Bluebik แนะธุรกิจใช้ "Agile" เพิ่มประสิทธิภาพการตลาดยุคโควิด-19

Bluebik แนะธุรกิจใช้ "Agile" เพิ่มประสิทธิภาพการตลาดยุคโควิด-19

สร้างความได้เปรียบด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์ได้รวดเร็ว ตรงจุด ทันความต้องการผู้บริโภค พร้อมแนะ 4 สเต็ปประยุกต์ใช้ Agile การทำการตลาดให้สำเร็จ

 

บลูบิค (Bluebik) แนะนำหลักการ Agile มาปรับใช้กับการทำการตลาดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการได้รวดเร็วขึ้นกว่าการทำตลาดแบบเดิมด้วยการสร้างแคมเปญการตลาดขนาดเล็ก หรือประเมินความต้องการของลูกค้าแบบเรียลไทม์จากข้อมูลที่ทำการเก็บอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการทำการตลาดแบบ Agile จะช่วยสร้างยอดขายเพิ่มขึ้นและนำเสนอสินค้าได้ทันความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น พร้อมแนะ 4 สเต็ปประยุกต์ใช้ Agile กับการทำการตลาดให้ประสบความสำเร็จในยุคโควิด-19 ระบาด ได้แก่ วางกรอบและแนวทางการทำงานให้ชัดเจน ซึ่งตั้งอยู่บนความเข้าใจเดียวกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง สร้างทีม Agile เฉพาะกิจ เริ่มจากแคมเปญการตลาดขนาดเล็ก และ หมั่นวัดและประเมินผลเพื่อค้นหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ

 

นายพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำด้านกลยุทธ์และการจัดการด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี เปิดเผยว่า หากธุรกิจต้องการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและนำเสนอสินค้าบริการให้ตรงใจ นักการตลาดยุคใหม่ควรต้องปรับกลยุทธ์การตลาดให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคหลังวิกฤตโควิด-19 ที่เปลี่ยนไปทั้งด้านอุปนิสัยและพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคชาวไทย โดยนำหลักการ Agile มาปรับใช้ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวและเสริมประสิทธิภาพในการทำการตลาดในวันที่ไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกต่อไป

 

Agile คือกระบวนการที่จะช่วยให้การทำงานรวดเร็วขึ้น เน้นสื่อสารระหว่างบุคคลเพื่อความเข้าใจกัน โดยมีการกระจายอำนาจการตัดสินใจ และเปลี่ยนวิธีการทำงานจากที่กำหนดเป้าหมายระยะยาวแบบมุ่งไปครั้งเดียว เป็นระยะสั้นๆ หรือที่เรียกว่า สปรินท์ (Sprint) เพื่อให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจ ซึ่งเกิดขึ้นได้ทุกวัน และแก้ไขปัญหาข้อผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดการคิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ จากการระดมสมองอย่างไม่มีขีดจำกัด ส่งผลให้สินค้าและบริการได้รับการพิจารณาและปรับปรุงจากทุกฝ่ายพร้อมกัน มีระบบความคิดที่รอบคอบ สามารถดึงจุดแข็งของธุรกิจดั้งเดิมออกมาตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค แบบไร้ข้อผิดพลาดหรือมีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด ที่สำคัญที่สุดคือ การร่วมงานอย่างใกล้ชิดและการสื่อสารที่ชัดเจน

 

"Agile ในบริบทของการทำการตลาดเป็นการสร้างแคมเปญการตลาดที่คล่องตัว สามารถปรับเปลี่ยนและนำเสนอผลิตภัณฑ์ได้อย่างรวดเร็ว จากการใช้ข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อพัฒนากลยุทธ์การตลาดตามความต้องการของผู้บริโภค โดยยิ่งธุรกิจออกแคมเปญการตลาดเร็วขึ้นเท่าไร จะได้รับผลตอบรับจากผู้บริโภคเร็วขึ้นเท่านั้น และสามารถนำผลตอบรับดังกล่าวมาปรับปรุงให้แคมเปญใหม่ตรงใจลูกค้ามากขึ้น และออกแคมเปญได้ในเวลาที่เหมาะสมทันต่อเหตุการณ์ ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ หรือหาทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้แบบเรียลไทม์" นายพชร กล่าว

 

ทั้งนี้ การทำการตลาดแบบ Agile เป็นแนวทางที่หลายองค์กรในต่างประเทศนำไปใช้จริง จากรายงานการสำรวจองค์กรธุรกิจชั้นนำชื่อ State of Agile จาก Digital.ai บริษัทให้บริการโซลูชั่นการบริหารจัดการองค์กรในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ทำการสอบถามความเห็นจากผู้บริหารและที่ปรึกษาธุรกิจจากหลายภาคอุตสาหกรรมมากกว่า 1,000 รายทั่วโลกเมื่อปี พ.ศ. 2562 พบว่า โดย 60% ขององค์กรที่นำหลักการ Agile มาปรับใช้ ระบุว่าช่วยให้ออกแคมเปญการตลาดได้รวดเร็วขึ้นกว่าการตลาดแบบเดิม และ 26% เปิดเผยว่าช่วยลดต้นทุนการทำแคมเปญลงด้วยเช่นกัน

 

นายพชร ยังระบุถึงขั้นตอนเบื้องต้นที่องค์กรธุรกิจสามารถนำหลักการ Agile ไปประยุกต์ใช้กับการทำการตลาดเพื่อเพิ่มความคล่องตัวและเสริมประสิทธิภาพในการทำการตลาดในยุคการแพร่กระจายของโควิด-19 ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ดังนี้  

 

  1. วางกรอบเป้าหมาย ซึ่งนับเป็นขั้นตอนลำดับแรก โดยตั้งอยู่บนความเข้าใจเดียวกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยการตั้งเป้าหมายและวางแนวทางการทำงานเบื้องต้น ทั้งการสร้างทีมงาน วิธีการทำงานของนักการตลาดหรือแนวทางการสร้างแคมเปญ เพื่อนำไปสู่การกำหนดรูปแบบการทำการตลาด และการนำแนวคิดไปปฏิบัติจริง 
  2. สร้างทีม Agile Marketing เฉพาะกิจ ซึ่งมีความแตกต่างจากทีมงานอื่นๆ ภายในองค์กร โดยประกอบด้วยสมาชิกจำนวนไม่มากประมาณ 8 คน ที่มาจากหลายสายงานและมีทักษะแตกต่างกัน เพื่อช่วยให้การตัดสินใจต่างๆ และการทำงานประสานงานกันรวดเร็วและคล่องตัว โดยหน้าที่หลักของทีมคือการสร้าง ทดลองแคมเปญการตลาดใหม่ๆ และนำแคมเปญที่ประสบความสำเร็จไปต่อยอดปรับใช้แคมเปญอื่นๆ ในอนาคต โดยอ้างอิงตามข้อมูลผลลัพธ์จากแคมเปญก่อนหน้า
  3. เริ่มทำการตลาดจากแคมเปญเล็กๆ จะช่วยให้สามารถปรับเปลี่ยนแนวทางที่เหมาะสมได้ทันการณ์หากมีแนวโน้มยังไม่บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย อีกทั้งการทำแคมเปญเล็กจะใช้งบประมาณที่ไม่มากนัก และควรมีระยะเวลาการทำแคมเปญไม่เกิน 2 สัปดาห์แต่ต้องทำอย่างต่อเนื่องในระยะยาว โดยเบื้องต้นธุรกิจสามารถเริ่มจากการเลือกทำการตลาดกับลูกค้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพื่อเป็นการทดลองก่อน 
  4. วัดและประเมินผล โดยอ้างอิงจากข้อมูลผลลัพธ์ต่างๆ ที่เก็บรวบรวมได้ในการทำแคมเปญ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจรู้ว่าแคมเปญแบบไหนเหมาะสมที่สุดและได้ผลลัพธ์ดีที่สุด เพื่อนำไปพัฒนาแคมเปญในอนาคตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การวัดและประเมินผลแคมเปญยังช่วยค้นหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เพื่อสร้างการขยายตัวให้องค์กรต่อไป 

 

ขณะเดียวกัน นายพชรยังแนะเคล็ดลับในการทำการตลาดแบบ Agile ให้ประสบความสำเร็จเพิ่มเติม โดยธุรกิจจำเป็นต้องคำนึงถึงหลักการ 3 ข้อ อาทิ การเรียนรู้สิ่งใหม่จากการทดลองทำจริง ซึ่งเป็นการนำความคิดต่างๆ ไปลองปฏิบัติจริง โดยไม่ต้องรอให้ความคิดดังกล่าวสมบูรณ์แบบ จากนั้น ประเมินผลลัพธ์จากข้อมูลที่ได้ และนำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้พัฒนาแคมเปญในอนาคต นอกจากนี้ องค์กรยังควรเพิ่มการประสานงานและแบ่งปันข้อมูลระหว่างหลายฝ่าย ทั้งระหว่างฝ่ายประชาสัมพันธ์ ฝ่ายปฏิบัติการ และฝ่ายขาย เพื่อให้ฝ่ายการตลาดได้เข้าถึงข้อมูลพฤติกรรมลูกค้าที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งจะช่วยให้สามารถออกแบบแคมเปญการตลาดได้ตรงกับความต้องการของลูกค้ายิ่งขึ้น ขณะที่หลักการสุดท้าย คือการให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ที่กำลังเกิดขึ้นมากกว่าคาดการณ์ ซึ่งเน้นที่การเข้าใจปัญหาและความต้องการที่เกิดขึ้นจริงของลูกค้า หลังจากนั้นนำปัญหาดังกล่าวมาคิดแคมเปญที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ แทนการทำแคมเปญโดยยึดตามคาดการณ์ล่วงหน้าที่อาจล่าช้าเกินไปและไม่ทันกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

 

"หากธุรกิจต้องการอยู่รอดและเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในโลกที่พฤติกรรมผู้บริโภคและปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจเปลี่ยนไว การเปลี่ยนแนวทางทำการตลาดแบบเดิม มาเป็นการทำการตลาดแบบ Agile ซึ่งมีความคล่องตัว จะช่วยให้องค์กรพร้อมรับมือเทรนด์ผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว และสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่งในตลาด" นายพชร กล่าวทิ้งท้าย