต่เนิ่นๆ สามารถรักษาให้หายได้ แต่ถ้าปล่อยให้ดำเนินไปถึงระยะสุดท้าย อาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต

การติดเชื้อซิฟิลิสสามารถติดจากแม่สู่ลูกได้ อาจทำให้คลอดก่อนกำหนด เด็กเสียชีวิตในครรภ์หรือเสียชีวิตหลังคลอดได้ เด็กที่ได้รับเชื้อมักจะไม่แสดงอาการอาจมีเพียงผื่นที่มือเท้า หลังจากนั้นจะเริ่มส่งผลต่อการได้ยิน ทำให้ตาบอด หรือมีจมูกแบบซิฟิลิส ผู้ที่มีความเสี่ยงจึงควรตรวจเชื้อก่อนตั้งครรภ์ทุกครั้ง

การติดต่อโรคซิฟิลิส

  • ทางปาก ผ่านการจูบ
  • ทางเพศสัมพันธ์
  • จากแม่สู่ลูกน้อยในครรภ์
  • รับเลือดจากผู้ติดเชื้อ
  • สัมผัสโดยตรงกับแผลผู้ป่วย

ดังนั้น สาเหตุของการติดเชื้อที่พบบ่อยได้ที่สุด คือ การได้รับเชื้อโดยตรงผ่านทางรอยขีดข่วนหรือบาดแผลเล็กๆ บนผิวหนัง รวมไปถึงบริเวณเยื่อบุต่างๆ โดยเฉพาะการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นแผลและมีเชื้ออยู่ นอกจากนี้เชื้อซิฟิลิสยังสามารถติดต่อจากแม่สู่ลูกในระหว่างการตั้งครรภ์และการคลอดบุตรได้อีกด้วย

  • เช็กอาการของโรคซิฟิลิส

การติดเชื้อซิฟิลิสจะมีการดำเนินของโรคแบ่งเป็น 4 ระยะ โดยแต่ละระยะจะมีอาการที่แตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตาม การดำเนินของโรคซิฟิลิสอาจไม่ได้ดำเนินตามระยะ 1-4 อาจจะมีการสลับหรือซ้อนทับกันของระยะต่างๆ ได้

สำหรับ ระยะของโรคซิฟิลิส (Stages of Syphilis) แบ่งเป็นดังนี้

  • โรคซิฟิลิสระยะแฝง (Latent Stage)

ระยะนี้การดำเนินโรคอาจกินระยะเวลานานหลายปีหลังจากได้รับเชื้อ และจะเป็นระยะที่ไม่ปรากฎอาการใดๆ ที่บ่งบอกถึงการติดเชื้อซิฟิลิสเลย การเจาะเลือดไปตรวจจึงเป็นทางเดียวที่จะสามารถตรวจสอบได้ว่า เกิดการติดเชื้อซิฟิลิสหรือไม่ และหากสตรีที่มีเชื้อซิฟิลิสในระยะแฝงเกิดการตั้งครรภ์ ก็อาจส่งผลให้ทารกในครรภ์ติดเชื้อได้

  • โรคซิฟิลิสระยะที่หนึ่ง (Primary Syphilis)

เมื่อได้รับเชื้อซิฟิลิสเข้าสู่ร่างกายแล้ว การดำเนินของโรคในระยะแรกจะแสดงอาการเริ่มต้นจากการมีแผลเล็กๆ ที่เรียกว่าแผลริมแข็ง (Chancre) ซึ่งโดยทั่วไปมักจะเกิดขึ้นหลังจากที่เชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายไปแล้วประมาณ 3 สัปดาห์ ในเพศชายแผลริมแข็งมักจะเกิดขึ้นในบริเวณปลายหรือลำอวัยวะเพศ

ในกรณีของผู้ป่วยบางรายอาจเกิดแผลซุกซ่อนอยู่ภายในบริเวณช่องคลอด หรือทวารหนัก ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะเกิดขึ้นเพียงตำแหน่งเดียว ทำให้ผู้ป่วยบางรายไม่รู้ตัวว่ามีแผลเกิดขึ้น เนื่องจากแผลนี้จะไม่แสดงอาการปวดและสามารถหายเองได้ภายในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ แม้ไม่ได้ทำการรักษาใดๆ ก็ตาม

  • โรคซิฟิลิสระยะที่สอง (Secondary Syphilis)

เมื่อเข้าสู่ระยะที่สอง ผู้ป่วยซิฟิลิสจะปรากฎอาการสำคัญ คือ มีผื่นสีแดงน้ำตาลขึ้นที่บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และผื่นอาจกระจายไปทั่วร่างกายโดยที่ไม่เกิดอาการคัน นอกจากนี้ยังอาจพบผื่นสีเทาในปาก คอ และปากมดลูก

รวมไปถึงอาจพบหูด (Condylomata Lata) ในบริเวณที่อับชื้น เช่น รักแร้ ทวารหนัก และขาหนีบ รวมถึงอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น อาการปวดกล้ามเนื้อ ไข้ เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองโต และผมร่วง โดยอาการต่างๆ เหล่านี้จะสามารถหายไปเองได้ภายในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ แต่ก็สามารถกลับมาเป็นใหม่ได้เช่นเดียวกัน

  • โรคซิฟิลิสระยะสาม (Tertiary Syphilis)

ผู้ติดเชื้อประมาณ 15-30% จากผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้ทำการรักษาทั้งหมดจะมีการดำเนินโรคต่อเนื่องไปสู่ระยะสาม ซึ่งเชื้อโรคจะเกิดการพัฒนาจนส่งผลต่ออวัยวะสำคัญ ทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อสมอง ระบบประสาท ตา หัวใจ เส้นเลือด ตับ หรือกระดูกและข้อต่อ ซึ่งถ้าหากรักษาไม่ทันก็จะทำให้อวัยวะต่างๆ ถูกทำลายจนไม่สามารถกลับมาใช้งานอย่างเป็นปกติได้ สำหรับทารกในครรภ์ที่ได้รับเชื้อจากมารดาก็อาจเกิดความผิดปกติต่อร่างกาย พิการ รวมไปถึงการเสียชีวิตตั้งแต่ในครรภ์หรือเสียชีวิตหลังคลอดได้

  • โรคซิฟิลิสโดยกำเนิด (Congenital Syphilis)

โรคซิฟิลิสโดยกำเนิดเกิดจากการแพร่เชื้อซิฟิลิสจากมารดาสู่ทารกในครรภ์ โดยสามารถติดต่อผ่านทางรกหรือเกิดการติดเชื้อในระหว่างการคลอดได้ การติดเชื้อซิฟิลิสโดยกำเนิดนั้นอาจทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด หรืออาจร้ายแรงถึงขั้นทารกเสียชีวิตในครรภ์ หรือเกิดการเสียชีวิตในทารกแรกเกิดได้

โดยส่วนใหญ่ทารกที่ติดเชื้อมักจะไม่แสดงอาการที่สังเกตเห็นได้ชัดเจน บางรายอาจมีผื่นขึ้นที่บริเวณฝ่ามือหรือฝ่าเท้าในเวลาต่อมาทารกที่ติดเชื้อซิฟิลิสอาจเกิดปัญหาเกี่ยวกับการได้ยินผิดปกติ ตาบอด มีความผิดปกติทางโครงสร้างต่างๆ เช่น มีโครงสร้างฟันผิดปกติ หรือมีรูปร่างจมูกผิดปกติ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัวเรียกว่า จมูกแบบซิฟิลิส (Syphilis nose) หรือจมูกอานม้า (Saddle nose) ซึ่งส่วนของดั้งจมูกจะแฟบบุ๋มลงไป หากสามารถตรวจพบและรักษาอาการได้ตั้งแต่เนิ่นๆ โดยการให้ยาปฏิชีวนะเพนิซิลลิน (Penicillin) ก็จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการต่างๆ เหล่านี้ได้

  • การตรวจและยืนยันการติดเชื้อซิฟิลิส

การตรวจและยืนยันการติดเชื้อซิฟิลิสสามารถทำได้โดยการใช้วิธีเจาะเลือดหาแอนติบอดี (Antibody) ที่ร่างกายสร้างขึ้นมา โดยแอนติบอดีต่อเชื้อซิฟิลิสนั้นจะคงอยู่ในร่างกายเป็นระยะเวลานานหลายปี ทำให้การตรวจด้วยวิธีนี้สามารถบ่งบอกถึงการติดเชื้อในอดีตได้ด้วย

นอกจากนี้ หากเกิดการติดเชื้อซิฟิลิสในระยะต้นและระยะที่สอง แพทย์อาจทำการเก็บตัวอย่างเซลล์จากบริเวณบาดแผลหรือบริเวณผื่นเพื่อนำไปทำการตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย แต่ถ้าหากมีการติดเชื้อโรคซิฟิลิสในระยะที่สามและเกิดอาการแทรกซ้อนทางระบบประสาท แพทย์อาจมีความจำเป็นที่จะต้องเจาะน้ำไขสันหลัง (Lumbar Puncture) เพื่อนำไปตรวจหาความผิดปกติต่อไป

ในผู้ป่วยที่ตรวจพบโรคซิฟิลิสและได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ นั้นสามารถรักษาให้หายขาดได้โดยที่ไม่เกิดผลแทรกซ้อนในระยะยาว โดยวิธีรักษาโรคซิฟิลิสทำได้โดยการใช้ยาเพนิซิลลิน (Penicillin) เป็นยาปฏิชีวนะชนิดหนึ่ง ซึ่งถ้าหากพบว่าผู้ป่วยเกิดการติดเชื้อในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี ก็จะสามารถรักษาและหยุดการลุกลามของโรคได้เพียงแค่ฉีดยาเพนิซิลลิน 1 เข็มเท่านั้น

ในช่วงของการเข้ารับการรักษา แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยงดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าผู้ป่วยจะได้รับการยืนยันว่าหายขาดจากโรคนี้แล้วแน่นอน นอกจากนี้คู่นอนของผู้ป่วยควรเข้ารับการตรวจและวินิจฉัยโรคอย่างครบถ้วนเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อด้วยเช่นกัน

  • "ซิฟิลิส" ป้องกันได้ ต้องทำอย่างไร? 

การป้องกันการติดเชื้อซิฟิลิสสามารถป้องกันได้ด้วย

  • การใช้ถุงยางอนามัยระหว่างการมีเพศสัมพันธ์
  • ควรมีเพศสัมพันธ์เฉพาะสามี-ภรรยาหรือคู่นอนของตนเองเพียงคนเดียวเท่านั้น 
  • ควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มมึนเมา หรือยาเสพติดประเภทต่างๆ ที่ส่งผลให้เกิดการขาดสติ ขาดความยับยั้งชั่งใจ ที่อาจนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันได้
  • สังเกตอาการ ตรวจคัดกรองเมื่อมีความเสี่ยง
  • ไม่ใช้เข็มฉีดยาหรือกระบอกฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
  • รู้เท่าทันอาการซิฟิลิส

ปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อโรคซิฟิลิสเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มวัยรุ่น และกลุ่มรักร่วมเพศ รวมไปถึงผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ ซึ่งส่งผลให้พบทารกติดเชื้อตั้งแต่กำเนิดเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย โรคซิฟิลิสสามารถรักษาให้หายขาดได้ หากพบว่าตนเองมีความเสี่ยง ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโดยเร็ว ซิฟิลิสสามารถป้องกันได้ เพียงตรวจเลือด และการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างถูกวิธี

  • กลุ่มเสี่ยงที่ควรตรวจหาเชื้อซิฟิลิส

กลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงและควรตรวจหาเชื้อซิฟิลิส คือ

  1. กลุ่มบุคคลที่มีพฤติกรรมการเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ และมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน
  2. บุคคลที่มีความสงสัยว่าคู่นอนของตนเองมีอาการป่วยที่คล้ายกันกับโรคซิฟิลิส
  3. คู่ที่กำลังแต่งงานหรือสตรีที่เตรียมพร้อมจะมีบุตร
  4. ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็คร่างกายว่ามีความเสี่ยงต่อการติดโรคซิฟิลิสหรือมีเชื้อโรคซิฟิลิสแฝงอยู่ในร่างกายหรือไม่ เพราะถ้าหากมีการติดเชื้อก็จะได้เข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที
  • ซิฟิลิสรักษาให้หายขาดได้หรือไม่?

โรคซิฟิลิสสามารถรักษาให้หายขาดได้ ถ้าได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่เนิ่น ๆ ยิ่งตรวจพบได้เร็ว ผลการรักษายิ่งมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

หากรู้สึกสงสัยหรือพบอาการที่อาจเป็นสัญญาณของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ไม่ว่าจะเป็น โรคซิฟิลิส หรือไม่ ทางที่ดีคือ อย่าละเลย ควรรีบไปพบแพทย์และรับการรักษาอย่างเหมาะสม ทั้งตนเองและคู่นอน เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ และภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา และหากไม่อยากเสี่ยงติดเชื้อ จึงควรศึกษาเกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และเรียนรู้วิธีป้องกันตนเองเพื่อมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยที่สุด

อ้างอิง: โรงพยาบาลเพชรเวช,กรมควบคุมโรค,คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย