รู้จัก "ไข้มาลาเรีย" ชนิดโนวไซ จาก "ลิง" สู่ "คน" พบผู้ป่วยแล้วกว่า 70 ราย

รู้จัก "ไข้มาลาเรีย" ชนิดโนวไซ จาก "ลิง" สู่ "คน" พบผู้ป่วยแล้วกว่า 70 ราย

"โรคไข้มาลาเรีย" นับเป็นอีกหนึ่งปัญหาด้านสาธารณสุข ไทยตั้งเป้าหมายปลอดจากโรคไข้มาลาเรียภายในปี 2567 ขณะที่ล่าสุด กรมควบคุมโรค ได้ออกมาเตือน โรคไข้มาลาเรีย ที่ติดต่อจากลิงสู่คน โดยยุงก้นปล่องเป็นตัวนำเชื้อ

"โรคไข้มาลาเรีย" ที่ยังเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญ โดยเฉพาะบริเวณป่าเขาและชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน การควบคุมโรคไข้มาลาเรียที่ผ่านมาดำเนินการได้ผลดี จึงมีการยกระดับสู่การกำจัดโรคไข้มาลาเรีย (malaria elimination)

 

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดเป้าหมายการกำจัดโรคไข้มาลาเรีย ภายใต้ยุทธศาสตร์มาลาเรียแห่งชาติ พ.ศ.2560-2569 ให้ประเทศไทยปลอดจากโรคไข้มาลาเรียภายในปี 2567

 

รู้จัก มาลาเรียโนวไซ

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรค ได้เผยข้อมูลของ โรคไข้มาลาเรีย ชนิด “โนวไซ” (Plasmodium knowlesi) เป็น "โรคไข้มาลาเรีย" ที่ติดต่อจากลิงสู่คน โดยยุงก้นปล่องกัดลิงที่มีเชื้อแล้วมากัดคน ปัจจุบันยัง ไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนว่ายุงสามารถนำเชื้อจากคนสู่คนได้ ลิงที่เป็นสัตว์รังโรคในไทย ได้แก่

  • ลิงกัง
  • ลิงวอก
  • ลิงเสน
  • ลิงแสม
  • ลิงอ้ายเงี๊ยะ

 

ปี 2565 พบผู้ป่วยแล้วกว่า 70 ราย

 

สำหรับในประเทศไทย พบผู้ป่วยครั้งแรกเมื่อปี 2547 และพบปีละประมาณ 10 รายมาตลอด แต่ในครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2565 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 - 31 มีนาคม 2565 พบผู้ป่วยไข้มาลาเรียจากเชื้อชนิดนี้แล้ว 70 ราย โดยจังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ จังหวัดระนอง สงขลา และตราด

 

อาการเป็นอย่างไร 

 

ผู้ที่มีประวัติสัมผัสลิงในป่าในพื้นที่จังหวัดดังกล่าว แล้วมีอาการ ดังนี้

  • ไข้สูง
  • ปวดศีรษะ
  • หนาวสั่น
  • เหงื่อออกมาก

ขอให้รีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อเจาะเลือดตรวจหาเชื้อมาลาเรีย และแจ้งประวัติเข้าป่า เพื่อให้การรักษารวดเร็ว เพราะหากช้าอาจจะมีอาการแทรกซ้อนร้ายแรงและเสียชีวิตได้

 

การป้องกัน

 

สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง หรือผู้ทำงานในป่า นักท่องเที่ยว ควรป้องกันตนเอง ดังนี้

  • ไม่ให้ยุงกัด
  • สวมเสื้อผ้าให้มิดชิด
  • ทายากันยุง
  • นอนในมุ้ง

การตรวจหาเชื้อโรคไข้มาลาเรีย

 

เชื้อมาลาเรีย เป็นเชื้อโรคที่มีขนาดเล็กมาก ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า จึงต้องตรวจหาเชื้อโดยใช้กล้องจุลทรรศน์หรือตรวจหาสารภูมิต้านทานของเชื้อ โดยใช้ชุดตรวจหาเชื้อมาลาเรียสําเร็จรูป

 

นอกจากนี้ เชื้อมาลาเรียชนิดพีเอฟ เมื่อป่วยแล้วรักษาไม่ทัน อาจทําให้ตายได้ ดังนั้นผู้ป่วยมาลาเรียทุกราย จะต้องได้รับการตรวจและให้ยารักษาตามชนิดของเชื้อมาลาเรียโดยเร็วที่สุด

 

  • สถานที่ให้บริการตรวจรักษาโรคไข้มาลาเรีย มีดังต่อไปนี้
  • มาลาเรียชุมชน (ตั้งในหมู่บ้านที่มีการแพร่เชื้อมาลาเรีย)
  • มาลาเรียคลินิก (มักตั้งในชุมชน หรือที่หน่วยควบคุมโรคติดต่อนําโดยแมลง)
  • โรงพยาบาล และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)
  • โรงพยาบาลคณะเวชศาสตร์เขตร้อน กรุงเทพมหานคร

 

นอกจากนี้ สามารถขอคําแนะนําเรื่องโรคไข้มาลาเรียและการตรวจรักษา ได้ที่อาสาสมัครสาธารณสุขและอาสาสมัครมาลาเรีย รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก 

ผู้ป่วยกว่า 51% ทำสวน หรือ ทำไร่

 

ทั้งนี้ เมื่อย้อนดู สถานการณ์ "โรคไข้มาลาเรีย" ในประเทศไทย พบว่า ลดลงอย่างต่อเนื่อง ในปี 2562 พบจำนวนผู้ป่วย 5,934 ราย (อัตราป่วย 0.88 ต่อประชากรพันคน) เป็นผู้ป่วยมาลาเรียชนิดเชื้อไวแวกซ์ร้อยละ  84 และชนิดเชื้อฟัลซิปารัมร้อยละ 13

 

ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเพศชาย (ร้อยละ 68)  อายุมากกว่า 15 ปี (ร้อยละ 72) มีอาชีพทำสวนหรือทำไร่ (ร้อยละ 51) มีผู้ป่วยเป็นนักเรียนในสัดส่วนมาก (ร้อยละ 29)

 

จังหวัดที่พบผู้ป่วยจำนวนมาก คือ ตาก (1,646 ราย) ยะลา (1,550 ราย) และกาญจนบุรี (425 ราย) ผู้ป่วยส่วนใหญ่ติดเชื้อในพื้นที่ประเทศไทย (ร้อยละ 70)

 

ส่วนผู้เสียชีวิตจากโรคไข้มาลาเรียยังพบทุกปี แต่ได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2540 มีผู้เสียชีวิตประมาณ 300 ราย ข้อมูลล่าสุด พ.ศ. 2561 มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคไข้มาลาเรีย 15 ราย โดยมีผู้เสียชีวิตอยู่ในจังหวัดตากถึง 7 ราย

 

อ้างอิง : กรมควบคุมโรค