ดร.อสมา ซีอีโอ Coraline บริษัท Big Data สานฝันไทยก้าวทันต่างชาติ

ดร.อสมา ซีอีโอ Coraline บริษัท Big Data สานฝันไทยก้าวทันต่างชาติ

ด้วยความฝันที่อยากให้ประเทศไทยก้าวทันต่างชาติในด้านเทคโนโลยีข้อมูล ดร.อสมา กุลวานิชไชยนันท์ หรือ ดร.แป้ง CEO & Co-Founder บริษัท Coraline จึงพยายามทุ่มเทสร้างบริษัทและทีมงานที่เชี่ยวชาญด้านระบบ Big Data , AI และ Machine Learning โดยได้ใช้ประสบการณ์ที่ทำงานจริงจากประเทศสหรัฐอเมริกา นำมาพัฒนาต่อยอดในการสร้างระบบ Big Data ที่เป็นเอกลักษณ์และเหมาะสมกับองค์กรไทย

ดร.แป้งเป็นคนแรกๆ ที่พูดถึงคำว่า Big Data และเป็นคนอธิบายลักษณะการทำงานของ Data Scientist ได้อย่างเห็นภาพ จากกระทู้ “เมื่อฉันเป็น Data Scientist” ที่เขียนเมื่อปี พ.ศ. 2559 นอกจากนี้ ดร.แป้งยังมีผลงานหนังสือ Big Data Series I, II, III ที่ขายได้กว่า 30,000 เล่ม เป็น Best Seller ยาวนานถึง 3 ปี

 

ดร.แป้งเล่าถึงจุดเริ่มต้นของบริษัท Coraline

แรงบันดาลใจของดร.แป้ง เกิดขึ้นจากการที่ได้ไปทำงานในองค์กรขนาดใหญ่ของไทย และพบว่าส่วนใหญ่การลงทุนด้าน IT และ Data จะเป็นการซื้อระบบสำเร็จรูป ซึ่ง ณ ตอนนั้นดร.แป้งได้พยายามอธิบายผู้บริหารให้ทราบถึงความเสี่ยงและจุดอ่อนของระบบ Software แต่ไม่เป็นผล จนในท้ายที่สุดระบบนั้นก็ไม่สามารถใช้งานได้ตามที่ควรจะเป็น ซึ่งหลังจากนั้นดร.แป้งได้แสดงความสามารถในการพัฒนาระบบ Data Analytics Platform ขึ้นมาทดแทน

ดร.อสมา ซีอีโอ Coraline บริษัท Big Data สานฝันไทยก้าวทันต่างชาติ

จากวันนั้นทำให้พบว่าปัญหาเรื้อรังในวงการ IT ของไทย ตรงที่ เราพึ่งพาระบบสำเร็จรูปจากต่างประเทศมากจนเกินไป จนกระทั่งเราไม่เปิดโอกาสในเกิดการพัฒนาภายใน และนั้นเป็นการปิดโอกาสให้คนที่มีศักยภาพได้แสดงความสามารถ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ สุดท้ายประเทศไทยก็จะเป็นเมืองขึ้นด้านระบบ IT ของต่างประเทศ

ดร.แป้งจึงเริ่มต้นจากการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบ Big Data ของคนไทย ความเป็นจริงแล้วโครงการ Big Data ควรเกิดจากการระบุปัญหา ก่อนที่จะมองหา Technology ที่เหมาะสม ซึ่งเทคโนโลยีนั้น ต้องสามารถเข้ากันกับชุดข้อมูลที่เราจะใช้งาน ระบบจะต้องเข้ากับ Data ที่มี ดังนั้นโครงการ Big Data จึงไม่เหมือนกับโครงการ IT โดยทั่วไป ที่ซื้อระบบมาลงแล้วต้องพยายามทำตัวให้เข้ากับระบบ

 

ปัญหาจากการซื้อระบบมาเชื่อมต่อกับระบบภายในองค์กร

ดร.แป้งเล่าว่า “ปัญหาที่พบเห็นทั่วไป คือ การที่ข้อมูลไม่เชื่อมโยงกัน บ่อยครั้งที่เราจะเห็นการสร้าง Application เพื่อเก็บข้อมูล จนกลายเป็นภาระของผู้ใช้งาน ที่เป็นเช่นนั้นเพราะข้อมูลเก่าอยู่ในระบบที่ไม่สามารถนำมาใช้งานได้ ยิ่งไปกว่านั้น ข้อมูลที่อยู่กันอย่างกระจัดกระจาย ต่างมีโครงสร้างที่ไม่เหมือนกัน ทำให้ยากต่อการนำมาเชื่อมโยงกัน เมื่อเป็นเช่นนั้นแทนที่เราจะมีข้อมูลที่ถือเป็นทรัพยากรที่มีค่า กลายเป็นว่าเรากำลังเก็บขยะที่ไม่ได้ใช้งานเอาไว้โดยไม่รู้ตัว

ดร.อสมา ซีอีโอ Coraline บริษัท Big Data สานฝันไทยก้าวทันต่างชาติ

ปัญหานี้เป็นปัญหาต่อเนื่องจากการซื้อระบบสำเร็จรูป โดยที่ไม่เข้าใจโครงสร้างการบริหารข้อมูลภายในระบบ  อาจเป็นเพราะ ณ วันที่ซื้อระบบ ไม่ได้คำนึงถึงการนำข้อมูลออกไปใช้นอกระบบก็เป็นได้ และเมื่อต้องนำข้อมูลจากหลายๆ แหล่งมาใช้งานร่วมกัน ก็ต้องมีนักพัฒนาเป็นผู้ออกแบบวิธีในการเชื่อมโยง ไม่มีระบบสำเร็จรูปใดทำงานตรงนี้ได้

หลายคนยังแยกไม่ออกระหว่างโครงการ Digital Transformation กับ โครงการ Big Data กล่าวคือ โครงการ Digital Transformation จะเป็นที่การเปลี่ยนแปลงวิธีทำงาน โดยใช้เทคโนโลยี Digital เข้ามาช่วย เช่น การใช้ระบบ HR ทดแทนการกรอกขอ OT ด้วยกระดาษ การลงระบบ Inventory แทนที่การบริหารสินค้าในคลังด้วยการจดบันทีก เป็นต้น ดังนั้น ข้อมูลที่อยู่ในระบบ Digital จะเป็น Data Source อย่างหนึ่ง ในขณะที่โครงการ Big Data จะเป็นการนำข้อมูลจากหลายๆ Soure ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

 

องค์กรควรเลือกใช้ระบบอย่างไรจึงจะเหมาะสม?

“Platform สำเร็จรูปถูกออกแบบมาตายตัว เหมาะกับโจทย์ที่มีความคล้ายคลึงกัน เช่น ระบบบัญชี ระบบ ERP เป็นต้น ในขณะที่การสร้างระบบตามโจทย์ลูกค้าจะเหมาะกับโจทย์ที่ผู้ใช้งานต้องการเป็นพิเศษ และต้องการ Solution ที่ไม่ซ้ำกับใครโดยเฉพาะคู่แข่ง ตัวอย่างเช่น ถ้าแต่ละธนาคารมีสูตรในการคำนวณ Credit Scoring ที่เหมือนกัน แล้วจะเกิดการแข่งขันได้อย่างไร เพราะฉะนั้นแต่ละธนาคารจึงพยายามมองหา Solution ที่แตกต่างกัน เป็นต้น

ยิ่งเป็นโครงการของภาครัฐ ยิ่งต้องไม่เหมือนใคร เพราะจะหาระบบสำเร็จรูปจากไหนที่เหมือนกันมาใช้งาน จึงจำเป็นพัฒนาเอง แต่การพัฒนาเองมีข้อจำกัดอยู่ที่ว่า ผู้ใช้งาน หรือ เจ้าของโครงการ ต้องเป็นหนึ่งในทีมพัฒนา ทำหน้าที่ในการชี้แจงความต้องการและประเมินผลลัพธ์ แต่ด้วยภาพจำที่ว่าโครงการ IT คือ โครงการจัดซื้อ จึงทำให้การพัฒนาโครงการต่างๆ เป็นไปได้ยาก

อีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้โครงการ Big Data ไม่ค่อยประสบความสำเร็จในหน่วยงานภาครัฐ ก็เพราะการจัดซื้อ กับการจัดจ้างมีความต่างกัน กล่าวคือ จัดซื้อจะมีการส่งมอบระบบตามที่กำหนด มักจะเป็นระบบที่ได้รับการพัฒนามาแล้ว เหลือเพียงนำมาประกอบเพื่อการส่งมอบ ในขณะที่จัดจ้าง จะเป็นการจ้างเพื่อพัฒนาระบบ โดยที่ยังไม่มีระบบนั้นมาก่อน ทำให้การจัดจ้างจะมีความเสี่ยงมากกว่าการจัดซื้อ

ดร.อสมา ซีอีโอ Coraline บริษัท Big Data สานฝันไทยก้าวทันต่างชาติ

ความท้าทายของการผลักดันโครงการ Big Data จึงเป็นการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่ วิธีการจัดซื้อ-จัดจ้าง การออกแบบโครงการ การพัฒนาโครงการ จนไปถึงการพัฒนาบุคลากรด้าน IT ภายในประเทศ  เรียกได้ว่า จำเป็นต้องแก้ไข ตั้งแต่ด้านนโยบายขององค์กรไปถึงด้านการพัฒนาการศึกษากันเลยทีเดียว" 

ดร.แป้ง ผู้ซึ่งอยู่ในวงการ Big Data มากว่า 10 ปี เชื่อว่าเราต้องเร่งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ในคำว่า Big Data เพราะถ้าเราเข้าใจกันถูกต้อง สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ “งาน” และการ “พัฒนา” ไม่รู้จบ ผลลัพธ์ที่ได้ จะคืนกลับมาเป็นคุณภาพชีวิตของเราทุกคน เพราะเราจะสามารถเข้าถึง “ทรัพยากร” ที่มีค่า นั่นคือ “ข้อมูล” นั่นเอง