วิศวะมหิดล ผนึกทีมชาติไทยและ 2 หนุ่มผู้พิการ ลงชิงแชมป์โลก Cybathlon 2020

วิศวะมหิดล ผนึกทีมชาติไทยและ 2 หนุ่มผู้พิการ ลงชิงแชมป์โลก Cybathlon 2020

การแข่งขันไซบาธอน 2020 (Cybathlon) ในวันที่ 13 - 14 พ.ย. นี้ 

 

 

มหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ ผนึกกำลังทีมชาติไทย MAHIDOL BCILAB ออกแบบสร้างนวัตกรรมอุปกรณ์สำหรับ 2 หนุ่มผู้พิการ ลงชิงแชมป์โลกในการแข่งขันไซบาธอน 2020 (Cybathlon) ในวันที่ 13 - 14 พ.ย. นี้ โดยปีนี้ประเทศไทยส่งนักแข่ง (Pilot) คือ คุณศักดิ์จุติ ปลั่งพงษ์พันธ์ (ออมสิน) หนุ่มขาพิการจากอุบัติเหตุ วัย 34 ปี อาชีพครูสอนศิลปะและขับรถ Grab ลงแข่งประเภทจักรยานที่ใช้อุปกรณ์กระตุ้นด้วยระบบไฟฟ้า(FES) และคุณเกรียงไกร เตชะดี (ปาล์ม) หนุ่มผู้พิการตั้งแต่คอลงไป นักศึกษาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา วัย 26 ปี ลงแข่งประเภทคลื่นสมองเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ (BCI) แค่คิด...ก็ขับรถแข่งได้

รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ผลสำรวจสำนักงานสถิติแห่งชาติ-องค์การยูนิเซฟ ปีพ.ศ.2560 พบว่าไทยมีคนพิการประมาณ 3.7 ล้านคน คิดเป็น 5.5% ของประชากรประเทศ โดยคนพิการวัยทำงานที่มีอายุ 15–59 ปี และคนพิการวัยสูงอายุ มีความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกายมากที่สุดคิดเป็น ร้อยละ 61.3 และ ร้อยละ 38.7 ตามลำดับ ดังนั้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้มนุษย์มีโอกาสก้าวพ้นขีดจำกัดความพิการทางสมองและร่างกาย  ทั้งนี้ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ มุ่งสร้างทีมมหิดล บีซีไอแล็บ (MAHIDOL BCILAB) ตัวแทนทีมชาติไทย มีศักยภาพและความพร้อมเต็มที่ทั้งด้านอุปกรณ์นวัตกรรม ผู้แข่งขันและทีมงานนักวิจัย นวัตกรและนักไซเบอร์คนรุ่นใหม่รวม 21 คน

                

ไซบาธอน (Cybathlon) จัดทุก 4 ปี เปรียบเสมือน "โอลิมปิกทางเทคโนโลยีระดับโลกสำหรับผู้พิการและนวัตกร" จากทั่วโลกได้มาประลองการออกแบบนวัตกรรมและใช้เทคโนโลยีสุดล้ำสำหรับผู้พิการ เป็นอนาคตของอุตสาหกรรมการแพทย์และมนุษยชาติ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ BCI คลื่นสมองเชื่อมกับคอมพิวเตอร์ สรีระอุปกรณ์หรือเทคโนโลยีใหม่ๆที่น่าตื่นตาตื่นใจ เริ่มจัด Cybathlon 2016 เป็นครั้งแรก และครั้งนี้ Cybathlon 2020 เมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีผู้สมัครเข้าแข่งขัน 77 ทีม จาก 30 ประเทศทั่วโลก คุณค่าและความโดดเด่นของ Cybathlon ได้สร้างความฮือฮาให้โลกโดยกระตุ้นการสร้างสรรค์นวัตกรรมและวิจัยใหม่ๆเพื่อช่วยให้ผู้พิการและผู้ป่วยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ พัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ใช้กับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้พิการจากโรคภัยและการบาดเจ็บ ขณะที่หลายประเทศกำลังก้าวสู่สังคมสูงวัย ทั้งนวัตกรนักวิจัยได้มาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เทคโนโลยี โดยหลังการแข่งขันไซบาธอนจบ 1 ปี จะมีการเผยแพร่องค์ความรู้ส่วนหนึ่งออกสู่สาธารณะอีกด้วย ช่วยยกระดับความก้าวหน้าอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ตลอดจนพัฒนาศักยภาพผู้พิการ คาดว่าในอนาคต ไซบาธอน (Cybathlon) จะได้เป็นส่วนหนึ่งของมหกรรมกีฬาโอลิมปิกครั้งต่อไป

รศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และที่ปรึกษาทีมไทย กล่าวว่า Cybathlon 2020 ครั้งนี้จัดที่เมือง Zurich ซึ่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นเจ้าภาพ ในปีนี้ มีผู้เข้าร่วมแข่งขันมากขึ้นกว่าครั้งก่อนถึง 3 เท่า กำหนดจัดวันที่ 13 - 14 พ.ย. แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 จึงปรับรูปแบบของการแข่งขันเป็น Virtual ออนไลน์ และถ่ายทอดไปยังนานาประเทศด้วย  การแข่งขัน Cybathlon 2020 แบ่งออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่ 1. ประเภทควบคุมสั่งการแข่งรถด้วยคลื่นสมองเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ (BCI : Brain-Computer Interface Race) สำหรับผู้พิการการเคลื่อนไหวในระดับต่ำกว่าคอลงมา  2. ประเภทจักรยานที่ใช้อุปกรณ์กระตุ้นกล้ามเนื้อขาด้วยระบบไฟฟ้า (Functional Electrical Stimulation Bike Race) สำหรับผู้พิการไขสันหลัง ตั้งแต่เอวลงมา 3. ประเภทใช้เทคโนโลยีแขนเทียมเพื่อปฏิบัติภารกิจ (Powered Arm Prosthesis Race) 4. ประเภทใช้เทคโนโลยีขาเทียม แข่งขันวิ่งวิบากและปฏิบัติภารกิจ (Powered Leg Prosthesis Race) 5. ประเภทแข่งขันเดินผ่านสิ่งกีดขวางโดยใช้อุปกรณ์เสริมแรงสำหรับผู้พิการไขสันหลัง (Powered Exoskeleton Race) และ 6. ประเภทแข่งขันควบคุมวีลแชร์ ซึ่งมีต้นกำลังขับเคลื่อนเพื่อขึ้นบันไดและตะลุยวิบาก (Powered Wheelchair Race)

สองนวัตกรรมที่ทีมคนไทย MAHIDOL BCILAB ได้ออกแบบ คือ 1.นวัตกรรมอุปกรณ์ BCI หรือ Brain-Computer Interface นับเป็นเทคโนโลยีเชี่อมสัญญาณสมองกับคอมพิวเตอร์เพื่อสั่งการอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งทั่วโลกให้ความสนใจและหลายองค์กรชั้นนำกำลังเร่งพัฒนาออกมาใช้กับมนุษย์ในอนาคตอันใกล้นั้น ระบบของ BCI ประกอบด้วย ชุดอุปกรณ์สัญญาณสมอง ได้แก่ หมวกที่มีอิเล็กโทรดสำหรับวัดสัญญาณสมองจากผิวบนหนังศรีษะ และวงจรขยายสัญญาณสมอง เชื่อมต่อเข้ากับซอฟแวร์วิเคราะห์รูปแบบของสัญญาณที่ทางทีมพัฒนาขึ้น เพื่อใช้ในการแยกแยะสัญญาณสมองออกจากสัญญาณชีวภาพชนิดอื่น จากนั้นจึงแยกแยะแต่ละคำสั่งออกมาในรูปแบบที่ต้องการ บังคับรถเลี้ยวซ้าย ขวา และเปิดไฟหน้าตามต้องการ

              

2.นวัตกรรมอุปกรณ์จักรยานไฮเทค FES ใช้พหุศาสตร์เทคโนโลยีขั้นสูงที่เราออกแบบเองตั้งแต่ชิปวงจร ฮาร์ดแวร์ เครื่องกล ไฟฟ้าและไอที ประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ ได้แก่ วงจรกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้า ซึ่งจะมีแผ่นอิเล็กโทรดติดที่ขาแล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าทำให้กล้ามเนื้อยืดหดตัวเป็นจังหวะ เพื่อใช้ในการปั่นจักรยาน  อีกส่วนหนึ่งคือ ตัวจักรยานที่ออกแบบเป็นพิเศษให้รองรับสรีระของผู้แข่งขันโดยใช้เบาะนั่งแบบแขวน ระบบขับเคลื่อนและโครงสร้างจักรยาน สอดคล้องกันและสามารถใช้งานได้ทั้งในสนามแข่งและนอกสนามแข่ง เช่น รูปทรง วัสดุ และน้ำหนัก ระบบทดกำลัง และ ระบบดูดซับแรงสั่นสะเทือนจากพื้นถนน  โดยในระบบกระตุ้นไฟฟ้านั้นจะมีชุดประมวลผลที่สามารถตรวจสอบสถานะของจักรยานและปรับเปลี่ยนรูปแบบการปล่อยไฟฟ้าลงบนกล้ามเนื้อให้มีประสิทธิภาพสูงสุดอีกด้วย ทำให้ผู้พิการสามารถใช้ขาปั่นจักรยานได้อย่างน่าทึ่ง

            

คุณเกรียงไกร เตชะดี (ปาล์ม) อายุ 26 ปี ทีมมหิดล บีซีไอแล็บ (MAHIDOL BCILAB) ตัวแทนทีมชาติประเทศไทย ผู้แข่งขัน ประเภทควบคุมการแข่งรถด้วยคลื่นสมองเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ (Brain-Computer Interface Race: BCI) กล่าวว่า พิการต่ำกว่าคอลงมาจากอุบัติเหตุตกจากที่สูง ด้วยความก้าวล้ำของนวัตกรรม BCI เป็นประโยชน์มากต่อคนพิการขั้นรุนแรง ในการฝึกซ้อม BCI ต้องใช้สติ สมาธิและความเชี่ยวชาญ เพียงแค่คิดก็ขับรถแข่งได้ในเกมที่กำหนดโดยใช้สัญญาณสมองควบคุมการเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา และเปิดไฟ สำหรับภารกิจแข่งขันในระยะทาง 500 เมตร ในเวลา 4 นาที โดยเมื่อปี 2019 เคยทำผลงานโดดเด่นในการแข่งขันลีกเฉพาะของ Cybathlon ในงานประชุมวิชาการด้านสัญญาณสมอง ณ เมืองกลาซ ประเทศออสเตรีย สำหรับปีนี้ผมมั่นใจมากครับ

           

 ส่วน คุณศักดิ์จุติ ปลั่งพงษ์พันธ์ (ออมสิน) อายุ 34 ปี ทีมมหิดล บีซีไอแล็บ (MAHIDOL BCILAB) เป็นผู้แข่งขันในประเภทจักรยานที่ใช้อุปกรณ์กระตุ้นกล้ามเนื้อขาด้วยระบบไฟฟ้า (Functional Electrical Stimulation Bike Race : FES)กล่าวว่า  พิการตั้งแต่ระดับเอวลงมาจากอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์เมื่อหลายปีก่อน นวัตกรรมจักรยานไฮเทคนี้ทำให้สามารถปั่นจักรยานได้อย่างน่าทึ่ง ซึ่งการแข่งขันจะให้เวลา 8 นาที สำหรับภารกิจปั่นระยะทาง 1,200 เมตร ผมได้มีส่วนร่วมกับทีมงานในการออกแบบดีไซน์จักรยานนี้ให้มีประสิทธิภาพ ในอนาคตเราสามารถพัฒนาเป็นอุปกรณ์ต้นแบบทำกายภาพเพื่อฟื้นฟูระบบประสาทและการทำงานของกล้ามเนื้อผู้ป่วยในอนาคตได้ ผมมั่นใจว่า Cybathlon 2020 จะเป็นโอกาสสำคัญที่จะแสดงถึงศักยภาพของคนไทยและคนพิการบนเวทีโลก

          

คุณพงศกร เวชการ ผู้จัดการทีมมหิดล บีซีไอแล็บ (MAHIDOL BCILAB) กล่าวว่า สนามแข่ง Cybathlon 2020 ทางออนไลน์ ปีนี้มีทั้งหมด 40 ฮับ ทั้งนี้คณะกรรมการจัดงาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ส่งตัวแทนมาตรวจเช็คตามมาตรฐานที่กำหนด  การตัดสิน ในการแข่งขันทุกประเภทจะตัดสินจากเวลาที่ใช้ในการทำภารกิจ หากไม่สามารถทำสำเร็จก่อนหมดเวลาจะตัดสินจากคะแนนหรือระยะทางที่ทำได้ แต่ละทีมจะมีโอกาส 3 ครั้งเพื่อนำคะแนนที่ดีที่สุดมาตัดสินเป็นผู้ชนะในแต่ละประเภท

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ทีมมหิดล บีซีไอแล็บ (MAHIDOL BCILAB) ขอเชิญชวนคนไทย มาลุ้นเชียร์เป็นกำลังใจให้ทีมชาติไทย ผ่านเพจ https://www.facebook.com/egmahidol/    โดยวันที่ 13 พ.ย.(22.00 - 02.00 น.) แข่ง 3 ประเภท คือ ประเภทควบคุมสั่งการด้วยคลื่นสมองเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ (BCI), ประเภทใช้เทคโนโลยีแขนเทียมเพื่อปฏิบัติภารกิจ และ ประเภทจักรยานที่ใช้อุปกรณ์กระตุ้นกล้ามเนื้อขาด้วยระบบไฟฟ้า (FES)

วันที่ 14 พ.ย.(19.00 - 21.00 น.)  แข่ง 3 ประเภท คือ ประเภทควบคุมวีลแชร์ ซึ่งมีต้นกำลังขับเคลื่อนเพื่อขึ้นบันไดและตะลุยวิบาก , ประเภทใช้เทคโนโลยีขาเทียม วิ่งวิบากและปฏิบัติภารกิจ และประเภทแข่งขันเดินผ่านสิ่งกีดขวางโดยใช้อุปกรณ์เสริมแรงสำหรับผู้พิการไขสันหลัง