ข้อกำหนด อาคารเพื่อสุขภาพ ในผังเมืองรวมพื้นที่เขตนวัตกรรมมูลค่าสูง

ข้อกำหนด อาคารเพื่อสุขภาพ ในผังเมืองรวมพื้นที่เขตนวัตกรรมมูลค่าสูง

เป็นเวลามากกว่า 20 ปี ที่ทุกวงวิชาการได้ตระหนักถึงความสำคัญของโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ที่ส่งผลเชิงลบต่อโลกและคุณภาพชีวิต

Mckinsey Global Institute (2020) ได้ยืนยันอย่างชัดแจ้งถึงผลกระทบอย่างน้อย 5 ด้าน ประกอบด้วย ระบบเศรษฐกิจสังคม ความน่าอยู่และโอกาสการมีงานทำ ระบบอาหาร คุณภาพของระบบกายภาพ การให้บริการโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค และต้นทุนทางธรรมชาติ 

Mckinsey กล่าวว่า มูลเหตและปัจจัยกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศส่วนสำคัญมาจากภาคอุตสาหกรรม ภาคอาคาร ภาคคมนาคมขนส่ง และภาคการเกษตร

ปัจจุบันกล่าวได้ว่า ทุกวงวิชาการและกลุ่มวิชาชีพ ได้ผนึกกำลังกันเพื่อบรรเทา และลดปัจจัยกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ  รวมทั้งการแสวงหาแนวทางปรับปรุงฟื้นฟูสภาพแวดล้อม และระบบทางธรรมชาติที่สูญเสียไป

ด้วยกรอบคิดการออกแบบปรับปรุงสภาพแวดล้อมจากฐานธรรมชาติ (Nature-Based Solutions) การฟื้นฟูเชิงพื้นที่ด้วยการวางแผนเขียว (Green Planning-Based Solutions) และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเขียว (Green Infrastructure Development)

ในการปรับปรุงฟื้นฟูเชิงพื้นที่ด้วยการวางแผนเขียว เฉพาะภาคการอาคาร กลยุทธ์การวางแผนและการออกแบบปรับปรุงตามแนวทางการวางแผนเขียว ได้แก่ การลดและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การลดการใช้ทรัพยากร  การส่งเสริมสุขภาพและการลดความเสี่ยงการเกิดโรคจากอาคารและส่วนประกอบอาคารของผู้ใช้อาคาร

กล่าวได้ว่า ปัจจุบัน กลุ่มวิชาการและวิชาชีพด้านวิศวกรรม สถาปัตยกรรม การผังเมือง สิ่งแวดล้อม ได้ประสบความสำเร็จอย่างมากจากการพัฒนาเกณฑ์มาตรฐานและการสร้างแนวทางการออกแบบปรับปรุงอาคารให้เป็นอาคารเพื่อสุขภาพ (Healthy Building) และอาคารเขียว (Green Building)

ซึ่งเกณฑ์มาตรฐานที่ได้รับการยอมรับและได้ปฏิบัติอย่างกว้างขวางได้แก่ มาตรฐานอาคารเขียวของ LEED มาตรฐานอาคารเพื่อสุขภาพของ WELL Building Standard และ Fitwel รวมทั้ง มาตรฐานอาคารเขียวที่แต่ละประเทศได้กำหนดขึ้น

จนถึงปี พ.ศ.2565 มีอาคารประเภทต่างๆ ทั่วโลก ได้รับการรับรองจากเกณฑ์ WELL Building Standard มากกว่า 15,000 แห่ง ซึ่ง International WELL Building Institute (IWBI) คาดว่าในปี ค.ศ.2030 จะมีอาคารเพื่อสุขภาพทั่วโลกได้รับการรับรองมากกว่า 30,000 แห่ง

นอกจากนั้น ในภาคการวางแผนเมือง กฎบัตรไทย สมาคมการผังเมืองไทย ได้ศึกษาระบบนิเวศเมืองเขียว และได้เสนอเกณฑ์มาตรฐานอาคารเพื่อสุขภาพและอาคารเขียวให้ตราเป็นข้อกำหนดในผังเมืองรวมต่อรัฐบาล เพื่อประกาศบังคับให้อาคารในพื้นที่ที่กำหนดนำเกณฑ์มาตรฐานอาคารเพื่อสุขภาพและอาคารเขียวไปปฏิบัติ

ข้อกำหนด อาคารเพื่อสุขภาพ ในผังเมืองรวมพื้นที่เขตนวัตกรรมมูลค่าสูง

ทั้งการปรับปรุงอาคารที่มีอยู่แล้วตามเวลาที่ได้กำหนด และอาคารที่อยู่ระหว่างการออกแบบ หรืออาคารที่อยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้าง พร้อมบังคับทางกายภาพให้เกิดการปรับปรุงฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานเขียว คมนาคมขนส่งเขียว และพลังงานเขียว

ให้ย่านแปลงสภาพเป็นเขตพื้นที่เขียว (Green Zone) ตอบสนองต่อการลดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและการสร้างเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นกลางทางคาร์บอน

นอกจากนั้น ตามแผนการพัฒนาระบบนิเวศ กฎบัตรไทย จะเสนอการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการบริหารจัดการเพื่อรองรับการบังคับใช้ผังเมืองรวมควบคู่ไปด้วย เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกายภาพอาคารและกายภาพของเมือง พร้อมทั้งการสนับสนุนระบบสิทธิประโยชน์ด้านการเงิน ภาษี และผลตอบแทนจากการพัฒนารูปแบบต่างๆ

ข้อกำหนด อาคารเพื่อสุขภาพ ในผังเมืองรวมพื้นที่เขตนวัตกรรมมูลค่าสูง

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ทราบถึงผลกระทบในทุกด้าน และทราบแนวทางในการกำหนดกรอบนโยบายที่เหมาะสมกฎบัตรไทย จะเสนอรัฐบาลให้ใช้เขตนวัตกรรมมูลค่าสูงจังหวัดชัยนาทและจังหวัดนครสวรรค์ เป็นพื้นที่พัฒนาต้นแบบเพื่อทดสอบการใช้เกณฑ์มาตรฐานที่ปฏิบัติการระดับย่าน โดยจะดำเนินการในปี พ.ศ.2567 -2568

หลังจากนั้น จะขยายเขตการบังคับของผังเมือ งรวมไปยังเขตนวัตกรรมการแพทย์และการส่งเสริมสุขภาพที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตจังหวัดชัยนาทและจังหวัดนครสวรรค์ เมื่อได้ข้อสรุปที่ชัดแจ้ง กฎบัตรไทยจะเสนอรัฐบาลให้ประกาศในพื้นที่เขตนวัตกรรมมูลค่าสูงทั่วประเทศและพื้นที่ที่มีความพร้อม  

หากไทยประสบผลสำเร็จในการบังคับใช้ผังเมืองรวม ที่ตราข้อกำหนดมาตรฐานอาคารเพื่อสุขภาพและอาคารเขียว ไทยจะถูกเปลี่ยนเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว

ด้วยตัวชี้วัดความโดดเด่นในการจัดการสภาวะภูมิอากาศและเป็นประเทศที่มีขีดความสามารถสูงด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม.