นมไทย-เดนมาร์คตั้งเป้าหมื่นล้านหวังสู่ผู้นำตลาดนมอันดับหนึ่ง

นมไทย-เดนมาร์คตั้งเป้าหมื่นล้านหวังสู่ผู้นำตลาดนมอันดับหนึ่ง

เร่งขยายธุรกิจผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์ค ทุ่มงบลงทุน เพิ่มกำลังการผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ เพื่อรุกขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ

 

องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์ค ตั้งเป้ารายได้หมื่นล้านเร่งขยายธุรกิจผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์ค ทุ่มงบลงทุนกว่า 40 ล้านบาท เพิ่มกำลังการผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ โดยขยายรายผลิตที่โรงงานนม อ.ส.ค. ภาคเหนือตอนบน ต.ห้วยแก้ว จ.เชียงใหม่  เพื่อรุกขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ            

ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เปิดเผยว่า ในปี 2562 อ.ส.ค. ตั้งเป้ารายได้ 10,000 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มจากปีงบประมาณ 61 ที่ทำรายได้ 9,560 ล้านบาท อ.ส.ค.ทุ่มงบลงทุนกว่า 40 ล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ และกลุ่มผลิตภัณฑ์นมเย็นที่โรงงานนม อ.ส.ค. ภาคเหนือตอนบน  

โดยนำไปปรับปรุงในส่วนของโรงงาน ระบบการผลิต และเครื่องจักรใหม่ ซึ่งในปัจจุบันการผลิตภัณฑ์นมพาสเจอร์ไรส์และกลุ่มผลิตภัณฑ์นมเย็นมีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การลงทุนในการปรับปรุงและการขยายไลน์ผลิตนมพาสเจอร์ไรส์และกลุ่มผลิตภัณฑ์นมเย็นที่โรงงานนม อ.ส.ค. จังหวัดเชียงใหม่ จึงเป็นสิ่งสำคัญ

สำหรับการลงทุนปรับปรุงและขยายกำลังการผลิตโรงงานนม อ.ส.ค. จังหวัดเชียงใหม่นี้ ได้ปรับปรุงโรงงานระบบการผลิต เครื่องจักร ชุดพาสเจอร์ไรส์ที่สามารถทำการผลิตได้ 5 ตัน / ชั่วโมง แทงค์น้ำนมดิบ ปริมาณขนาด 10 ตัน แทงค์ผสมน้ำนม ขนาด 500 ลิตร, 2 ตัน และ  3 ตัน และแทงค์พาสเจอร์ไรส์น้ำนม ขนาด 5 ตัน และขนาด 3 ตัน นอกจากนี้ ยังมีเครื่องบรรจุโยเกิร์ต เครื่องบรรจุนมถุง และเครื่องบรรจุนมขวด เป็นต้น

ปัจจุบัน อ.ส.ค. รับซื้อน้ำนมดิบจากสหกรณ์ฯรวมกว่า 44 สหกรณ์ เฉลี่ย 800 ตันต่อวัน เพื่อรองรับการผลิตในโรงงาน อ.ส.ค. ทั้ง 5 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือตอนบน (จังหวัดเชียงใหม่) ภาคเหนือตอนล่าง (จังหวัดสุโขทัย) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จังหวัดขอนแก่น)  ภาคใต้ (จังหวัดปราณบุรี) และภาคกลาง (จังหวัดสระบุรี)

สำหรับการขยายโรงงานนม อ.ส.ค. ภาคเหนือตอนบน จังหวัดเชียงใหม่ สามารถรองรับปริมาณน้ำนมดิบจากสหกรณ์โคนม และเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมจากทางภาคเหนือได้มากขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำนมดิบภาคเหนือมีปริมาณเพียงพอและมีมากกว่ากำลังการผลิตเดิมที่เคยผลิตได้ 15 ตัน / วัน ดังนั้น การขยายกำลังการผลิตของโรงงานเป็น 30 ตัน / วัน จึงทำให้  อ.ส.ค. สามารถรับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรได้มากขึ้นอีกเท่าตัว เมื่อกำลังการผลิตนมพาสเจอร์ไรส์สูงขึ้น สามารถส่งผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น จึงช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดเชิงรุกให้แก่ตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์ค ที่สามารถกระจายผลิตภัณฑ์นมพาสเจอร์ไรส์และกลุ่มผลิตภัณฑ์นมเย็นให้เข้าถึงทั่วพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และภูมิภาคอื่นๆทั่วประเทศ

ปัจจุบัน  อ.ส.ค. ได้มีการทำแผนประชาสัมพันธ์ เพื่อรณรงค์และสนับสนุนให้คนไทยและเยาวชนไทยหันมาบริโภคนมที่มีคุณภาพจากนมโคสดแท้ 100%  ไม่ผสมนมผงอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย อ.ส.ค. ได้มีการพัฒนาช่องทางการตลาดในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์ค ภายใต้โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการร้านไทย-เดนมาร์คระหว่าง อ.ส.ค. กับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศในการเปิดร้านไทย-เดนมาร์ค  มิ้ลค์ช็อป (THAI-DENMARK MILK SHOP) ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 14 สาขาทั่วประเทศ โดยในเขตภาคเหนือ มีจำนวนทั้งสิ้น 4 สาขา ได้แก่ โรงเรียนมงฟอร์ต จ.เชียงใหม่,  มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยแม่โจ้, มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ล้านนา

นอกจากนี้ ในส่วนของร้านไทย-เดนมาร์ค มิ้ลค์แลนด์ (THAI-DENMARK MILK LAND) อ.ส.ค. มีการนำผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์ค ที่ผลิตจากน้ำนมโคสดแท้ 100 % ได้แก่ โยเกิร์ต นมพาสเจอร์ไรส์ และไอศครีม มาเป็นส่วนผสมหลักของเมนูเครื่องดื่ม อาทิเช่น โกโก้เย็น ลาเต้ สมูทตี้ผลไม้ต่างๆ ฯลฯ เป็นต้น ปัจจุบันร้านไทย-เดนมาร์ค มิ้ลค์แลนด์ (THAI-DENMARK MILK LAND)  มีทั้งหมด 24 สาขา  ซึ่งในเขตพื้นที่ภาคเหนือ มีทั้งหมด 3 สาขา ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดน่าน  2 สาขา

ดังนั้น การที่ อ.ส.ค. ได้มีการปรับปรุงและขยายการผลิตโรงงานนมพาสเจอร์ไรส์ จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากเพื่อรองรับน้ำนมดิบจากเกษตรกรในเขตพื้นที่ภาคเหนือที่มีปริมาณน้ำนมดิบที่เพิ่มขึ้นแล้ว  ยังช่วยให้การผลิตผลิตภัณฑ์นมพาสเจอร์ไรส์และกลุ่มนมเย็นของ อ.ส.ค. มีการผลิตและกระจายสินค้าได้มากขึ้น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน นอกจากนี้ อ.ส.ค. ยังมีแผนที่จะขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์นมพาสเจอร์ไรส์และกลุ่มนมเย็นไปยังกลุ่มธุรกิจ Catering ต่างๆ เช่น โรงแรม ฟู้ดส์คอร์ท ร้านอาหาร อีกด้วย

ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างฐานการผลิตผลิลภัณฑ์นมของ อ.ส.ค. ให้มีประสิทธิภาพเพื่อแตกไลน์สินค้าและขยายกลุ่มผู้บริโภคให้มากขึ้นแล้ว ยังช่วยเป็นการสนับสนุน ส่งเสริมให้คนไทยได้ดื่นมนมกันมากขึ้น และช่วยสืบสาน สานต่อและธำรงค์โคนมอาชีพพระราชทาน จากในหลวงรัชกาลที่ 9  ซึ่งเป็นอาชีพพระราชทานให้อยู่คู่กับสังคมไทยให้ยาวนานต่อไปด้วย ดร.ณรงค์ฤทธิ์ กล่าว