เปิด4เหตุผลรัฐถอนกฎหมาย "ต่างชาติซื้อที่ดิน"

เปิด4เหตุผลรัฐถอนกฎหมาย "ต่างชาติซื้อที่ดิน"

"วิชัย วิรัตกพันธ์" เปิด 4 เหตุผลที่รัฐถอนกฎหมาย ต่างชาติซื้อที่ดิน เหตุคนกังวลว่าที่ดินและบ้านราคาแพงขึ้น -ข้อกำหนดหลักเกณฑ์ในกฎกระทรวงยังไม่รัดกุม-ไม่มีการประเมินความคุ้มค่าด้านเศรษฐกิจสังคม และออกมาใกล้เลือกตั้งจึงกลายเป็นประเด็นการเมืองเกิดกระแสต้าน

"วิชัย วิรัตกพันธ์"  ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธอส.  ได้แสดงความเห็นต่อ เรื่อง “ครม. อนุมัติให้กระทรวงมหาดไทยถอนร่างกฎกระทรวง”ว่า การที่ ครม. อนุมัติให้กระทรวงมหาดไทยถอนร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าวนั้น (ต่างชาติซื้อที่ดิน) รัฐบาลได้รับทราบถึงกระแสต่อต้าน จากประชาชนส่วนหนึ่งที่ยังมีความกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และยังให้น้ำหนักกับมุมของผลกระทบมากกว่าประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย 

ดังนั้นการที่กระทรวงมหาดไทยจะนำเรื่องดังกล่าวกลับไปรับฟังความคิดและวิเคราะห์ผลกระทบ และศึกษาเพิ่มเติมให้มีความรอบคอบ ถี่ถ้วน และครอบคลุมผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน รวมไปถึงการฟังความคิดเห็นจากประชาชนนั้นเป็นสิ่งที่ดี

 

4เหตุผลรัฐถอนกฎหมาย "ต่างชาติซื้อที่ดิน"

สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อสังเกตจากกรณีที่เกิดขึ้นนี้ได้สะท้อนให้เห็นว่า การที่คนจำนวนหนึ่งในสังคมยังไม่ให้การสนับสนุนต่อนโยบายนี้ น่าจะเป็นเหตุผลหลักๆ 4 ประการ คือ
 

  1. คนไทยจำนวนไม่น้อยยังขาดความมั่นคงและยังไม่เห็นโอกาสที่จะมีบ้านเป็นของตนเอง

จึงทำให้คนจำนวนไม่น้อยเกิดความกังวลว่า หากเปิดโอกาสให้คนต่างชาติเข้ามาซื้อที่ดินและบ้านได้ ก็จะยิ่งทำให้พวกเขาซื้อบ้านได้ยากขึ้นเพราะราคาจะแพงขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดความน้อยใจเหมือนรัฐบาลละเลยไม่ใส่ใจพวกเขาไป แต่ไปเอาใจคนต่างชาติที่มีเงิน

 

  1. การออกข้อกำหนดหลักเกณฑ์ในกฎกระทรวงที่เสนอขออนุมัติ อาจยังไม่ละเอียดไม่รัดกุมเพียงพอที่จะตอบคำถามสังคม

จึงทำให้เกิดข้อสงสัย ข้อกังวล และข้อโจมตีจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยและฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล เช่น การเข้ามาซื้อที่ดินแล้วไม่ปลูกสร้างบ้าน การนำเงินมาลงทุนแล้วถอนเงินลงทุนก่อนเวลาจะจัดการบ้านและที่ดินที่ซื้อไว้อย่างไร เป็นซื้อโดยไม่ต้องกำหนดระดับราคาเลยหรือไม่ มีการจัดเก็บค่าภาษีและค่าธรรมเรียมพิเศษหรือไม่ ฯลฯ เหล่านี้เป็นต้น รัฐบาลจะต้องมีแนวทางในการควบคุมหรือจัดการที่ชัดเจนและตอบข้อสงสัยกับสังคมได้ตังแต่วันแรกที่จะเสนอนโยบายนี้ออกมา อย่าใช้แนวทางแบบโยนหินถามทาง เพราะเรื่องนี้ sensitive มากต่อสังคมไทย
 

  1. การนำเสนอนโยบายนี้ ยังไม่ได้มีการประเมินความคุ้มค่า และผลได้ผลเสีย

ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างชัดเจน เช่น ผลกกระทบว่าจะเกิดผลบวกกับทางเศรษฐกิจเป็นเม็ดเงินเท่าไร ช่วยให้เกิดการจ้างงานอย่างไร ราคาที่ดินและที่อยู่อาศัยจะแพงขึ้นเพียงใด และเมื่อเทียบกับการเปลี่ยนแปลงของรายได้ประชาชนแล้วจะเป็นอย่างไร 

 

  1. นโยบายออกมาในช่วงจังหวะเวลาที่ใกล้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

จึงทำให้นโยบายนี้กลายเป็นประเด็นทางการเมืองที่จะใช้ช่วงชิงคะแนนเสียงสนับสนุนในการเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึง ประกอบกับมีเหตุการณ์และข่าวเกี่ยวกับชาวต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจสีเทาด้วย จึงทำให้เกิดกระแสต่อต้านมากยิ่งขึ้น

 

อย่างหนึ่งที่สังคมต้องไม่ลืมคือ แม้ว่าร่างกฎกระทรวงฉบับนี้จะถูกถอนออกไปแล้ว แต่ชาวต่างชาติก็ยังซื้อที่ดินได้ตามกฎกระทรวงฯ พ.ศ. 2545 ที่ประกาศใช้อยู่มาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ชาวต่างชาติยังสามารถเข้ามาจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล และถือหุ้นในนามคนต่างชาติไม่เกิน 49% (และในนามคนไทยอีก 51%) ซึ่งถือเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทยเพื่อซื้อที่ดินและที่อยู่อาศัยได้ทั่วประเทศโดยไม่ถูกกฎหมาย และใช้เงินลงทุนน้อยกว่า 40 ล้านบาทได้อีกทางหนึ่งด้วย

ดังนั้น หากรัฐบาลเห็นว่าเป็นนโยบายที่มีประโยชน์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และยังเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะช่วยดึงดูดชาวต่างชาติที่ได้รับการคัดสรรให้มาอยู่และร่วมพัฒนาประเทศไทย

ในอนาคต รัฐบาลจะต้องแสดงให้เห็นเป้าหมายและผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบ และสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนว่าจะเกิดผลดีมากกว่าผลเสียทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างไร รวมถึงทำให้ให้ประชาชนมั่นใจว่า พวกเขาสามารถซื้อบ้านและที่ดินในแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเขาได้เมื่อพวกเขาพร้อม