ธพส.ยกระดับศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะสู่ต้นแบบเมืองอัจฉริยะคาร์บอนต่ำ

ธพส.ยกระดับศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะสู่ต้นแบบเมืองอัจฉริยะคาร์บอนต่ำ

ธพส.ประกาศเป็น one – stop service งานก่อสร้างอาคารภาครัฐ ชูจุดขายเป็นที่ปรึกษาด้านการออกแบบอาคารนวัตกรรมอาคารเขียว โชว์เคส อาคารธนพิพัฒน์ เป็นอาคารต้นแบบที่ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2570 พร้อมยกระดับศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะสู่เมืองอัจฉริยะคาร์บอนต่ำ

นาฬิกอติภัค แสงสนิท กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.)ผู้บริหารศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ กล่าวว่า ได้วางยุทธศาสตร์เพื่อยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืน โดยนำนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาและยกระดับศูนย์ราชการให้เป็น“ต้นแบบเมืองสีเขียวคาร์บอนต่ำ”ใช้นวัตกรรมเป็นจุดขายและจุดแข็งเพื่อขยายธุรกิจรับพัฒนาและก่อสร้างอาคารตามมาตรฐานอาคารเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตอกย้ำผู้นำการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ให้กับภาครัฐ

ตั้งเป้าปี 2567 – 2570 จะรับออกแบบและก่อสร้างอาคารได้อย่างน้อยปีละ 2 โครงการ เริ่มจากปี 2567 มี 2 โครงการใหม่เตรียมก่อสร้างรวมมูลค่ากว่า 11,953 ล้านบาท  ได้แก่ 1. โครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานและที่พักอาศัยของกรมสรรพากร ซอยสุขุมวิท 11 วงเงินลงทุน 992 ล้านบาท และ 2.โครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการและสนามกีฬาของกรมพลศึกษา ตำบลแพรกษา อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ วงเงินลงทุน 10,961 ล้านบาท 

นอกจากนั้นยังอยู่ระหว่างหารือเพื่อก่อสร้างอีก 2 โครงการ ได้แก่  โครงการคลังเอกสาร อาคารจอดรถชั้น 5 (PPP) และโครงการอาคารสำนักงาน สรรพสามิตภาคที่ 10 หลังใหม่ ย่านลาดพร้าว - วังหิน 

ทั้งนี้ ธพส.มีการเตรียมพร้อมเพื่อขยายธุรกิจการรับพัฒนาโครงการของภาครัฐแบบ one – stop service ตั้งแต่การออกแบบ ก่อสร้าง และบริหารจัดการ ด้วยการพัฒนาบุคลากรในองค์กรให้มีความเชี่ยวชาญด้านอาคารเขียว ด้านพลังงาน ด้านการบำรุงรักษา รวมถึงการจัดทำแผนงานหรือแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจก

ธพส.ยกระดับศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะสู่ต้นแบบเมืองอัจฉริยะคาร์บอนต่ำ

จากการบริหารจัดการอาคารเป้าหมาย พร้อมกับดำเนินการตามแผนศึกษาแนวทาง Net Zero building การบริหารจัดการอาคารโดยใช้นวัตกรรมใหม่เพื่อยกระดับการให้บริการลูกค้าและผู้ใช้อาคาร การพัฒนาระบบบริหารจัดการองค์กรให้ได้มาตรฐานตามระบบประเมินผลรัฐวิสาหกิจใหม่ เพื่อตอกย้ำ ธพส. เป็นองค์กรสมัยใหม่ในการพัฒนาและบริหารทรัพย์สินของรัฐให้เกิดมูลค่าเพิ่มเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

จากแผนงานดังกล่าวธพส.ได้เตรียมยกระดับอาคารธนพิพัฒน์ ซึ่งเป็นอาคารที่ทำการของธพส.ให้เป็นอาคารต้นแบบ Net Zero building ภายในปี 2570  เพราะอาคารดังกล่าวถูกออกแบบให้เป็นอาคารประหยัดพลังงานทั้งทางวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมได้มาตรฐานอาคารยั่งยืน Deutsche Gesellschaft für nachhaltiges Bauen หรือ DGNB ระดับสูงสุด Platinum จากสภาอาคารยั่งยืนประเทศเยอรมนี 

ธพส.ยกระดับศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะสู่ต้นแบบเมืองอัจฉริยะคาร์บอนต่ำ

ปัจจุบันการใช้พลังงานของอาคารมีบางส่วนมาจากโซลาร์เซลล์ ซึ่ง DAD อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อปรับเปลี่ยนเป็นใช้พลังงานทดแทนให้เต็ม 100% ภายในปี 2570  โดยปี 2567 DAD จะนำผลการศึกษามาจ้างผู้ออกแบบ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและโครงสร้างอาคารให้มีความยั่งยืนด้านการใช้พลังงาน ผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัย ที่ช่วยควบคุมการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และในปี 2568 จะนำผลการศึกษามาพัฒนาอาคารหลังนี้ให้เป็นผลสำเร็จและเป็นอาคารต้นแบบประหยัดพลังงาน  

นอกจากนั้น เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นธพส.ยังเตรียมนำอาคารที่เป็นผลงานการออกแบบและก่อสร้าง เสนอชื่อขอใบรับรองอาคารประหยัดพลังงาน ตั้งเป้าปีละ 1 โครงการในเวลา 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2566 – 2570  ได้แก่ อาคารโกลเด้น เพลซ สาขาศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ อาคารสำนักงานกรมธนารักษ์ ซอยพหลโยธิน 11  อาคารอเนกประสงค์กรมสรรพสามิต  ราชวัตร อาคารจอดรถ D (DEPOT) และอาคาร C ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ  ตามลำดับ

ธพส.ยกระดับศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะสู่ต้นแบบเมืองอัจฉริยะคาร์บอนต่ำ
นาฬิกอติภัค กล่าวว่า  ทางด้านการบริหารจัดการศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ ได้วางเป้าหมายยกระดับให้ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ เป็น “ต้นแบบเมืองสีเขียวคาร์บอนต่ำ” ที่มีความสมาร์ท ชูจุดเด่นของการออกแบบอาคารที่ประหยัดพลังงาน ทั้งอาคาร A อาคาร B อาคาร C และอาคารจอดรถ D (DEPOT) พร้อมนำนวัตกรรมมาใช้กับการบริหารจัดการน้ำ ทั้งน้ำที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ และการกักเก็บน้ำฝนเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ 

ธพส.ยกระดับศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะสู่ต้นแบบเมืองอัจฉริยะคาร์บอนต่ำ

ล่าสุดยังได้ดำเนินการปรับภูมิทัศน์ ควบคู่ไปกับการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดรถยนต์หน้าอาคาร B กับอาคาร C   และพื้นที่บนอุโมงค์จะปรับเป็นสวนสาธารณะและทางเดินเชื่อมต่อระหว่างอาคาร B กับ C  รวมถึงการพัฒนาให้เกิดพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ว่างต่างๆ ทั้งแนวราบ และบนดาดฟ้า ตกแต่งให้เป็นสวนสาธารณะ และเปิดให้ผู้ที่ทำงาน  ผู้มาติดต่อราชการ ตลอดจนประชาชนทั่วไป และชุมชนในย่านหลักสี่ แจ้งวัฒนะ ได้เข้ามาใช้เป็นสถานที่พักผ่อน โดยเมื่อแล้วเสร็จจะมีพื้นที่สีเขียวในศูนย์ราชการฯ แห่งนี้รวม145 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 449 ไร่ สามารถเป็นปอดให้กับพื้นที่ย่านนี้ได้เป็นอย่างดี

"เมื่อโครงการแล้วเสร็จ มั่นใจว่าศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ จะถูกยกระดับเป็นเมืองต้นแบบที่มีความทันสมัย มีสิ่งแวดล้อมดีครบทุกมิติ เป็น Smart Environment ที่ให้ความสำคัญทั้งเรื่องสุขภาพของประชาชน การใช้ทรัพยากรน้ำอย่างคุ้มค่า การลดมลพิษ ฝุ่นพิษในอากาศและเป็นเมืองแห่งความสุขของทุกคนได้อย่างยั่งยืน"