จูนความสัมพันธ์ในบ้านต้านโควิด สร้างภูมิคุ้มใจ ไม่แพ้ภัย “ซึมเศร้า”

จูนความสัมพันธ์ในบ้านต้านโควิด สร้างภูมิคุ้มใจ ไม่แพ้ภัย “ซึมเศร้า”

ในช่วงที่เราต้องเว้นวรรคอยู่บ้านนาน ๆ เพื่อให้ปลอดโควิด-19 ทั้งประเทศ เมื่อถูกล็อคอยู่กับบ้าน

ใช้ชีวิตอยู่ “ด้วยกัน” ยาวนานแบบ 24 ชั่วโมง อาจนำไปสู่ “เครียดสะสม” จนเลยเลยเถิดไปถึง “ความซึมเศร้า”

แม้ความเศร้า ความเครียดเป็นเรื่องธรรมดาที่ใครก็เป็นได้ แต่เราจะแยกยังไงล่ะ ว่าเราเป็นโรคซึมเศร้า หรือภาวะซึมเศร้า

“หากเป็นครอบครัวที่มีฐานะไม่มีผลกระทบเรื่องเงินทอง หรือเป็นครอบครัวที่มีความสัมพันธ์อยู่แล้ว ช่วงนี้อาจเป็นโอกาสทองที่จะได้ใช้เวลาอยู่ด้วยกันมีกิจกรรมร่วมกัน แต่ในครอบครัวที่พื้นฐานความสัมพันธ์ไม่ได้ดีอยู่แล้ว ยังมีเรื่องปัญหาเศรษฐกิจเข้ามาซ้ำเติมอีก โอกาสเครียดย่อมสูง” ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ความเห็น เธอบอกว่าเมื่อก่อนยังต่างคนมีหน้าที่ภารกิจนอกบ้าน ก็เป็นทำให้ไม่ต้องเผชิญหน้า แต่ตอนนี้ แม้ช่วงแรกสถานการณ์อาจยังดีอยู่ พอสักพักความเครียดก็จะเริ่มมา

ซึ่งข้อมูลในต่างประเทศจีนและฝรั่งเศส มีผลออกมาชัดเจนว่าสถิติความรุนแรงเกิดขึ้นในบ้านชัดเจน หรืออย่างในประเทศไทยเรา ก็พบว่ามีการเพิ่มคู่สายบริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น

อีกหนึ่งหน้าที่ ซึ่งสมาชิกในบ้านอย่างเราๆ จะช่วยได้ คือการคนที่เรารัก หากเขากำลังเข้าข่ายอาการซึมเศร้า   

จูนความสัมพันธ์ในบ้านต้านโควิด สร้างภูมิคุ้มใจ ไม่แพ้ภัย “ซึมเศร้า”

ฉันเป็น​โรคซึมเศร้าหรือไม่

ในมุมของจิตแพทย์อย่าง พญ.ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล โรงเรียนแพทย์อธิบายว่า แพทย์จะแยกการรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โดยการโฟกัสความรุนแรงของโรค โดยเฉพาะหากผู้ป่วยถึงขั้นฆ่าตัวตาย

“หากเป็นภาวะซึมเศร้าทั่วไปแนวโน้มที่ฆ่าตัวตายน้อยมาก แต่ในกลุ่มผู้ป่วยซึมเศร้ามีการศึกษาแล้วมีการฆ่าตัวตายมีความสัมพันธ์กับโรคซึมเศร้าถึง 60%”

สำหรับ ในทางการแพทย์จำเป็นต้องมีเกณฑ์เพื่อแยกให้ได้ว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรืออาการซึมเศร้า เนื่องจากมีผลต่อวิธีการรักษา ซึ่งการสังเกตตนเองนั้น ผศ.พญ.ทานตะวันแนะนำว่า มี 9 อาการที่บ่งชี้ ใน 3 ด้านคือ ด้านอารมณ์​ ที่จะมีอาการ 1. อารมณ์เศร้าหรือหงุดหงิด ซึ่งหลายคนไม่รู้ว่าแท้จริง อารมณ์เศร้ายังสามารถแปลงร่างเป็นความหงุดหงิดได้ 2. อารมณ์ท้อแท้ เบื่อหน่าย แม้แต่เรื่องที่เราเคยชอบ เคยทำ กลับไม่มีความสุข ในด้านพฤติกรรม มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป คือ 3. พฤติกรรมการนอนผิดปกติ ทั้งนอนไม่หลับ หรือนอนมากเกินไป รวมถึงนอนแล้วตื่นเร็วกว่าปกติ 4. พฤติกรรมการกินผิดปกติ คนที่เคยมีความสุขกับการกิน แต่เบื่ออาหารไปหมด หรือบางคนกลับกัน ยิ่งเศร้ายิ่งกิน 5. พฤติกรรมการเคลื่อนไหวผิดปกติ บางคนจะเคลื่อนไหวช้ามากหรือกระวนกระวาย 6. รู้สึกไม่มีแรง เรี่ยวแรงหายไป ด้านความคิด ประกอบด้วย 7. ความคิดเชิงลบ มองและตีความทุกอย่างในเชิงลบ 8. สมาธิความจำแย่ลง 9. คิดอยากตาย

โดยหากมีอาการเหล่านี้ 5 ข้อขึ้นไป และต่อเนื่องสองสัปดาห์ขึ้นไป หรือเริ่มมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต เข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้า

“บางคนเจอสถานการณ์โควิดเหมือนกัน แต่บางคนอาจปรับจิตใจได้ไม่เท่ากัน บางคนปรับได้ บางคนอาจรับไม่ได้ ความเศร้าเขามันลามไปทุกเรื่อง อย่างที่ทราบกันดี โรคซึมเศร้าเกิดจากสามองค์ประกอบที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า คือด้านสารสื่อประสาทในสมอง ด้านจิตใจ และด้านสังคม ซึ่งทุกคนมีโอกาสมีภาวะซึมเศร้าได้ และสามารถหายเองได้ แต่หากปล่อยให้ซึมเศร้าเรื้อรังต่อเนื่องนานๆ ก็จะเข้าสู่ภาวะโรคซึมซึมเศร้าได้ จนมีผลกระทบกับข้างใน”

 

เศร้า เพราะไม่มีใครฟัง

ผศ.พญ.ทานตะวันเสริมว่า เด็กและวัยรุ่นปัจจุบันส่วนใหญ่มีปัญหาการเรียน ครอบครัว ความรัก และอนาคต แต่หากวิเคราะห์จะพบว่าปัญหาของวัยรุ่นมักมีความเกี่ยวโยงกับพ่อแม่ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพราะการเลี้ยงดูมักมีผลต่อทุกเรื่อง จึงมองว่าพ่อแม่มีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหา แต่ร้อยละ 90 เด็กคุยกับพ่อแม่เป็นตัวเลือกสุดท้าย

สมภพ แจ่มจันทร์ นักจิตวิทยาการปรึกษา ผู้ร่วมก่อตั้ง Knowing Mind เสริมว่า เวลาเด็กมีปัญหามักถูกเหมารวมว่าเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งหากถูกวินิจฉัยว่าเป็น ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการรักษาด้วยยา แต่ต้นเหตุปัญหากลับไม่ได้รับการแก้ไข

“ทุกวันนี้ผมจะเข้าไปในทวิตเตอร์ พิมพ์แฮชแท็ก โรคซึมเศร้า เราจะได้พบทุกปัญหาวัยรุ่นในนั้น กรีดแขนโชว์ก็มี”

เขาบอกปัจจุบันสังคมตีความปัญหาทางจิตใจถูกนิยามให้แคบลงโดยซึมเศร้า แต่บางเรื่องที่เรามีปัญหาในจิตใจอย่างอื่น ซึ่งอาจต้องไปดูที่ปัญหาก่อน ซึ่งพอเริ่มที่สมอง มักรักษาด้วยยาเป็นหลัก ไม่มีการหาทางออกด้านอื่น

จูนความสัมพันธ์ในบ้านต้านโควิด สร้างภูมิคุ้มใจ ไม่แพ้ภัย “ซึมเศร้า”

ฟัง แต่ไม่ตัดสิน

มาฟัง ทราย เจริญปุระ ดารานักแสดงที่เคยเผชิญกับภาวะซึมเศร้าด้วยตนเอง ทรายยอมรับว่าเหตุผลหนึ่งเกิดจากเมื่อก่อน เธอก็ไม่เคยพูดถึงความต้องการของตัวเอง  

“ทรายอยู่กับแม่ที่เป็นซึมเศร้า วัยเด็กเราเคยปฏิเสธปัญหาของแม่ ก่อนหน้านั้นคือเราพยายามเป็นเด็กดี ตามใจเขา ไม่เคยขัดใจ และอยู่กับความรู้สึกที่ว่าต้องลูกที่ดี เพราะเขารักเราและเรารักเขา แต่พอถึงจุดหนึ่งที่เรา ไม่ได้แสดงความรู้สึกที่แท้จริง ความกดดันสะสมทำให้กลายเป็นเราป่วยเอง วันหนึ่ง จึงต้องอาศัยความกล้าหาญที่จะบอกเขาว่าสิ่งเหล่านี้เราไม่โอเค มันต้องบอก ไม่งั้นเราจะมีคนป่วยเป็นสองคน”

“นอกจากนี้ ทรายเคยอึดอัดกับวิธีที่แม่ปฏิบัติต่อเรา ถ้าพูดกับคนอื่น อาจจะบอกว่าแต่เขาเป็นแม่เรานะ เขาหวังดีกับเรานะ แต่ตอนที่รับการบำบัด เราโชคดีที่คุณหมอเขารับฟัง แต่ไม่ตัดสินเรา ทำให้เรากล้าที่จะพูด พอได้พูดเราก็เริ่มทำให้เราคอนเน็คท์กับตัวเอง เราไม่เคยพูดความต้องการตัวเอง เพราะมองว่าไร้สาระ”

ซึ่งผลพวงจากการที่เธอออกมาเปิดเผยปัญหาตนเอง ยังทำให้เธอเข้ามีโอกาสเป็นที่ปรึกษาทางใจให้เยาวชนอีกหลายคนที่เผชิญความรู้สึกเดียวกัน

เธอเล่าว่า น้อง ๆ ที่มาคุย ส่วนใหญ่เขาอยากหาคนฟัง เพราะแม้แต่บางครอบครัวก็ไม่ฟัง แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือการช่วยเหลือต้องตั้งต้นที่ความเข้าใจคน ๆ นั้นก่อน

“ไม่ว่าจะเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ในเชิงการแพทย์ แต่ทรายมองว่าสิ่งที่เขาต้องการคือความช่วยเหลือ อาจจะเป็นการรับฟัง การให้ความใส่ใจปัญหาของเขา เราค้นพบว่าน้องหลายคนที่มาคุยกับเรา จะโดนตัดสินไปแล้วว่าเรียกร้องความสนใจ และปัญหาที่เกิดขึ้นคือมันเป็นการสะสมมานาน เราอย่าเพิ่งมองว่าจะทำอย่างไรให้เขาหายซึมเศร้า มันอาจทำให้เราพลาดประเด็นอะไรไป”

 

ฟังเสียงข้างใน

เป็นปกติ ที่คนฟังส่วนใหญ่มักไม่ได้เป็นผู้ฟังอย่างเดียว แต่จะมีการตัดสิน หรือมีคำแนะนำ เพราะความปรารถนาดีอยากให้ลุล่วงปัญหา

แต่ความจริงแล้ว อีกหนึ่งหนทางช่วยเยียวยาจิตใจคนซึมเศร้า คือต้องรู้จัก “ฟัง” เสียงตัวเองภายในเสียก่อน

“ต้องเริ่มจากเราต้องมองเห็นปัญหา ยอมรับว่าปัญหาเป็นปัญหา” ทรายให้ความเห็น “ทรายเพิ่งมายอมรับตัวเองว่า ปัญหาในชีวิตเราคือการรับมือกับความคาดหวังของแม่ เมื่ออายุ 30 กว่านี้เอง”

ส่วน ผศ.พญ.ทานตะวัน กล่าวถึงการทำความเข้าใจกับภาวะ “Lost Connection” หรือการสูญเสียการเชื่อมโยง ที่อาจช่วยให้คนเราเข้าใจความหมายของชีวิตมากขึ้น

“มนุษย์เราต้องการอาหารทั้งกายและใจ  อาหารกายมีห้าหมู่ ส่วนใจมีสิบหมู่ หนึ่งในนั้นคือ Connection  หรือความเชื่อมโยง ซึ่งเราอาจเริ่มจากเชื่อมโยงกับตัวเอง ฟังจากข้างใน ผ่านการทบทวนตัวเอง ค้นหาความหมายความต้องการ เพราะที่ผ่านมา บางคนใช้ชีวิตโดยไม่รู้ความต้องการของตัวเองมาก่อน รวมถึงเชื่อมโยงไปถึงอดีตของเรา จะทำให้เข้าใจตัวเองลึกซึ้งเมื่อความเชื่อมโยงเกิดแล้ว เมื่อเราฟังเสียงภายในเราก็จะมีพลัง ชีวิตมีความหมาย มีแพชชันมากขึ้น” พร้อมเสริมว่า

”นอกจากนี้ มนุษย์จำเป็นต้องเชื่อมโยงกับธรรมชาติ ซึ่งมีผลกับสภาวะจิต หากเราเชื่อมกับปัจจุบันและอดีตได้ดีและเข้าไป เมื่อมองไปข้างหน้าเราก็ทำได้ดี รวมถึงเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เช่นธรรมชาติ”

สมภพ แชร์แนวทางการบำบัดความซึมเศร้าจากประสบการณ์ทำงานของเขาเสริมว่า

“เราชวนเขามาสำรวจทำความเข้าใจแง่มุมต่าง ๆ ภายใน ว่าประเด็นไหนบ้างที่เขาติดขัดและเป็นปัญหา และอะไรคือสิ่งที่เขาต้องการ เวลาที่เราเป็นทุกข์ บางทีมันก็คือโอกาสทบทวนความรู้สึกของเรา ที่จะทำอย่างไรให้เข้าใจตัวเองว่าอะไรคือเราต้องการอะไร ต้องการอะไรจากสังคม อะไรคือสิ่งสำคัญของชีวิต”

จูนความสัมพันธ์ในบ้านต้านโควิด สร้างภูมิคุ้มใจ ไม่แพ้ภัย “ซึมเศร้า”  

ซึมเศร้า กับยาที่ชื่อ “ความเข้าใจ”

ด้าน ผศ.พญ.ทานตะวันเอ่ยว่า ซึมเศร้ามีสามระดับ คือระดับไม่รุนแรง ปานกลาง และรุนแรง  ซึ่งหากรุนแรงจำเป็นต้องใช้ยาช่วย

“แต่เราได้เจอบางคนรับประทานยามาสิบปี โดยไม่ทราบว่ามีทางเลือกอย่างไรบ้าง

ผศ.พญ.ทานตะวัน อธิบายเพิ่มเติมว่า ความเข้าใจของพ่อแม่ทั้งต่อโรคและต่อลูกหลานสำคัญกว่าการนิยามโรค ซึ่งใช้เพียงคำเดียว คือ “ความเข้าใจ” ไม่อยากให้ยึดติดโรค อันนั้นเป็นเรื่องการวินิจฉัยทางการแพทย์

“คุยเขาฟังเขามากขึ้น เพราะทุกพฤติกรรมล้วนมีที่มา แม้จะเป็นโรคนี้อยู่ แต่ขณะเดียวกัน ในเชิงจิตวิทยาเขาก็มีมิติอื่น ๆ ด้วย เช่น บุคลิกภาพ ความชื่นชอบ อารมณ์  บางพฤติกรรมมีนัยที่ลึกกว่านั้น อย่างเช่นการกรีดแขนอาจมาจากภาวะจิตใจที่ไม่เกี่ยวกับโรคซึมเศร้า แต่เขาเหมือนได้ตอบสนองจิตใจบางอย่าง ความมีตัวตน ไม่ให้รู้สึกว่างเปล่า”

สมภพยอมรับว่าในมุมมองคนนอก เป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ที่คนจะมองและตัดสินเพราะคำว่าโรคซึมเศร้า ไปแล้ว และเขายังมองว่า ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ายังเสียโอกาสจากการรับรู้ข้อมูลไม่เท่าเทียมกัน เช่น ไม่เคยรู้ว่านอกจากกินยาแล้ว ผู้ป่วยสามารถเลือกการบำบัดได้ เขาเสนอว่าควรมีคู่มือ หรือบุคลากรทางการแพทย์ควรสื่อสารให้ผู้ป่วยรับทราบถึงทางเลือกในการเลือกการรักษา

“ผมมองว่า ตราบใดที่เราไม่พยายามทำความเข้าใจที่ดีขึ้นกว่านี้ มันก็จะเกิดปัญหาการตีตราแบบนี้”

ดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักจิตบำบัดด้วยการเคลื่อนไหว ผู้ดำเนินรายการ R U OK กล่าวว่าแทนที่จะ “ตีตรา” ทำอย่างไรให้คำๆ นี้ไม่มีอิทธิพลมากขนาดนั้น

“อยากให้เปลี่ยนว่าเราจะช่วยเขายังไง เป็นเราส่งเสริมว่าจะให้เขาแก้ปัญหาตัวเองได้อย่างไร”                                                                                

ทั้งยังแนะนำว่าการเคลื่อนไหวเป็นการเชื่อมโยงที่ง่ายที่สุด และสามรรถเริ่มได้เองได้ก่อนเลย ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวเล็กน้อย

สำหรับคำถามที่ว่า พ่อแม่จะสร้างสภาพแวดล้อมปกป้องลูกไม่ให้ซึมเศร้านั้น ดุจดาวช่วยเสนอไอเดียว่า คือการไม่ตัดสินว่าลูกเราเป็นซึมเศร้า

“เราไม่มีวันรู้หรอกว่าเขาไปเจออะไร มองว่าเราอยู่ตรงนั้น เวลาที่ประสบปัญหาให้เขาวิ่งเข้ามา เราทำตัวให้เป็นตัวเลือกของเขาได้”

ขณะที่ทรายเผยความรู้สึกว่า พ่อแม่ต้องเลิกจากไอเดียของที่ชอบบอกว่าเลี้ยงแบบเพื่อน เพราะในทางปฏิบัติไม่มีทางเป็นไปได้เลย

“เป็นพ่อแม่แบบใจกว้าง ตั้งใจฟังก็พอ”

ด้าน ผศ.ผญ. ทานตะวัน เอ่ยว่า

“เราเจอพ่อแม่เลี้ยงลูกไม่อยากให้ผิดหวังกลัวลูกเศร้า แต่จะยิ่งเปราะบาง สิ่งสำคัญคือการเลี้ยงดูให้เขามีคุณภาพใจดีที่สุดคือ ต่อให้มีโรคมาจะมี ความสามารถในการแก้ปัญหาชีวิต รับกับความทุกข์ได้ รู้วิธีจัดการมัน ยอมรับมัน แต่ไปต่อได้”

 

มาลดความซึมเศร้า ช่วงโควิดกันเถอะ

“จะเห็นว่าเรื่องซึมเศร้าไม่ได้เกิดขึ้นทันทีแต่เกิดจากการสะสมความทุกข์ ซึ่งช่วงนี้หากความทุกข์ยาวนาน บวกกับพื้นฐานจิตใจที่เปราะบางอยู่แล้ว หรือไม่มีทักษะการบริหารจัดการจิตใจที่ดี หรือในเชิงพันธุกรรมที่บางคนมียีนส์ตัวนี้อยู่จะมีแนวโน้มที่มีความเครียดจนถึงสู่อาการซึมเศร้าได้มากกว่า” ณัฐยา เสริม

“แต่จากการประเมิน เรานึกภาพออกว่าในช่วงโควิด คนจะตกในความตึงเครียดจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง สูญเสียงาน ขาดรายได้ ที่มีผลกระทบเกิดขึ้นแน่นอน จึงมองในแต่ละช่วงวัยว่า ถ้าเป็นเด็กเล็ก วัยรุ่น เราจะมองทางออกอย่างไร หรือวัยทำงานที่เป็นผู้หารายได้ให้ครอบครัวแต่ต้องมาเปลี่ยนไป”

เธอเผยว่า ขณะนี้ สสส.จึงปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานและสื่อสารที่ตั้งใจทำขึ้นมา โดยในกลุ่มเด็กเล็ก เราจึงทำหนังสือนิทาน ที่ใส่ในถุงของขวัญยังชีพในบ้านที่เด็กเล็กทั่วประเทศ

นอกจากนี้ยังคิดรูปแบบกิจกรรมเน้นการเล่น การอ่าน การออกกำลังกาย พยายามใส่ไอเดียต่างๆ ทำเป็นชาเลนจ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กและวัยรุ่นชื่นชอบ เป็นอีกทางที่จะทำให้การอยู่บ้านช่วงโควิดของทุกคนไม่หมดมุก

“ล่าสุดเรายังผลิตนิทานเกี่ยวกับโควิดโดยตรง “ ณัฐยาเอ่ย ส่วนเด็กโต ในบางพื้นที่ที่ไม่ได้มีความเสี่ยง และสามารถคัดกรอง เด็กส่วนนี้ก็จะมีกิจกรรมทำร่วมกันเช่นการรณรงค์ให้ความรู้ตามบ้าน ทำหน้ากาก เป็นจิตอาสา ระดับชุมชน ด้านการสื่อสารส่วนกลาง สสส.ใช้ช่องทาออนไลน์เป็นแพลตฟอร์มที่มาสื่อสารและจัดทำกิจกรรมร่วมกับภาคีเครือข่าย อาทิ ชวนพ่อแม่จัดกิจกรรมเรียนรู้หรือเล่นกับลูกให้ผ่อนคลาย เช่น แคมเปญบิงโก 25 ช่อง หากครอบครัวไหนเล่นครบห้าช่องจะได้รับชุดนิทานมอบให้”

เพราะปัญหาสำคัญของซึมเศร้าไม่ใช่โรค แต่คือการหล่อเลี้ยงความสัมพันธ์ทางใจในครอบครัว