ปตท.สผ. จับมือกลุ่มประมงพื้นบ้าน ตั้งศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปู

ปตท.สผ. จับมือกลุ่มประมงพื้นบ้าน ตั้งศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปู

พัฒนาวิถีประมงชายฝั่งอย่างยั่งยืน ตั้งเป้าขยายทุกจังหวัดรอบอ่าวไทย

จากปัญหาปริมาณสัตว์น้ำที่ลดลงจากปัจจัยต่างๆ ทั้งถูกจับขายอย่างรวดเร็วเกินกว่าธรรมชาติจะทดแทน การใช้เครื่องมือประมงที่ไม่เหมาะสม ปัญหาคุณภาพน้ำทะเล และการกัดเซาะชายฝั่งตามธรรมชาติ ส่งผลกระทบต่อแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ โดยเฉพาะ “ปู” ซึ่งเป็นสัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ทำให้ชาวประมงมีรายได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง

บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ได้ดำเนินโครงการศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปู ด้วยการริเริ่มพัฒนาองค์ความรู้การเพาะฟักลูกปูขึ้นเมื่อปี 2556 โดยร่วมมือกับกลุ่ม ป.ทรัพย์อนันต์ บ้านหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา สถาบันเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง (NICA) สถาบันทรัพยากรชายฝั่งเอเชีย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีศรีวิชัย จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปูแห่งแรกขึ้นในปี 2558 ที่บ้านหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านการเพาะฟักลูกปู ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและการส่งเสริมการสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้แก่ประมงชายฝั่ง ต่อมา ปตท.สผ. จึงได้ขยายศูนย์ฯ ร่วมกับกลุ่มประมงพื้นบ้านในพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดสงขลา ปัตตานี และนครศรีธรรมราช

ปตท.สผ. จับมือกลุ่มประมงพื้นบ้าน ตั้งศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปู

ปตท.สผ. จับมือกลุ่มประมงพื้นบ้าน ตั้งศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปู

นายปิยะ สุขุมภาณุเมศร์ รักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานทรัพยากรบุคคล กิจการองค์กรและกำกับดูแล ปตท.สผ. กล่าวว่า ปตท.สผ. ซึ่งมีการดำเนินธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย ตระหนักถึงความสำคัญของการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล และส่งเสริมการสร้างรายได้ให้แก่ชาวประมงซึ่งเป็นเหมือนเพื่อนบ้านของเรา จึงได้จัดทำโครงการศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปูขึ้นและขยายเครือข่ายในหลายจังหวัด โดยที่ผ่านมา สามารถเพาะฟักลูกปูและปล่อยคืนสู่ทะเลได้กว่า 2,000 ล้านตัว ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มทรัพยากรสัตว์น้ำให้กับท้องทะเลแล้ว ยังช่วยให้ชาวประมงพื้นบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยครัวเรือนละ 60,000 บาทต่อปี รวมทั้ง สามารถขยายเครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลเพิ่มเป็น 34 เครือข่าย โดยมีสมาชิกประมาณ 1,600 คน ซึ่ง ปตท.สผ. รู้สึกยินดีที่มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและวิถีประมงชายฝั่ง ซึ่งเป็นแนวทางของ ปตท.สผ.ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และส่งเสริมชุมชนให้สามารถเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมๆ กับเรา

ปัจจุบัน ศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปูซึ่ง ปตท.สผ.ได้ร่วมกันจัดตั้งพร้อมกับชุมชน มีจำนวน 5 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปู กลุ่มบ้านหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปู กลุ่มพังสาย อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปู กลุ่มปะนาเระ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี ล่าสุดคือ ศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปู กลุ่มปากน้ำแพรกเมือง อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช และศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปู กลุ่มพังเค็มอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา

ปตท.สผ. จับมือกลุ่มประมงพื้นบ้าน ตั้งศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปู

ปตท.สผ. จับมือกลุ่มประมงพื้นบ้าน ตั้งศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปู

นายอนันต์ มานิล ประธานกลุ่มออมทรัพย์ประมงพื้นบ้านป.ทรัพย์อนันต์ หรือ ลุงนันต์ เล่าว่า ที่ศูนย์เพาะฟักลูกปู กลุ่มบ้านหัวเขา จะมีจุดแข็งในการเพาะฟักลูกปูที่มีอัตราการรอดของปูสูง “เราใช้แม่พันธุ์ปูชั้นดีจากธรรมชาติ และนำน้ำทะเลซึ่งห่างออกไปจากชายฝั่ง 20-25 กิโลเมตรมาใช้ และจะปล่อยลูกปูในระยะซูเอี้ย (zoea) หรือระยะเวลาตั้งแต่ 1-6 วัน จนถึงระยะตัวเต็มวัย (young crab) เท่านั้น ทำให้อัตราการรอดสูงถึงร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับวิธีการอื่น และเพาะฟักได้ทั้งปูน้ำเค็มและน้ำกร่อย เช่น ปูม้า ปูเสือ และปูดำ ด้วยวิธีนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก ตอนนี้ชาวประมงสามารถจับปูได้มากกว่าเดิมหลายเท่าตัว รายได้ก็กลับมาเพิ่มขึ้น”

นายสันติ นิยมเดชา ประธานกลุ่มอนุรักษ์ปูม้าชายฝั่งปากน้ำแพรกเมือง อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ทุกวันนี้ทรัพยากรมีน้อยลง แต่เครื่องมือทำประมงมีจำนวนมาก ไม่สมดุลกัน จึงต้องช่วยกันฟื้นฟูทรัพยากรเพื่อให้ลูกหลานสามารถทำอาชีพประมงได้ต่อไป อาชีพประมงก็จะมั่นคง ครอบครัวมีความสุข อยู่ได้อย่างยั่งยืน

ด้านนายยงยุทธ รอดบุญมี ประธานกลุ่มศูนย์เพาะฟักลูกปูม้าบ้านพังเค็ม อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ปตท.สผ.  เข้ามาช่วยสนับสนุนทุกอย่าง ทำให้สามารถดำเนินการได้ราบรื่น ขอขอบคุณที่ให้ความสำคัญในการฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลให้มีความอุดมสมบูรณ์ ปีนี้สามารถปล่อยปูได้ 10 ล้านตัว จากแม่พันธุ์ประมาณร้อยกว่าแม่ เราต้องช่วยกันเพื่อการฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลเพื่อให้คงอยู่ชั่วลูกชั่วหลานของเรา

นอกจากการเพาะฟักลูกปูแล้ว ปตท.สผ. ยังสนับสนุนการขยายผลไปสู่การเพาะฟักสัตว์น้ำเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น ปลา กุ้ง หอย ที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ด้วย โดยมีเป้าหมายขยายศูนย์การเรียนรู้ฯ และสร้างเครือข่ายอนุรักษ์ฯ ภายใต้โครงการศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ทั้ง 17 จังหวัด รอบอ่าวไทยภายในปี 2567 พร้อมทั้งส่งเสริมการทำแนวเขตอนุรักษ์ชายฝั่งทะเล และการจัดทำบ้านปลาจากวัสดุท้องถิ่น เช่น ต้นโกงกางและกิ่งไม้ ควบคู่ไปด้วย