เปิดผลสำรวจจังหวัดเด็กไอคิวสูงสุดในปี 64 ภาพรวมเฉลี่ยเกิน 100 ปีแรก!

เปิดผลสำรวจจังหวัดเด็กไอคิวสูงสุดในปี 64 ภาพรวมเฉลี่ยเกิน 100 ปีแรก!

สธ.เปิดผลสำรวจไอคิว -อีคิวเด็กไทยป.1 ล่าสุดปี 64 พบไอคิวเฉลี่ย เท่ากับ 102.8 เพิ่มขึ้นจากปี 59 ถึง 4.5 จุด ทะลุ 100 เป็นปีแรก   กลุ่มฉลาดมาก 10.4  % ขณะที่ไอคิวบกพร่อง 4.2 % ส่วนอีคิวปกติ 83 % เดินหน้าสู่เป้าเด็กไทยไอคิว 103 ในปี 70

  เมื่อวันที่ 10 พ.ค.2565 ที่โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร ภายในงาน "เดินหน้า...สร้างเด็กไทยไอคิวดี" และแถลงข่าว "ผลการสำรวจสถานการณ์ระดับสติปัญญา (IQ) และความฉลาดทางอารมณ์ (EQ)เด็กไทยระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 พ.ศ. 2564" นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) กล่าวว่า  จากการสำรวจสถานการณ์ระดับสติปัญญาและความฉลาดทางอารมณ์เด็กไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ประจำปี 2564 ทั่วประเทศ พบว่า

-มีระดับสติปัญญา (ไอคิว) เฉลี่ยเท่ากับ 102.8 ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติและผ่านตามเป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่กำหนดให้เด็กไทยมีไอคิวไม่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 100 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2559 พบว่า มีไอคิวเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 4.5 จุด

 และเด็กที่ไอคิวต่ำกว่า 90 ลดลงจาก 31.8 % เป็น 21.7% สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่ร่วมกันพัฒนาเด็กไทยให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ

     อย่างไรก็ตาม ยังมีนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่มีไอคิวในเกณฑ์บกพร่อง ต่ำกว่า 70 อยู่ถึง 4.2% ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานสากลคือไม่ควรเกิน 2 %

       สะท้อนให้เห็นว่า ยังมีเด็กกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยที่ส่งผลต่อสติปัญญาในช่วงแรกเกิดถึง 5 ปี ซึ่งพบในกลุ่มขาดโอกาสทางสังคม เช่น ครอบครัวที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ กลุ่มเด็กที่เกิดจากมารดาวัยรุ่น ครอบครัวขาดความพร้อมในการเลี้ยงดูเด็กขณะที่ตั้งครรภ์

      สำหรับเด็กที่มีระดับสติปัญญาในเกณฑ์ที่ฉลาดมาก คือ ไอคิวมากกว่า 130 สูงถึง 10.4 %

    มาจากการได้รับการส่งเสริมศักยภาพอย่างเต็มที่จากครอบครัวและสังคม ที่ทุกหน่วยงานควรนำมาเป็นต้นแบบ ในการพัฒนาให้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ ส่วนผลสำรวจความฉลาดทางอารมณ์ (อีคิว) พบอยู่ในเกณฑ์ปกติ  83.4 % แสดงว่าเด็กยังมีความสามารถในการรู้จัก เข้าใจ ควบคุมอารมณ์ สื่อสารอย่างสร้างสรรค์ เอาชนะอุปสรรคในชีวิต และอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างเหมาะสม ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อความสำเร็จและความสุขในอนาคต

      นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า  เป็นนนิมิตหมายที่ดีที่จะทำให้เห็นว่าคนไทยไม่ได้มีความฉลาดน้อยกว่าคนในประเทศอื่นในโลกเลย  ถ้าเราสามารถหาวิธีการที่จะทำให้เด็กเพิ่มความฉลาดได้ ซึ่งตรงนี้ต้องพูดเต็มปากว่าได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากกรมสมเด็จกระเทพฯ ซึ่งพระองค์ท่านเป็นองค์ประธานในการส่งเสริมการใช้เกลือไอโอดีนให้แก่เยาวชน เสด็จมาประชุมที่สธ.ทุกปีในการมอบนโยบายและสธ.นำไปปฏิบัติ จนได้เห็นการพัฒนาขึ้นเป็นที่ประจักษ์ชัดทุกปี

      “ปีนี้เป็นข่าวดีที่ระดับไอคิวของเด็กไทยได้เพิ่มระดับเป็นเกิน 100 เป็นครั้งแรก นอกจากนี้  เด็กที่มีไอคิวต่ำกว่ามาตรฐานก็ลดลง 1 ใน 3 เป้าคือต้องลดลงให้ได้มากที่สุด ให้เด็กไทยมีไอคิวมาตรฐานได้เป็นขั้นพื้ฐาน และได้พัฒนาต่อยอดขึ้นไปเรื่อยๆ กราฟกำลังปักหัวขึ้นก็ต้องรักษาระดับขึ้นไป ซึ่งข้อมูลมีการแสดงลงลึกถึงระดับพื้นที่    เมื่อ 5ปีก่อน แดงเถือก วันนี้เห็นสีชมพู 3-4 จังหวัด ก็จะเน้นตรงนั้น  ที่เป็นสีเขียวก็ให้เข้มขึ้น”นายอนุทินกล่าว

      นอกจากนี้  พบข้อมูลจากที่สำรวจว่า เด็กที่ไอคิวดี พ่อแม่รวย ซึ่งตรงนี้ต้องไม่เกี่ยวข้อง เพราะการพัฒนาสมองคน ต้องหาวิธีการลดเหลื่อมล้ำทางฐานะ ไม่ให้เป็นส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาเยาวชนของชาติ ทำได้โดยให้สังคมมีสุขภาพที่ดี พ่อแม่มีสุขภาพจิต  สุขภาพกายที่ดี เอาใจใส่ดูแลเยาวชน ร่วมมือกับหน่วยงานราชการ เช่น ศธ. พม. มท.และ สธ.ให้การดูแลพี่น้องประชาชนให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เป็นสิ่งที่ทำมาตลอด
เปิดผลสำรวจจังหวัดเด็กไอคิวสูงสุดในปี 64 ภาพรวมเฉลี่ยเกิน 100 ปีแรก!

      ขณะที่นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดสธ. กล่าวว่า  ในช่วงประมาณ 20 กว่าปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการสำรวจระดับสติปัญญาเด็กไทยที่สำคัญหลายครั้ง เพื่อติดตามสถานการณ์ และวางแผนการพัฒนาเด็กและเยาวชน โดยในปีงบประมาณ 2559 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 กรมสุขภาพจิต ได้ดำเนินการสำรวจสถานการณ์ระดับสติปัญญาและความฉลาดทางอารมณ์เด็กไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 พบว่า

-เด็กมีระดับสติปัญญาเฉลี่ยเท่ากับ 98.2 ถือเป็นระดับสติปัญญาที่อยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ยังต่ำกว่า 100 ซึ่งเป็นค่ากลางมาตรฐานสากล
-ทั้งยังพบเด็กที่มีระดับสติปัญญาน้อยกว่า 90 อยู่ถึง 31.8%   
-และมีระดับสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์บกพร่อง อยู่5.8% ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานสากล
- ในส่วนของความฉลาดทางอารมณ์ พบเด็กที่มีอีคิวอยู่นเกณฑ์ปกติขึ้นไป 87% จากผลดังกล่าว ทิศทางของ

      แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 จึงยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพคนในทุกช่วงวัยรวมถึงช่วงวัยเด็กและวัยเรียน เน้นให้มีการส่งเสริมอนามัยแม่ และเด็กและพัฒนาการที่สมวัยทั้งใน ด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม มีการส่งเสริมให้เด็กมีความรู้สอดรับกับทักษะในศตวรรษที่ 21 ในปี พ.ศ. 2564 กรมสุขภาพจิต ได้มีการสำรวจสถานการณ์ระดับสติปัญญาและความฉลาดทางอารมณ์เด็กไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ขึ้นอีกครั้ง

      “ผลการสำรวจครั้งนี้ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จะใช้ในการติดตามการดำเนินงานที่ผ่านมา และใช้เป็นฐานข้อมูลในการวางแผน กำหนดเป้าหมาย เพื่อให้เกิดการผลักตันให้มีการพัฒนาและส่งเสริมสติปัญญาและความฉลาดทางอารมณ์เด็กไทยในแต่ละจังหวัดอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน นำไปสู่ผลลัพธ์คือ เด็กไทยสามารถมีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย มีศักยภาพและวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่เหมาะสม และเติบโตเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าของประเทศต่อไป โดยตั้งเป้าที่พัฒนาระดับสติปัญญาเฉลี่ยของเด็กไทยให้ถึง 103 ในปี 2570”นพ.เกียรติภูมิกล่าว 

      ด้าน พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การศึกษาครั้งนี้ยังมีข้อมูลรายจังหวัดสำหรับ 61 จังหวัด ซึ่งได้ดำเนินการแจ้งต่อพื้นที่เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ แต่ด้วยสถานการณ์ของโรคโควิด 19 ทำให้การสำรวจในอีก 16 จังหวัด ยังขาดความครบถ้วน ทั้งนี้ แม้ครอบครัวไทยจะต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมหลายด้าน แต่เด็กไทยยังคงมีอีคิวอยู่ในเกณฑ์ปกติ 83.4%  ซึ่งเด็กที่มีอีคิวดีจะมีความสามารถในการควบคุมอารมณ์ตนเอง สื่อสารอย่างสร้างสรรค์ เอาชนะปัญหาอุปสรรคในชีวิต และอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างเหมาะสม
          ทั้งนี้  สธ.จะพัฒนาและค้นคว้าแนวทาางส่งเสริมศักยภาพของเด็กไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในครอบครัวที่ขาดโอกาสทางสังคมซึ่งเป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเสริมสร้างพัฒนาการและสติปัญญาของเด็กให้พร้อมมุ่งสู่การเป็นพลเมืองในศตวรรษที่ 21 ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย ส่งเสริมอนามัยแม่และเด็ก และพัฒนาการที่สมวัยทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม

       อนึ่ง จังหวัดที่มีไอคิวเฉลี่ยมากกว่า 100 มีจำนวน 36 จังหวัด คิดเป็น 47% เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่พบ 12 จังหวัด คิดเป็น 16% โดย กทม.มีไอคิวเฉลี่ยสูงสุด 112.6 ,หนองคาย 109.4 , ปราจีนบุรี 108.3 , อุตรดิตถ์ 108.2 , นนทบุรี 108.2 และจันทบุรี 108.2 ส่วนที่มีไอคิวเฉลี่ยต่ำสุด คือ ยะลา 93.4 อย่างไรก็ตาม มีจำนวน 8 จังหวัดที่ไม่สามารถลงพื้นที่สำรวจได้ และไม่ได้วัดค่าไอคิวเฉลี่ย ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สุพรรณบุรี ตรัง และพัทลุง