คณะพยาบาลศาสตร์ ม.มิหดล จับมือ ม.จอห์น ฮอปกินส์

คณะพยาบาลศาสตร์ ม.มิหดล จับมือ ม.จอห์น ฮอปกินส์

คณะพยาบาลศาสตร์ ม.มิหดล จับมือ ม.จอห์น ฮอปกินส์ จัดตั้งศูนย์ความร่วมมือด้านการวิจัยผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

 

กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เป็นปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่งของโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย จัดว่าเป็นภัยใกล้ตัวที่อันตรายและน่ากลัวมากกว่าที่คิด ทั้งในมิติของจำนวนการเสียชีวิตและภาระโรคโดยรวม โรคที่พบว่าเป็นปัญหาสาธารณสุขของไทยมากสุดคือ เบาหวาน และความดันโลหิตสูง ซึ่งหากผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมโรคได้ดี ก็จะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้อีก เช่น โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โดยการควบคุมโรคที่ดีนั้น ควรจะทำควบคู่กันไปทั้งสองอย่าง คือ การใช้ยารักษา และการปรับพฤติกรรมสุขภาพ

จากรายงานข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบประชากรทั่วโลก มีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มสูงขึ้น จาก 38 ล้านคน ในปีพ.ศ. 2555 เป็น 41 ล้านคน ในปีพ.ศ. 2559 คิดเป็นร้อยละ 71 ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมดของประชากรโลก

 

รองศาสตราจารย์ ดร.ยาใจ สิทธิมงคล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวว่า ในประเทศไทยนั้น กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากกว่าร้อยละ 70 นับเป็นอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตทั้งหมดในประเทศไทย และคาดว่ามีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นในทุก ๆ ปี โดยส่วนใหญ่จะเสียชีวิตก่อนวัย คือในช่วงอายุ 30-69 ปี จากโรคหลอดเลือดสมอง หัวใจขาดเลือด เบาหวาน ภาวะความดันโลหิตสูง และโรคทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรัง ปัจจัยหลักมาจากพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ กินหวานมันเค็ม และยังเกิดจากตัวแปรทางสังคม เช่น การขยายตัวของสังคมเมือง กลยุทธ์การตลาด ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการสื่อสาร ที่กระทบต่อวิถีชีวิตผู้คนโดยตรง

“กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) คือกลุ่มโรคที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากการติดเชื้อ และไม่ได้ติดต่อจากคนสู่คนโดยการสัมผัสหรือการหายใจ เป็นโรคไม่ติดต่อที่มีระยะดำเนินโรคนาน โดยมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น พันธุกรรม สิ่งแวดล้อม สภาพร่างกาย และพฤติกรรมการดำเนินชีวิต กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่พบได้บ่อย อาทิ โรคหลอดเลือดหัวใจ มะเร็ง โรคระบบทางเดินหายใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน เป็นต้น”  

คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ร่วมมือกับ School of Nursing  มหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ สหรัฐอเมริกา และคณะแพทยศาสตร์ศิริราช ม.มหิดล จัดตั้งศูนย์ความร่วมมือด้านการวิจัยผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อ เพื่อทำงานวิจัยและแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่ทวีความซับซ้อนมากขึ้น ทั้งการเกิดของโรคอุบัติไหม่ โรคที่มาจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เพื่อศึกษาและสร้างผลงานวิจัยที่ดี รวมทั้งประสานความร่วมมือในรูปแบบสหสาขาวิชาชีพในหลายพื้นที่ ในอันที่จะให้มีการแก้ไขปัญหาและป้องกันกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในอนาคต

 

ดร.ฐิติพงษ์ ตันคำปวน ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายเครือข่ายวิจัยต่างประเทศ คณะพยาบาลศาสตร์ ม.มหิดล ในฐานะผู้อำนวยศุนย์ความร่วมมือด้านการวิจัยผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง กล่าวว่า “การจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือด้านการวิจัยผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ให้คุณประโยชน์หลายด้าน เช่น เป็นการพัฒนาคุณภาพและเพิ่มศักยภาพด้านการทำวิจัยและการดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังให้กับพยาบาลในประเทศ รวมทั้งสร้างความร่วมมือ ถ่ายทอดองค์ความรู้ใหม่ ๆ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้กับผู้เข้ารับการอบรมกับทางศูนย์ฯ ระหว่างเครือข่ายพยาบาล 2 สถาบัน ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ไม่เพียงแต่เฉพาะประเทศไทย แต่ยังรวมถึงอีก 10 ประเทศในเขต WHO SEARO อีกด้วย อาทิ พม่า เนปาล บังคลาเทศ ปากีสถาน อินโดนีเซีย ศรีลังกา มัลดีฟส์ ภูฏาน ติมอร์-เลสเต”

 

ศูนย์ความร่วมมือด้านการวิจัยผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 25 มี.ค. 2564 และจะเริ่มทำการอบรมระยะสั้นในหลักสูตรการดูแลผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง โดยเปิดสอนออนไลน์เป็นหลักสูตรแรก สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://ns.mahidol.ac.th/english/ research/th/index_th.html  ส่วนหัวข้องานวิจัยแรกที่จะทำคือ การวิจัยเรื่องคนไข้โรคหัวใจล้มเหลว เปรียบเทียบในแต่ละประเทศ ทั้งในเรื่องของภาวะโรค คุณภาพชีวิตของคนไข้ การดูแลตัวเอง ความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน สาเหตุที่ต้องศึกษาวิจัยเอง เพราะลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน จึงไม่สามารถหยิบยกงานวิจัยของยุโรปหรืออเมริกามาอ้างอิงกับประเทศไทยได้ จำเป็นต้องมีงานวิจัยที่สอดคล้องกับบริบททางสังคมและเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาคเป็นสำคัญ

 “บริบทของแต่ละประเทศเรื่องการทำวิจัยจะไม่เหมือนกัน เราไม่สามารถประยุกต์งานวิจัยของประเทศทางยุโรปหรืออเมริกา มาปรับใช้ในการดูแลหรือพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ ฉะนั้นการเพิ่มศักยภาพพยาบาลในด้านการทำวิจัยจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและสำคัญ ทุกฝ่ายตั้งใจจะทำให้ศูนย์นี้เป็นศูนย์เพื่อการพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยและการดูแลสุขภาพทีดีในอนาคต” ผอ.ศูนย์ความร่วมมือด้านการวิจัยผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง กล่าวสรุป