พร้อมจริงหรือ เปิดเทอม เรียน on-site 17 พ.ค.นี้ "เจอติดโควิด ไม่ปิดโรงเรียน”

พร้อมจริงหรือ เปิดเทอม เรียน on-site 17 พ.ค.นี้ "เจอติดโควิด ไม่ปิดโรงเรียน”

17 พ.ค.2565 วันเปิดเทอม ภาคการเรียนที่ 1/2565 ซึ่งจะเป็นการเรียนแบบ On-Site แล้วเด็ก บุคลากรและโรงเรียนมีความพร้อมแล้วที่จะเข้าสู่ “ยุคเรียนร่วมโควิด19”จริงหรือไม่ เมื่อรอบนี้ "เจอติดโควิด ไม่ปิดโรงเรียน”

ร.ร.เตรียมพร้อมมาตรการ 6-6-7

      น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ได้สั่งการเรื่องการเตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 ในวันที่ 17 พ.ค.นี้ โดยได้กำชับให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ปกครองในการเปิดภาคเรียนใหม่อย่างปลอดภัย  ผ่านมาตรการ 6-6-7 ประสานการฉีดวัคซีนให้แก่นักเรียนอย่างครอบคลุม โดยเฉพาะ 5-11 ปี รวมถึงโรงเรียนจะต้องตรวจสอบสภาพอาคารเรียนให้มีความพร้อมไม่ว่าจะเป็นระบบไฟฟ้า ระบบประปา และห้องเรียน นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมเนื้อหาจัดการเรียนการสอนจะต้องเติมเต็มเสริมศักยภาพของผู้เรียน พร้อมแต่งตั้งอาสาสมัครการศึกษา ทำหน้าที่คล้ายอาสาสมัครหมู่บ้าน หรือ อสม. ทำหน้าเอกซเรย์เด็กตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อติดตามนำกลับเข้าระบบการศึกษา

ร.ร.กว่า 90 % พร้อมเปิดเทอม
 นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า  โรงเรียนทั่วประเทศมีกว่า  35,000 แห่ง เป็นร.ร.รัฐสังกัดสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ทั้งประถมศึกษาและมัธยมฯ 29,200 แห่ง   เอกชน 4,100 แห่ง และอื่นๆ เช่น อปท. มหาดไทย(มท.) อีกราว 1,800 แห่ง  โดยกว่า 90 % จะเปิดเทอมในวันที่  17 พ.ค.2565  โดยทุกสถานศึกษามีการเตรียมความพร้อม โดยสิ่งที่แตกต่างระหว่างภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 กับภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 คือ การเว้นระยะห่าง ในห้องเรียน จะเหลือ 1 เมตร จาก 1.5 เมตร


  เพราะฉะนั้น ห้องเรียนปกติที่มีขนาด 8 X 8 เมตร สามารถจัดโต๊ะเรียนได้7 แถว ๆ ละ 6 ที่นั่ง รวม 42 คน ซึ่งโดยปกติ 1 ห้องเรียนจะมีนักเรีนนประมาณ 40 คน ไม่มีปัญหาในเรื่องการเว้นระยะห่าง แต่อาจจะมีปัญหาในโรงเรียนประถมศึกษาบางแห่งเท่านั้น ที่เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ บางห้องอาจจะมีขนาด 6 X 8 เมตร และสิ่งสุดท้ายที่มีความแตกต่าง คือ บางโรงเรียนเป็นการเรียนในห้องปรับอากาศ ต้องมีการเปิดระบายอากาศ ทุก 2 ชั่วโมง เป็นเวลา 10 นาที ในช่วงพัก สำหรับโอกาสติดเชื้อและแพร่เชื้อในโรงเรียน คือ การถอดหน้ากาก กินข้าวร่วมกัน สนทนาระหว่างกันโดยไม่สวมหน้ากาก ดังนั้น ในโรงอาหารควรมีการแยกสำรับกับข้าว แยกพื้นที่ งดการพูดคุย ขณะกินอาหาร และเมื่อมีการเล่นร่วมกัน ควรสวมหน้ากากตลอดเวลา

ร.ร.กทม. เปิดเรียน On-Site 100%

นายชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ที่ประชุมได้แจ้งแนวทางการเตรียมความพร้อมการเปิดภาคเรียนที่ 1/2565 ของโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 ซึ่งเป็นการเปิดเรียนแบบ On-Siteต็มรูปแบบ 100% ทุกระดับชั้น โดยจะดำเนินการมาตรการความปลอดภัยของโรงเรียนในสังกัดฯ อย่างเต็มที่เข้มงวดและมีประสิทธิภาพ โดยทุกโรงเรียนจะต้องมีการประเมินตามมาตรการ 3T1V คือ T : Thai Stop Covid Plus (TSC+) สถานศึกษาต้องประเมินตนเองเตรียมพร้อมก่อนเปิดเรียน T : Thai Save Thai (TST)
         นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษามีการประเมินความเสี่ยงตนเองเป็นประจำ T : Test ตรวจคัดกรอง เฝ้าระวังอย่างเหมาะสม เช่น ตรวจ ATK เมื่อมีความเสี่ยงหรือมีอาการ และ V : Vaccine ครู บุคลากร ผู้ปกครอง และเด็ก อายุ 5-18 ปี ได้รับวัคซีนโควิด-19 ตามเกณฑ์ พร้อมทั้งสำนักงานเขตและโรงเรียนจะมีการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจ และขอความร่วมมือให้นักเรียน ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานคร ตลอดจนผู้ปฏิบัติงาน ในโรงเรียนให้ปฏิบัติตามข้อกำหนด 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC) 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) และแนวทาง 7 มาตรการเข้ม ทั้งนี้หากผู้ปกครองไม่ประสงค์ให้นักเรียนเรียนในรูปแบบ On Site อนุญาตให้เรียนในรูปแบบ 4 ON ได้

สธ.ย้ำ 4 มาตรการก่อนเปิดเทอม

นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.) กล่าวในการเปินประธานเปิดการประชุมชี้แจงพร้อมแถลงข่าว มาตรการเปิดเรียน On-Site ปลอดภัย อยู่ได้กับโควิด-19 ในสถานศึกษาเตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียนที่ 1/2565 ว่า โดยเน้นย้ำ ตามมาตรการต่อไปนี้ คือ

1.เร่งรัดการฉีดวัคซีนเพื่อให้นักเรียนได้รับวัคซีนตามความสมัครใจให้ครอบคลุม

2.สถานศึกษา ต้องเข้ารับการประเมิน Thai Stop COVID Plus โดยต้องผ่านการประเมินมากกว่า 95 %  ส่วนการตรวจATK ที่เดิมให้ตรวจทุกราย แต่จากการหารือร่วมกับราชวิทยาลัยและนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง  โดยการตรวจเฝ้าระวังให้ดำเนินการเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงหรือมีอาการเท่านั้น  เพราะกรณีที่มีฉีดวัคซีนครบและไม่มีอาการ การตรวจATKอาจผิดพลาดได้ 

 3. เน้นย้ำการทำตามแผนเผชิญเหตุ เมื่อเจอผู้ติดเชื้อ หรือเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ไม่ดำเนินการปิดชั้นเรียนหรือโรงเรียน เป้าประสงค์นักเรียนควรได้รับการเรียนรู้อย่างเต็มที่ที่โรงเรียน

และ4.เน้นย้ำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดให้ปฏิบัติตามมาตรการ โดยมอบหมายให้ศูนย์อนามัยในเขตสุขภาพเป็นพี่เลี้ยง 

เจอติดโควิด19 ไม่ปิดโรงเรียน

      ด้านนพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย  อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า  มาตรการเปิดเรียน On-Site อยู่ได้กับโควิด19

     กรณีโรงเรียนประจำ เน้นมาตรการ Sandbox Safety zone in School  โดย

1.หากนักเรียน รู หรือบุคลากรเป็นผู้ติดเชื้อ ให้หารือหน่วยบริการสาธารณสุขในการแยกกักตัวในโรงเรียนกรณีไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย ให้จัดการเรียนการสอนตามความเหมาะสม เว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร งดร่วมกลุ่ม

2.กรณีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงให้จัดควอรันทีนโซน จัดการเรียนการสอนในนั้นเป็นเวลา 5 วัน จากนั้นให้สังเกตอาการอีก 5 วัน อย่างไรก็ตามกรณีได้รับวัคซีนครบตามกำหนดและไม่มีอาการไม่แนะนำให้กักตัว และตรวจ ATK ในวันที่ 5 และ 10 และ3.กรณีเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ ให้เปิดเรียนปกติ โดยป้องกันตนเองครอบจักรวาล ประเมิน Thai Save Thai (TST) เว้นระยะห่างในห้องอย่างน้อย 1 เมตร
 

กรณีโรงเรียนไป-กลับ

1. กรณีนักเรียน ครู หรือบุคลากร ติดเชื้อ ให้แยกกักตัวที่บ้าน หรือพิจารณากักตัวที่โรงเรียน โดยคณะกรรมการสถานศึกษาและหน่วยงานสาธารณสุข และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด กรณีเป็นผู้ติดเชื้อมีอาการให้พิจารณาจัดรูปแบบการเรียนการสอนอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีอาการ  และทำความสะอาดห้องเรียน ชั้นเรียน สถานศึกษา และเปิดเรียนตามปกติ 

2.กรณีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงหากยังไม่ได้รับวัดซีน ไม่มีอาการ แนะนำให้กักตัวเองเป็นเวลา 5 วันและติดตามหลังจากนั้นอีก 5 วัน กรณีได้รับวัคซีนครบและไม่มีอาการไม่ต้องกักตัว ให้เรียนได้โดยให้ตรวจ ATK วันที่ 1 , 5 และ 10 หลังสัมผัสผู้ติดเชื้อ สถานศึกษาจัดให้เรียนตามความเหมาะสม เว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร

3.กรณีผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ ให้เรียนตามปกติ ป้องกันตนเองครอบจักรวาล ประเมิน TST เว้นระยะห่างในห้องอย่างน้อย 1 เมตร

เร่งฉีดวัคซีนโควิด19เด็กก่อนเปิดเทอม On-Site

        นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า ข้อมูล ณ วันที่ 3 พ.ค. 2565 ผลการฉีดวัคซีนกลุ่มเป้าหมายอายุ 12-17 ปี จำนวนเป้าหมาย 4.7 ล้านคน จากฐานข้อมูล MOPH IC   

  • ฉีดเข็มที่ 1แล้ว 3.6 ล้านคน คิดเป็น 77.2 %
  • ฉีดเข็มที่ 2แล้ว 3.5 ล้านคน คิดเป็น 75.5 %
  • ฉีดเข็มที่ 3แล้ว 2.4 แสนคน คิดเป็น 5.2% 

แผนเร่งรัดการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นสำหรับกลุ่มเป้าหมายอายุ 12-17 ปี

1. การเข้ารับบริการ เลือกได้ตามความสมัครใจ

- ผ่านระบบสถานพยาบาล บริการฉีดทั้งขนาดเต็มโดส และครึ่งโดส

- ผ่านระบบสถานศึกษา บริการฉีดขนาดครึ่งโดส

2. การฉีดผ่านระบบสถานศึกษา ข้อมูลจากศึกษาธิการจังหวัดประสานไปที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ณ วันที่ 28 เมษายน 2565 มีนักเรียนอายุ 12 ปี ขึ้นไป ที่ประสงค์ต้องการรับวัคซีน Pfizer เข็มกระตุ้นขนาดครึ่งโดส จำนวน 1.75 ล้านคน คิดเป็น 50 % (โดยเปรียบเทียบกับผลการฉีดเข็ม 2 จากระบบ MOPH IC)

3. การจัดสรรวัคซีน กรมควบคุมโรคจะจัดส่งวัคซีน Pfizer ฝาม่วงสำหรับกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว ภายในวันที่ 6 พฤษภาคม 2565

     ส่วนผลการฉีดวัคซีนกลุ่มเป้าหมายอายุ 5-11 ปี  จำนวนเป้าหมาย 5.1 ล้านคน ข้อมูลจากระบบ MOPH IC วันที่ 2 พ.ค.2565  ฉีดเข็มที่ 1 แล้ว 2.7 ล้านคน คิดเป็น 53.3 %  และเข็ม 2 แล้ว  6.7 แสนคน คิดเป็น 13.1 %

แผนเร่งรัดการฉีดวัคซีนสำหรับกลุ่มเป้าหมายอายุ 5-11 ปี

1. อยู่ในระหว่างการเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และ 2 สูตร Pfizer-Pfizer

2. กรมควบคุมโรคได้ทำการสำรวจข้อมูลในเต็กอายุ 5-11 ปี ที่ประสงค์รับวัคซีนเพิ่มเติม ข้อมูล ณ วันที่ 28 เม.ย. 2565 ดังนี้

  • 1. วัคซีน Pfizer เข็ม 1 เก็บตก จำนวน 1.1 แสนคน
  • 2. วัคซีน Pfizer สำหรับการฉีดเป็นเข็มที่ 2 สูตรไขว้ Sinovac-Pfizer จำนวน 1.6 แสนคน

3. กรมควบคุมโรคได้ทยอยจัดส่งวัคนให้กับทั้งกลุ่มเป้าหมายที่มีกำหนดนัดฉีดและที่แสดงความประสงค์เพิ่มเติมในทุกสัปดาห์