สมุนไพรรักษาโรคไต สิ่งที่ควรรู้และข้อควรระวัง

สมุนไพรรักษาโรคไต สิ่งที่ควรรู้และข้อควรระวัง

“สมุนไพรกับโรคไต” อย่างเจาะลึก ได้ ในงานกิจกรรมวันไตโลกจัดแบบออนไลน์ วันพฤหัสบดี ที่ 11 มีนาคม 2564  ตั้งแต่เวลา  09.00 – 13.30 น. 

 

ในปัจจุบันได้มีการโฆษณาถึงสรรพคุณของยาสมุนไพรหลายชนิด ว่าสามารถรักษาโรคไตเรื้อรังให้ดีขึ้นหรือกลับมาเป็นปกติได้  ซึ่งสมุนไพรดังกล่าวประชาชนสามารถซื้อหาได้โดยง่าย ทั้งในรูปแบบดั้งเดิมและนำมาแปรรูปเป็นแคปซูล หรือในรูปแบบต่าง ๆ ทำให้คนไข้อาจจะมีความสงสัยอยู่ว่า เขาสามารถจะลองใช้ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสมุนไพรต่าง ๆ เพื่อช่วยรักษาโรคไตของเขาได้หรือไม่  ? จะมีข้อเสียอะไรหรือเปล่า ?

ในประเด็นนี้ สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายองค์กรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง ได้ยืนยันว่า ในปัจจุบัน ยังไม่มีสมุนไพรตัวไหนที่มีข้อมูลหลักฐานทางงานวิจัยหรือการบันทึกมากเพียงพอที่แสดงถึงประโยชน์ในการรักษาโรคไตได้อย่างมั่นใจ การนำมาใช้จึงอาจทำให้เกิดโทษต่อผู้ป่วยโรคไตได้ เนื่องจาก

  • ไตเป็นอวัยวะที่สามารถเกิดอันตรายจากการใช้ยาและสารต่าง ๆ ได้ง่าย ซึ่งยาสมุนไพรส่วนใหญ่ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับขนาดยาที่เหมาะสมในผู้ป่วยโรคไต
  • สมุนไพรที่ไม่ได้มาตรฐานอาจมีสารปนเปื้อน เช่น โลหะหนัก
  • สมุนไพรอาจมีสารปลอมปน เช่น ยาแก้ปวด สเตียรอยด์
  • สมุนไพรและพืชบางชนิดมีพิษต่อไตโดยตรง หรือทำให้เกิดผลเสียในผู้ป่วยโรคไตได้ เช่น ไคร้เครือ (Aristolochia) ทำให้เกิดไตวายเรื้อรังและมะเร็งทางเดินปัสสาวะ, มะเฟือง (Star fruit) ทำให้เกิดไตวายเฉียบพลัน, ปอกะบิด (East Indian screw tree) ทำให้การทำงานของไตผิดปกติ, ชะเอมเทศ (Licorice) ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง, น้ำลูกยอ (Morinda citrifolia L) ทำให้โพแทสเซียมในเลือดสูง เป็นต้น
  • สมุนไพรยังอาจมีปฏิกิริยาระหว่างยา (drug interaction) กับยาประจำที่แพทย์สั่งซึ่งอาจลดประสิทธิภาพหรือเกิดพิษของยาขึ้นได้

สำหรับสมุนไพรอีกชนิด คือถั่งเช่า ซึ่งมีแพร่หลายอย่างมากในประเทศไทย มีทั้งศิลปิน ดารา นักแสดง พิธีกร ต่าง ๆ เป็นผู้แนะนำสินค้าบนโลกออนไลน์โซเชียลมีเดียนั้น สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยขอยืนยันว่าจากองค์ความรู้ที่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่า ถั่งเช่ามีประโยชน์จริงในผู้ป่วยโรคไต เนื่องจากมีเพียงข้อมูลการศึกษาในสัตว์ทดลอง แต่ไม่มีหลักฐานการศึกษาที่ดีเพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่า ถั่งเช่ามีประโยชน์กับไตในมนุษย์และการศึกษาส่วนใหญ่ไม่ได้รายงานของอาการที่ไม่พึงประสงค์ของถั่งเช่าอีกด้วย  ส่วนถั่งเช่าที่มีการศึกษาในมนุษย์นั้น ส่วนใหญ่เป็น ถั่งเช่าจากทิเบต (Cordyceps sinensis) ที่เกิดในธรรมชาติซึ่งมีราคาสูงมาก การศึกษาส่วนใหญ่ใช้เวลาเพียง 1-6 เดือนเท่านั้น จึงไม่สามารถทราบถึงผลดีและผลเสียในระยะยาวได้และยังพบว่าผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าทิเบตบางส่วนมีโลหะหนักในปริมาณสูง ซึ่งจะมีผลเสียต่อไตในระยะยาว

ในปัจจุบันถั่งเช่าที่ขายอยู่ส่วนใหญ่เป็นถั่งเช่าสีทอง (Cordyceps militaris) ที่ถูกเพาะเลี้ยงขึ้นในฟาร์ม โดยใช้อาหารเลี้ยงแบบต่าง ๆ  ทำให้ถั่งเช่าแต่ละชนิดที่ถูกเพาะเลี้ยงในแต่ละวิธีผลิตสารออกฤทธิ์ที่แตกต่างกันมาก และส่วนใหญ่ยังไม่มีการศึกษาทดลองในมนุษย์ การนำมาใช้จึงอาจทำให้เกิดโทษต่อผู้ป่วยโรคไตได้ง่าย และแพทย์โรคไตยังพบอุบัติการณ์การเสื่อมของไตภายหลังจากการรับประทานถั่งเช่าในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังอยู่เสมอ

โดยสรุปการที่ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังลองทานยาสมุนไพรรักษาโรคไตนั้น  น่าจะมีโทษมากกว่าประโยชน์ โดยเราต้องอย่าลืมว่าผู้ป่วยเหล่านี้มีค่าการทำงานของไตลดลงอยู่แล้ว  ซึ่งการรักษาที่ดีที่สุดคือการดูแลปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม เพื่อชะลอการเสื่อมของไตให้ช้าที่สุด รวมทั้งหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เกิดความเสี่ยงต่อไตทั้งหมด ติดตามรายละเอียดเรื่องของ “สมุนไพรกับโรคไต” อย่างเจาะลึก ได้ ในงานกิจกรรมวันไตโลก ในรูปแบบการจัดแบบออนไลน์ ผ่าน FACEBOOK LIVE ของ “สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย” จัดขึ้นในวันพฤหัสบดี ที่ 11 มีนาคม 2564  ตั้งแต่เวลา  09.00 13.30 น. เรามีผู้เชี่ยวชาญพร้อมที่จะมาอธิบายให้รู้ข้อเท็จจริงได้อย่างแท้จริง