ทส.เร่งฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล อนุรักษ์สัตว์ทะเล รับนักท่องเที่ยว

ทส.เร่งฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล อนุรักษ์สัตว์ทะเล รับนักท่องเที่ยว

"วราวุธ" พบสื่อ เผยความคืบหน้าสถานการณ์ทรัพยากรทางทะเลไทย เร่งฟื้นฟู อนุรักษ์สัตว์ทะเล แก้ปัญหาปะการังฟอกขาว ขยะในท้องทะเล ลดโลกร้อน เตรียมพร้อมรับนักท่องเที่ยว ขานรับนโยบายเปิดประเทศ พร้อมย้ำมาตรการจำกัดนักท่องเที่ยว ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม

ตั้งแต่ 1 พ.ค.2565 ที่ผ่านมา ไทยมีการยกเลิกระบบ Test & Go ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อรับนักท่องเที่ยว ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้คาดการณ์ว่า ผลจากการปรับลดมาตรการดังกล่าวจะสามารถกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวไทยในช่วง 7-8 เดือนข้างหน้า  จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยที่ 7-13 ล้านคน สร้างรายได้ราว 7 แสนล้านบาท

วันนี้ (6 พ.ค. 2565)   นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในกิจกรรมกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบสื่อ ครั้งที่ 1 เปิดเผยถึงสถานการณ์และความคืบหน้าการดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในช่วงเกือบ 3 ปี ว่าสถานการณ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในภาพรวม ปี 2564  มีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากทุกภาคส่วนได้ช่วยกันอนุรักษ์และฟื้นฟู

รวมทั้งการดำเนินงานตามมาตรการต่างๆ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์สัตว์ทะเลควบคู่ไปกับการทำประมงอย่างยั่งยืน อาทิ การพบแนวปะการัง และหญ้าทะเลที่มีสภาพสมบูรณ์เกินครึ่ง

 

  • เร่งฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล อนุรักษ์สัตว์ทะเลหายาก

พื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มมากขึ้น และพบเห็นสัตว์ทะเลหายากได้มากขึ้น ทั้งโลมา วาฬ และ ฉลามวาฬ อีกทั้งเต่าทะเลขึ้นวางไข่บริเวณชายหาดในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น

เช่นเดียวกับพะยูนที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินงานตามแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 - 2565) เพื่อการอนุรักษ์คุ้มครองพะยูนและถิ่นที่อยู่อาศัยของพะยูนในประเทศไทยและกระแสความตระหนักต่อผลกระทบของขยะพลาสติกและขยะทะเล

อย่างไรก็ตาม สัตว์ทะเลที่หายากและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ที่น่าห่วง คือ โลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา  ที่เหลืออยู่เพียง 14 ตัว เนื่องจากสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ใกล้สูญพันธุ์ ได้แก่ การติดเครื่องมือประมงประเภทอวน รองลงมา ปัญหาทางด้านกายภาพและชีวภาพ เช่น การตื้นเขินของทะเลสาบจากตะกอนชายฝั่ง มลภาวะจากธาตุอาหารพืช 

รวมถึง ภาวะการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของแพลงก์ตอนพืชและสาหร่ายในแหล่งน้ำจืด การก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ การเกิดมลพิษในน้ำและดินในทะเลสาบ การลดลงของสัตว์น้ำที่เป็นอาหารของโลมา การเจ็บป่วยตามธรรมชาติ

อีกทั้ง การไม่สามารถอพยพเคลื่อนย้ายแลกเปลี่ยนความหลากหลายของสายพันธุ์กับโลมาอิรวดีกลุ่มอื่นได้ ทำให้เกิดการผสมสายพันธุ์เลือดชิด เป็นผลให้ลูกโลมามีความอ่อนแอ การวางแผนอนุรักษ์และขยายพันธุ์โลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา จึงเป็นอีกเรื่องเร่งด่วนที่กระทรวงฯ จะต้องมีมาตรการทั้งในระยะสั้น และระยะยาวในการดูแล 

 

  • เตรียมพร้อมเปิดแหล่งท่องเที่ยว รับเปิดประเทศ      
     

"โลมาอิรวดี อาศัยอยู่5 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย พม่า กัมพูชา และประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีจำนวนเหลือน้อยที่สุด ดังนั้น ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ให้ช่วยกันอนุรักษ์ เหมือนเช่นชาวบ้านเกาะลิบง จ.ตรัง ที่ได้ร่วมอนุรักษ์พะยูน และทำให้พะยูนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอีกทั้งกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้แก่คนในพื้นที่ ซึ่งการฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และสัตว์ทะเล ต้องคำนึงถึงความอยู่รอด อาชึพของชาวบ้าน ชาวประมงในพื้นที่ด้วย" นายวราวุธ กล่าว 

สำหรับความพร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยว ภายใต้นโยบายเปิดประเทศ รมว.ทส. กล่าวว่า ยังคงปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด มีข้อกำหนด เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติในการเข้าชมและเข้าใช้สถานที่ รวมถึงข้อห้ามต่างๆ  

ตลอดจนจำกัดปริมาณนักท่องเที่ยวที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ เน้นย้ำเรื่องความสะอาดและการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี บุคลากร/เจ้าหน้าที่ ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา

ดูแลความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง คำนึงถึงการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีจุดบริการเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยขอให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ ไปเที่ยวอย่าง “นักท่องเที่ยว ที่มีใจเป็นนักอนุรักษ์” ปฏิบัติตามกฎระเบียบต่าง ๆ ของสถานที่แต่ละแห่ง เพื่อร่วมกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์