‘การทูตดิจิทัล’ ช่วยฟื้น ศก.ในยุคโควิด

‘การทูตดิจิทัล’ ช่วยฟื้น ศก.ในยุคโควิด

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) เป็นสิ่งท้าทายต่อภารกิจด้านการต่างประเทศของไทยในทุกมิติ ตั้งแต่การเชื่อมความสัมพันธ์ การเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ตลอดจนการดูแลคนไทย และรักษาผลประโยชน์ประเทศ แต่ในทางตรงกันข้ามโควิด-19 ก็เป็นสิ่งเร่งเร้าให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบเกิดเร็วขึ้น

แล้วการทูตยุคดิจิทัลต้องทำงานเชิงรุกอย่างไร เพื่อเป็นส่วนสำคัญฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยในยุคระบาดไวรัส ต้องไปฟัง "ดอน ปรมัตถ์วินัย" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผู้รับผิดชอบงานด้านเศรษฐกิจ และกระชับสัมพันธ์กับต่างชาติ ว่า ในช่วง 11 เดือนที่มีการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ผ่านมา ทำให้ภารกิจในต่างประเทศ ทั้งการพบปะและการเยือนต้องระงับลงชั่วคราว รูปแบบการติดต่อสื่อสารกับต่างชาติต้องแตกต่างไปจากเดิม เปลี่ยนเป็นการพบปะทางออนไลน์ และประชุมผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอร์เรนซ์ ทั้งแบบทวิภาคีและพหุภาคี ดั่งจะเห็นว่า เทคโนโลยีกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ในชีวิตสร้างการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4

‘การทูตดิจิทัล’ ช่วยฟื้น ศก.ในยุคโควิด

"ถ้าไม่มีโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงไปสู่เทคโนโลยีก็คงเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปและไม่เห็นชัดเจนอย่างที่เป็นอยู่ นับตั้งแต่พบการแพร่ระบาดโควิด-19 มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลติดต่อสื่อสารเพื่อทางการทูตมากที่สุด และเป็นส่วนหนึ่งในการต่างประเทศทำให้การทำงานไม่สะดุด แต่ยอมรับว่า การพบปะแบบเห็นหน้าค่าตา (Physical Contact) ย่อมดีกว่า" รองนายกฯ กล่าว

เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา หวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศจีน ได้เยือนประเทศไทย ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ประเทศของภูมิภาคอาเซียนที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มการเยือนเป็นอันดับแรก หลังสถานการณ์โควิด-19 ในจีนได้คลี่คลายลง โดยรองนายกดอนชี้ว่า การเยือนนี้สะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนที่แน่นแฟ้น นำไปสู่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ให้รุดหน้า อาทิ การเชื่อมโยงผ่านโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กับเขตอ่าวกวางตุ้ง - ฮ่องกง - มาเก๊า แม้จะมีการระบาดโควิด-19 ก็ไม่เป็นอุปสรรค นอกจากนี้ ยังร่วมกันส่งเสริมให้วัคซีนต้านโควิด-19 เป็นสินค้าสาธารณะ และกระจายอย่างทั่วถึง เพื่อให้ทุกประเทศสามารถได้รับวัคซีนอย่างเท่าเทียม

งานด้านการต่างประเทศที่โดดเด่นและเห็นชัดเจนที่สุดในระยะที่ผ่านมา เป็นเรื่องความร่วมมือป้องกันและรับมือกับการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งกลายเป็นประเด็นระดับโลกที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยในทุกเวทีระหว่างประเทศ และยังสร้างการรับรู้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากไวรัส ทำให้เห็นพ้องต้องกันว่า ทุกประเทศต้องช่วยกัน ไม่เพียงแต่แก้ไขปัญหา แต่ต้องป้องกันไม่ให้ปัญหาลุกลามไปในอนาคตข้างหน้า ตามที่เห็นว่า มีการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อจัดการกับการแพร่ระบาด

สำหรับประเทศไทย เป็นประเทศกำลังพัฒนาที่สามารถรับมือกับโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามที่มีเสียงสะท้อนจากต่างชาติได้ชื่นชมและจัดให้เป็นประเทศที่เสี่ยงแพร่ระบาดไวรัสชนิดนี้ในเกณฑ์ต่ำ แม้ในบางแง่มุมไทยได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับทั่วโลก โดยเฉพาะมิติทางเศรษฐกิจ อันเป็นผลจากการมาตรการล็อกดาวน์ในช่วงที่ผ่านมา การจำกัดการเดินทาง และการบินหยุดชะงัก แต่ไม่ได้หมายความว่า การดำเนินนโยบายการต่างประเทศจะหยุดนิ่งไปด้วย สุดท้ายก็ต้องหาแนวทางฟื้นฟูปัญหาเหล่านี้ 

"อยากให้มองเป็นโอกาสทอง ท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นสร้างสรรค์ประโยชน์ ในการใช้ภาพลักษณ์ไทยที่เป็นบวก มาช่วยต่อยอดให้ธุรกิจในประเทศ โดยเฉพาะไทยสามารถรับมือสถานการณ์แพร่ระบาด มีผู้ติดเชื้อไม่สูง และจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาหายมีจำนวนมาก ซึ่งช่วยผลักดันให้ไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการแพทย์และสาธารณสุขในภูมิภาคและระดับโลก" รองนายกดอนกล่าว และยังชี้ว่า นี่เป็นโอกาสให้ไทยสร้างความสัมพันธ์ที่หลากหลายและความร่วมมือกับต่างชาติมากขึ้น ทั้งในด้านการเมือง ความมั่นคง การค้าการลงทุน เศรษฐกิจ และในด้านต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

กระทรวงการต่างประเทศ พร้อมเป็นหัวหอกสำคัญในการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ในมิติด้านการต่างประเทศ ปี 2561- 2580 หรือ “การต่างประเทศ 5s/ 5มี” ในยุคโควิด-19 ประกอบด้วย 1.Security - มีความมั่นคง 2.Sustainability - มีความมั่งคั่ง ยั่งยืน 3.Standard - มีมาตรฐานสากล 4. Status - มีสถานะและเกียรติภูมิ และ 5.Synergy - มีพลัง เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ชูสถานะประเทศไทยในเวทีโลก และส่งเสริมความมั่นคงด้านสุขภาพ

รองนายกดอนกล่าวว่า กระทรวงฯได้ดำเนินนโยบายการต่างประเทศ ในช่วงที่บริบทโลกได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แบ่งออกเป็น 1) ด้านความมั่นคง การเสริมสร้างความร่วมมือกับมหาอำนาจอย่างสมดุล กระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือกับประเทศที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์อื่น ๆ ในช่วงที่สถานการณ์ระหว่างขั้วมหาอำนาจมีความตึงเครียดมากขึ้น โดยร่วมมือกับอาเซียนเพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้เข้มแข็ง รวมทั้งดำเนินการเชิงรุกเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งในกรอบอาเซียนและในกรอบพหุภาคีในการต่อสู้กับโควิด-19

2) ด้านการสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ จะใช้แนวทางการขับเคลื่อนการทูตเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยกับเศรษฐกิจภูมิภาค และอนุภูมิภาค ส่งเสริมความร่วมมือในกรอบลุ่มน้ำโขง ดึงดูดนักลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายมาลงทุนในประเทศไทย ยกระดับการท่องเที่ยวเป็นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ สร้างความร่วมมือในด้านความมั่นคงทางอาหาร และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพกับต่างประเทศ

3) ด้านมาตรฐานสากล ควรทบทวนปรับปรุงกฎหมายและมาตรการต่าง ๆ ภายในประเทศให้ทันสมัยและสอดคล้องกับสากล และอนุวัตพันธกรณีระหว่างประเทศ ร่วมกันขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ซึ่งในปีที่ผ่านมาไทยมีผลการดำเนินการเป็นลำดับที่หนึ่งในกลุ่มประเทศอาเซียน

4) ด้านการเสริมสร้างสถานะและเกียรติภูมิของไทย สามารถนำความสำเร็จของไทยด้านสาธารณสุขในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศ ไปต่อยอดสร้างความร่วมมือทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี และเสริมสร้างบทบาทไทยในเวทีระหว่างประเทศ ให้ไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นสมาชิกที่รับผิดชอบของประชาคมโลก และมีความโดดเด่นในด้านการทูตละมุน (a champion of soft power diplomacy)

นอกจากนี้ ได้ใช้แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมาเป็นข้อมูลปรับใช้ในการดำเนินงานของไทย เพื่อจัดการการแพร่ระบาดและหยุดยั้งภัยคุกคามจากโควิด-19 รวมไปถึงแสวงหาประโยชน์ ความร่วมมือด้านการวิจัยยารักษา และพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ตลอดจนการแบ่งปันเวชภัณฑ์ระหว่างกัน

นายดอน กล่าวในตอนท้ายว่า สถานเอกอัครราชทูต กงสุลใหญ่ไทยทั่วโลก ได้เป็นด่านหน้าในการดูแลช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด- 19 และยังเป็นทีมไทยแลนด์สร้างโอกาสความร่วมมือกับต่างประเทศ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยในยุคโควิด-19