เปิดนโยบาย “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” ความท้าทายผู้ว่ากรุงเทพฯคนใหม่

เปิดนโยบาย “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” ความท้าทายผู้ว่ากรุงเทพฯคนใหม่

เปิดนโยบาย ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เสนอแก้ปัญหาต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวทำอย่างไรไม่ให้ผู้บริโภคต้องแบกรับภาระค่าโดยสาร

ในช่วงนี้ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ลงพื้นที่หาเสียงกันอย่างคึกคัก แต่ความดุเดือดอยู่ที่นโยบายของผู้สมัครว่าที่ผู้ว่ากรุงเทพฯ ซึ่งทุกคนต่างหยิบยกประเด็นปัญหาใหญ่ของ กทม.ที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ตั้งแต่ ขยะ น้ำท่วม ฝุ่นPM2.5  

แต่ความท้าทายใหญ่ที่ผู้ว่ากรุงเทพมหานครคนใหม่ต้องเข้ามาบริหาร คือการพิจารณาต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ผู้บริโภคที่จะหมดสัญญาในปี 2572  ได้ประโยชน์ในเรื่องราคาค่าโดยสารในราคาถูกและเป็นธรรมที่สุด เพราะที่ผ่านมาการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว กลายเป็นมหากาพย์ความขัดแย้งระหว่างกระทรวงคมนาคมและกระทรวงมหาดไทยมานานกว่า 3 ปี นับจากปี 2562

แม้กทม.โดยกระทรวงมหาดไทยจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อสัญญามาแล้วไม่ต่ำกว่า 4 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 แต่ 7 รัฐมนตรีสังกัด พรรคภูมิใจไทย พร้อมใจกันลาประชุม และตั้งข้อสังเกต 4 ประเด็น ให้กระทรวงมหาดไทยตอบคำถาม และค่อยนำกลับมาให้ ครม.พิจารณาใหม่อีกครั้ง

กระทั่งขณะนี้ คณะรัฐมนตรียังไม่พิจารณาต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีออกมาให้สัมภาษณ์ว่า "บางอย่างมันก็เกินเลยที่รัฐบาลจะลงไปยุ่งเกี่ยวข้างล่าง มีคณะกรรมการทำมามากมาย ก็เป็นเรื่องของคณะกรรมการทำมาตามกฎหมาย มีการรับรองต่างๆ จากฝ่ายกฎหมายก็ว่าไป สิ่งสำคัญที่สุดที่เดือดร้อนคือประชาชน

การให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรี ทำให้ตีความได้ว่าเป็นการส่งสัญญาณการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ต้องรอผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่มาร่วมพิจารณา

ความท้าทายของผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ จึงไม่พ้นการแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งลองมาไล่เลียงนโยบายของผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ว่าแต่ละคนมีแนวทางในการเสนอแก้ปัญหาอย่างไรบ้าง

เริ่มจาก ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ในนามอิสระเบอร์ 8 ระบุว่า จะไม่มีการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้เอกชน แต่ใช้วิธีเจรจากับเอกชนต่อปัญหาภาระหนี้ค่าจ้างเดือนรถ

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายโอนสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือรถไฟฟ้า BTS ที่เหมือนเส้นเลือดใหญ่ ให้กับกระทรวงคมนาคมเป็นผู้รับไปดูแลบริหารจัดการ โดยมีเงื่อนไขกระทรวงคมนาคมจะต้องทำยังไงก็ได้ให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าต่ำกว่า 25-30 บาท

ขณะเดียวกัน ต้องสร้างระบบเส้นเลือดฝอย โดยต้องเอาจริงเอาจังกับการทำระบบฟีดเดอร์ หรือระบบการเดินทางเชื่อมต่อจากรถไฟฟ้า ทั้งรถเมล์-วินมอเตอร์ไซค์-เรือโดยสาร

ขณะที่ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 1 พรรคก้าวไกล พร้อมเปิดกุญแจไขตู้ นำสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวออกมาตีแผ่ให้สาธารณะรับรู้ และค้านต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ผลักดัน ‘ตั๋วร่วม’ 15-45 บาทตลอดสาย

นอกจากนี้ จะเดินหน้าลดค่าครองชีพด้วยค่าเดินทางที่ทุกคนจ่ายไหว สร้าง ‘ตั๋วคนเมือง’ ซื้อตั๋ว 70 บาท ใช้ได้ 100 บาท สนับสนุนให้คนหันมาใช้รถเมล์ใน กทม. เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจตามเส้นทางเดินรถด้วย

ด้าน สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เบอร์ 4 พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว และเห็นว่า อัตรารถไฟฟ้าสายสีเขียว ตลอดสายในอัตรา 20 - 25 บาท สามารถผลักดันนโยบายให้เกิดขึ้นจริงได้โดยออกพันธบัตร โครงสร้างพื้นฐานเพื่อระดมทุนมาแก้ภาระหนี้ รวมทั้งการนำค่าโดยสารมาแก้ปัญหาหนี้ของกทม. ตลอดจนค่าจ้างเดินรถในอนาคต

ส่วนม้านอกสายตาที่อาจจะเป็นม้ามืดอย่าง รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. หมายเลข 7 ประกาศชัดเจนตั้งแต่วันแรกคือ ไม่ต่อสัมปทานบีทีเอส และควรโอนรถไฟฟ้าไปให้ รฟม.ดูแลเพื่อให้รัฐเป็นหน่วยงานกลาง และสามารถกำหนดราคาค่าโดยสารได้ และมีระบบตั๋วใบเดียว ราคาไม่ควรเกิน 44 บาท สามารถเดินทางทั่วกรุงเทพ

ขณะที่ สกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 3 ชู “กรุงเทพฯ ดีกว่านี้” ด้วยนโยบาย 6 ด้าน ด้านที่ 1 การจราจรดีกว่านี้ได้ เชื่อมต่อ ล้อ-ราง-เรือ อาทิ รถไฟฟ้าสายสีเทา วัชพล-ทองหล่อ รถไฟฟ้าสายสีเงิน บางนา-สุวรรณภูมิ ระบบนำส่งผู้โดยสารไปยังรถไฟฟ้า ฟรีทั่วกรุง (Feeder) ATC (Actual Traffic Control) AI สัญญาณไฟจราจร เดินเรือไฟฟ้า EV ได้แก่ 1. คลองแสนแสบส่วนต่อขยายเข้าเมือง 2. คลองลาดพร้าว 3. คลองเปรมประชากร

น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 11 เสนอตัวเข้ามาแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวให้รถไฟฟ้ามีราคาเป็นธรรม พร้อมผลักดันให้เกิดตั๋วร่วมใบเดียวให้กับประชาชน

ขณะที่ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม. ที่ลงสมัครชิงเก้าอี้อีกครั้งเพื่อต้องการให้กรุงเทพฯ ไปต่อ มีนโยบายขยายสัมปทานสายสีเขียวให้กับเอกชน โดยยกร่างสัญญาร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ให้กับ บีทีเอสซีในฐานะผู้รับสัมปทานแต่ปัจุบันเรื่องยังยืดเยื้อ เนื่องจากกระทรวงคมนาคม และภาคสังคม ไม่เห็นด้วยโดยเฉพาะค่าโดยสารที่ยังมองว่าสูงเกินไป ที่อัตรา 65 บาทตลอดสาย และอาจกลายเป็นภาระประชาชนผู้ใช้บริการในระยะยาว

นอกจากนี้ จะผลักดันให้เกิดระบบตั๋วใบเดียว เพราะในช่วงที่ดำรงตำแหน่งพยายามผลักดันยังเกิดขึ้นไม่ได้เพราะมีเจ้าภาพหลายคน 

กล่าวโดยสรุปหัวใจของการแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว คือทำอย่างไรให้การต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวโปร่งใสเป็นธรรม และไม่ผลักภาระค่าโดยสารให้กับผู้บริโภค ซึ่งทั้งหมดคือความท้าทายของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ว่า นโยบายใครจะโดนใจคนกทม.มากที่สุด