จีน บ้านที่สองอันแสนอบอุ่น

จีน บ้านที่สองอันแสนอบอุ่น

การเติบโตและความหลงใหลในภาษาและวัฒนธรรมจีนของนักเรียนไทยคนหนึ่งที่มีโอกาสศึกษาต่อที่ประเทศจีน โดย ธนาภรณ์ โคตรพัฒน์

ฉันเกิดและเติบโตในประเทศไทย จึงไม่เคยคิดว่าวันหนึ่งจะรู้สึกผูกพันใกล้ชิดกับประเทศจีนเป็นพิเศษเช่นนี้ ในความคิดของฉัน จีนเป็นดินแดนที่ห่างไกลและลึกลับ แต่ก็มีเสน่ห์ชวนให้ค้นหา ฉันคิดอยู่เสมอว่าหากฉันมีโอกาสเดินทางไปยังประเทศนี้ ฉันจะท่องเที่ยวไปตามสถานที่ต่างๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

แรกพบจีน

ในปี 2551 ฉันได้มีโอกาสเดินทางไปยังเมืองหนานหนิง ซึ่งเป็นเมืองเอกของมณฑลกว่างซีจ้วง เพื่อศึกษาต่อต่อระดับมหาบัณฑิต และจบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยว (Master of Tourism Administration: MTA) จาก Business School แห่งมหาวิทยาลัยกว่างซี (Guangxi University) ขณะที่ศึกษาอยู่ ความสามารถในการใช้ภาษาจีนของฉันยังไม่เพียงพอที่จะเรียนทันเพื่อนๆ จึงต้องอาศัยการบันทึกเสียงในชั้นเรียนอยู่ตลอดเวลาเพื่อไม่ให้พลาดส่วนใดส่วนหนึ่งไป เมื่อ Dr. Ling Changrong อาจารย์ที่ปรึกษาของหลักสูตร MTA ได้รับทราบถึงปัญหานี้ของฉัน จึงได้มอบหมายให้นักศึกษาชาวจีนสองคนคอยช่วยเหลือฉัน

จีน บ้านที่สองอันแสนอบอุ่น

ธนาภรณ์ โคตรพัฒน์ และเพื่อนๆ ร่วมชั้นเรียน ภายหลังการนำเสนอวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท ที่ Business School มหาวิทยาลัยกว่างซี

เพื่อนชาวจีนทั้งสองต่างต้องใช้ความอดทนอย่างมากในการสอนภาษาจีนให้กับฉัน จนความสามารถในการใช้ภาษาของฉันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนสามารถตามทันการเรียนการสอนในชั้นเรียนได้ ช่วงเวลาที่ฉันมีความสุขที่สุดขณะเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยกว่างซี คือตอนที่ฉันได้ออกไปช็อปปิ้งพร้อมๆ กับเพื่อนๆ ในชั้นเรียน กินบาร์บีคิว ร้องเพลงจีน และดูหนังจีน นอกจากนี้ ฉันยังเรียนรู้วิธีการซื้อของออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ Taobao และเล่นเกมไพ่จีน รวมถึงไพ่นกกระจอก ฉันยังได้ลองดื่มแม้กระทั่ง Baijiu ซึ่งเป็นเหล้าจีน หลังจบการศึกษา ฉันได้ซื้อโต๊ะไพ่นกกระจอกและ
เครื่องแจกไพ่นกกระจอกอัตโนมัติจากเว็บไซต์ Taobao

หลักสูตร MTA ประกอบด้วยการเรียนและการศึกษาค้นคว้าในหลากหลายสถานที่ ควบคู่ไปกับการเข้าชั้นเรียน ฉันจึงมีโอกาสได้ไปเยี่ยมเยือนเมืองต่างๆ อยู่บ่อยๆ ตั้งแต่เมืองทางตะวันออกเฉียงเหนือที่ปกคลุมไปด้วยหิมะ จรดเมืองซานย่าที่ร้อนอบอ้าว ตั้งแต่เมืองที่เต็มไปด้วยความเป็นสากลอย่างเซี่ยงไฮ้ จนถึงเมืองชนบทอย่างซินเจียง จนสามารถพูดได้ว่าฉันเคยย่างเท้าก้าวไปยังสถานที่ต่างๆ มาแล้วทั่วประเทศ ซึ่งทำให้ฉันรู้สึกทึ่งไปกับความกว้างใหญ่ไพศาล และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรของจีน พิศวงไปกับเอกลักษณ์และขนบธรรมเนียมต่างๆ ของท้องถิ่น ตลอดจนหลงเสน่ห์ของอาหารจีนอันบริบูรณ์ ไม่เคยเลยสักครั้งที่ฉันจะเบื่อรสชาติอาหารในย่าน Goudong ซึ่งเป็นย่านกินดื่ม ใกล้ๆ กับ มหาวิทยาลัยกว่างซี

มุ่งสู่เส้นทางการศึกษาขั้นสูงสุด

หลังจบการศึกษาจาก มหาวิทยาลัยกว่างซี ฉันกลับบ้านและทำงานเป็นอาจารย์ประจำที่สถาบันขงจื่อ มหาวิทยาลัยสวนดุสิตสุพรรณบุรี ฉันไม่เคยนึกฝันมาก่อนว่าจะได้มาสอนหนังสือในมหาวิทยาลัย ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่เกินความคาดหวังของพ่อฉัน ซึ่งเคยเป็นครูใหญ่โรงเรียนมัธยม

ในวันหนึ่งของปี 2556 ฉันได้รับข้อความจากท่านอาจารย์ Lin Yuanhui คณบดีร่วมของ Business School แห่งมหาวิทยาลัยกว่างซี ถามว่าฉันสนใจที่จะกลับไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยหรือไม่ ในฐานะชาวต่างชาติที่เคยผ่านประสบการณ์อันยากลำบากในการเรียนภาษาจีน ฉันรู้สึกลังเล เพราะรู้ดีว่าการเรียนในระดับที่สูงขึ้นย่อมต้องการทักษะการใช้ภาษาจีนที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ฉันยังรู้สึกว่า ความรู้ในระดับปริญญาโทอาจยังไม่เพียงพอสำหรับการสอนในมหาวิทยาลัย ฉันจึงได้ปรึกษากับผู้อำนวยการหลายท่านในมหาวิทยาลัยสวนดุสิต และตัดสินใจกลับไปยังมหาวิทยาลัยกว่างซี เพื่อศึกษาต่อปริญญาเอก สาขาเศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรมในที่สุด

จีน บ้านที่สองอันแสนอบอุ่น

ธนาภรณ์ โคตรพัฒน์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยกว่างซี ด้วยความช่วยเหลือของอาจารย์ที่ปรึกษา

ศาสตราจารย์ Yang Yongde ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาหลักสูตรปริญญาเอกของฉัน ให้ความช่วยเหลืออย่างมากกับฉัน ทั้งในด้านการเรียนและชีวิตส่วนตัว เขามักจะอยู่กับฉันในช่วงเวลาเรียน และศึกษาวิจัยเพื่อที่จะช่วยพัฒนาทักษะทางอาชีพของฉัน

วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของฉันเน้นให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ ด้วยความตั้งใจที่จะทำวิทยานิพนธ์ให้เสร็จ ฉันจึงตัดสินใจทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยในช่วงตรุษจีน ศาสตราจารย์ Yang ได้ชวนฉันไปร่วมฉลองตรุษจีนกับครอบครัวของเขา และฉันได้รับ “อั่งเปา” ซึ่งเป็นเป็นเงินของขวัญใส่ซองสีแดง ที่ผู้อาวุโสจะให้แก่สมาชิกในครอบครัวที่อ่อนวัยกว่าตามธรรมเนียมของเทศกาลตรุษจีน

ฉันได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณบดีสถาบันขงจื่อ ฝ่ายไทย มหาวิทยาลัยสวนดุสิตสุพรรณบุรี ขณะที่ยังทำวิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาเอกอยู่ ด้วยหน้าที่และความรับผิดชอบที่ต้องการเวลาและความทุ่มเท ฉันจึงลงเอยด้วยการใช้เวลาช่วงกลางวันไปกับการทำงานที่สถาบันขงจื่อ และใช้เวลาช่วงกลางคืนทำวิทยานิพนธ์ บางครั้ง เมื่อฉันมีปัญหาในการเขียนวิทยานิพนธ์ ฉันจะหันไปหาศาสตราจารย์ Yang เพื่อขอความช่วยเหลือและคำแนะนำจากท่าน ซึ่งท่านก็อดทนรับฟังปัญหาของฉันอย่างดีเสมอ ก่อนที่จะช่วยวิเคราะห์ปัญหานั้นๆ และช่วยหาวิธีแก้ไขปัญหาในการเขียน นอกจากนี้ ท่านยังช่วยตรวจสอบวิทยานิพนธ์ของฉันอย่างละเอียดถี่ถ้วน และทำเครื่องหมายตรงส่วนที่มีปัญหา เช่น ไวยกรณ์ผิด และไฮไลท์ในส่วนที่ยังไม่สามารถสื่อสารความคิดได้อย่างชัดเจน จึงไม่มากเกินไปที่จะกล่าวว่า หากปราศจากศาสตราจารย์ Yang แล้ว ฉันก็ไม่มีทางที่จะเรียนจบปริญญาเอกได้

ในที่สุด วิทยานิพนธ์ของฉันก็ผ่านการรับรองในเดือนพฤศจิกายน 2560 ซึ่งช่วยคลายความกดดันอันมหาศาลที่มีอยู่ว่าจะเรียนจบหรือไม่ โดยศาสตราจารย์ Yang กล่าวว่า ท่านต้องใช้ความพยายามในการให้ความช่วยเหลือด้านการเรียนแก่ฉันมากกว่าที่ให้กับนักศึกษาจีนทั่วไปสามเท่า

จีน บ้านที่สองอันแสนอบอุ่น

ธนาภรณ์ โคตรพัฒน์ ได้รับเชิญจากสถานีโทรทัศน์หนานหนิง ให้ไปพูดคุยในหัวข้อ เพราะเหตุใดคนไทยจึงต้องการเรียนภาษาจีน

ภารกิจและเป้าหมายที่ต้องไปให้ถึง

ในฐานะคณบดีสถาบันขงจื่อ มหาวิทยาลัยสวนดุสิตสุพรรณบุรี ฉันมีโอกาสกลับไปที่มหาวิทยาลัยกว่างซีหลายครั้งเพื่อปฎิบัติงาน สำหรับฉัน มหาวิทยาลัยแห่งนี้คือบ้านที่สอง และทุกครั้ง ในยามที่ฉันได้พบกับอาจารย์ที่เคยสอนและเพื่อนร่วมชั้นเก่าๆ ก็จะรู้สึกราวกับว่าได้กลับมาพบปะสังสรรค์กับสมาชิกในครอบครัว

ฉันปฎิบัติหน้าที่เป็นคณบดีมาได้หนึ่งปีครึ่ง เมื่อสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยกว่างซีและได้รับปริญญาเอก ไม่ว่าจะในขณะที่เรียนอยู่หรือทำงานเพื่อมหาวิทยาลัยนี้ ฉันยังรู้สึกเสมอว่าฉันเป็นนักศึกษาคนหนึ่งของมหาวิทยาลัยกว่างซี และความรักที่มีต่อสถาบันนี้ได้งอกเงยมาเป็นความพยายามอย่างมากที่จะส่งเสริมการสื่อสารและความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยทั้งสองแห่ง และระหว่างจีนและประเทศไทย

การสื่อสารข้ามภาษาและวัฒนธรรมเท่านั้นที่จะช่วยให้ผู้คนจากประเทศต่างๆ รู้จักกันดี ด้วยความต้องการที่จะให้คนไทยจำนวนมากกว่านี้เข้าถึงภาษาจีนมากขึ้น ฉันจึงได้เปิดชั้นเรียนภาษาจีนที่มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำหรับนักศึกษาที่เรียนวิชาเอกในหลายสาขา เช่น การบิน การท่องเที่ยว การทำอาหาร และศึกษาศาสตร์ระดับปฐมวัย นอกจากนี้ สถาบันขงจื่อยังเปิดชั้นเรียนภาษาจีนสองครั้งต่อสัปดาห์ให้กับบุคคลภายนอก ซึ่งดึงดูดประชาชนจำนวนมากจากหลากหลายสาขาอาชีพ โดยหลักสูตรภาษาจีนสำหรับตำรวจท่องเที่ยวที่เปิดเป็นประจำทุกปี ได้รับความชื่นชมอย่างกว้างขวาง ด้วยเหตุนี้ สถาบันฯ จึงเริ่มได้รับความสนใจจากข้าราชการหลายหน่วยงาน ทำให้เรา เริ่มพัฒนาหลักสูตรภาษาจีนให้เหมาะกับสาขาอาชีพต่างๆ

ฉันยังได้รับการติดต่อจากผู้บริหารบริษัท และโรงแรมต่างๆ ที่ให้ความสนใจกับการเรียนภาษาจีนมากขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะครูสอนภาษาจีน ฉันต้องการให้พวกเขารู้สึกว่าภาษาและวัฒนธรรมจีนเป็นสิ่งที่น่าเรียนรู้ และเต็มไปด้วยความสนุกสนานและอารมณ์ขัน ซึ่งจะค่อยๆ ขจัดอคติและความกลัวที่มีต่อภาษาจีนออกไป นอกจากนี้ เรายังเปิดหลักสูตรออนไลน์ขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อที่จะขยายการเข้าถึงการเรียนภาษาจีนไปยังครูโรงเรียนอนุบาลในพื้นที่ห่างไกล

ทุกวันนี้ ฉันมีเพื่อนชาวจีนมากกว่าคนไทยใน WeChat แอพพลิเคชั่น ฉันหวังว่าจะมีนักเรียนไทยจำนวนมากขึ้นเดินทางไปยังประเทศจีนเพื่อเรียนภาษาจีน และมีคนไทยที่เก่งภาษาจีนมากขึ้น ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของฉันตลอดหลายปีที่ผ่านมา

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ดร. ธนาภรณ์ โคตรพัฒน์ เป็นผู้อำนวยการสถาบันขงจื่อ ฝ่ายไทย มหาวิทยาลัยสวนดุสิตสุพรรณบุรี