หญิงที่เป็นโรคลมชัก ก็มีบุตรให้ชื่นใจได้

หญิงที่เป็นโรคลมชัก ก็มีบุตรให้ชื่นใจได้

น.พ.รังสรรค์ ชัยเสวิกุล แพทย์ด้านโรคสมองและระบบประสาท

 

โรคลมชักเป็นโรคที่ยังพบได้บ่อยในประชากร จากข้อมูลทางสถิติประมาณว่ามีผู้ป่วยโรคลมชักร้อยละ 2 ของประชากร ถ้าประเทศไทยมีประชากร 65-68 ล้านคน ก็จะมีผู้ป่วยโรคลมชักอยู่ประมาณ 130,000 ถึง 136,000 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยหญิงประมาณครึ่งหนึ่ง คือประมาณ 6 หมื่นกว่าคน และอาจจะอยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ที่สามารถแต่งงานและมีบุตรได้ประมาณ 3ถึง 4หมื่นคน

 

ผู้หญิงที่เป็นโรคลมชักก็มีหัวใจเช่นหญิงทั่วไป เธอเหล่านั้นก็สามารถเป็นภรรยาที่ดีและมีบุตรได้เช่นคู่สามีภรรยาอื่นๆเช่นกัน โรคลมชักไม่ใช่อุปสรรคที่ยากเกินไปสำหรับการมีครอบครัวเป็นของตนเอง

 

อย่างไรก็ดี การตั้งครรภ์จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายต่อร่างกายของหญิงที่ตั้งครรภ์ ซึ่งในบางรายก็อาจจะกระตุ้นให้เกิดอาการชักมากขึ้นได้โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ยังควบคุมอาการชักไม่ได้ อาจทำให้เภสัชพลศาสตร์และเภสัชจลนศาสตร์ของยากันชักเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ระดับยาและหรือประสิทธิภาพของยากันชักเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ลดประสิทธิภาพของยาหรือเกิดผลข้างเคียงขึ้นได้ ผู้ป่วยหญิงจึงควรติดตามดูแลกับแพทย์ผู้รักษาอย่างใกล้ชิดร่วมกับสูติแพทย์ หรือปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคลมชักร่วมกันดูแล ตั้งแต่ช่วงวางแผนก่อนมีบุตร ช่วงเวลาที่กำลังตั้งครรภ์ ช่วงเวลาหลังคลอด และช่วงแรกๆของการเลี้ยงดูบุตรสาเหตุของโรคลมชักหรือยากันชักเองอาจทำให้ทารกพิการแต่กำเนิดได้ ผู้ป่วยหญิงและครอบครัวจึงควรวางแผนการตั้งครรภ์ร่วมกับแพทย์ผู้รักษา ไม่ควรหยุดยาหรือเปลี่ยนยากันชักระหว่างกำลังตั้งครรภ์ เนื่องจากอาจเกิดการชักจนเกิดอันตรายต่อทารกหรือผู้ป่วยหญิงได้

 

แนวทางการดูแลรักษาโรคลมชักในหญิงที่วางแผนจะตั้งครรภ์ ได้แก่

  1. ผู้ป่วยหญิงและครอบครัวควรปรึกษาแพทย์ว่าสามารถหยุดยากันชักได้หรือไม่ถ้าโอกาสเกิดอันตรายจากการชักซ้ำหลังหยุดยาน้อยมาก จึงให้พิจารณาหยุดยาสักระยะหนึ่งก่อนการตั้งครรภ์
  2. ถ้าไม่สมควรหยุดยากันชักหรือเลือกที่จะไม่หยุดยา ถ้าทำได้ควรปรับและหรือเปลี่ยนยากันชักก่อนการตั้งครรภ์ดังนี้พิจารณาเปลี่ยนให้ยากันชักชนิดเดียว ให้ยากันชักชนิดที่มีรายงานเกิดความพิการในทารกต่ำ เช่น carbamazepine, lamotrigine, levetiracetamหลีกเลี่ยงยาที่มีรายงานความพิการในทารกสูง เช่น valproate ที่ทำให้เกิดความพิการของกระดูกสันหลังและหรือไขสันหลัง(neural tube defect)ได้มากกว่ายาอื่นๆจึงควรหลีกเลี่ยงหรือลดขนาดยาให้น้อยกว่าวันละ 1,000 มก. ลดขนาดยาให้น้อยที่สุดโดยยังควบคุมอาการชักได้ ถ้าควบคุมอาการชักไม่ได้ก็จำเป็นต้องให้ยากันชัก 2-3 ร่วมกัน เมื่อควบคุมอาการชักได้แล้วจึงพิจารณาการตั้งครรภ์
  3. ควรรับประทานวิตะมินโฟลิคเสริม วันละ 5 มก.ตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์จนอายุครรภ์ได้อย่างน้อย 12 สัปดาห์ อาจช่วยลดการเกิดความพิการของกระดูกสันหลังและหรือไขสันหลังของทารก
  4. ผู้ป่วยหญิงและครอบครัวควรปรึกษาแพทย์จนเข้าใจถึงโอกาสเกิดการชักสูงขึ้นได้ระหว่างการตั้งครรภ์ อันตรายจากการชักระหว่างตั้งครรภ์ต่อผู้ป่วยและทารกในครรภ์ โอกาสเกิดทารกพิการจากสาเหตุของโรคลมชักและยากันชัก และโอกาสที่ทารกจะได้รับการถ่ายทอดโรคลมชักทางพันธุกรรมเมื่อเข้าใจและยอมรับความเสี่ยงได้จึงสามารถมีบุตรได้
  5. ถ้าทำได้ ควรตรวจคัดกรองภาวะทารกพิการด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์และระดับ α-fetoprotein ในน้ำคร่ำหรือในเลือดของผู้ป่วยหญิงเมื่ออายุครรภ์ได้ 12-16 สัปดาห์
  6. ถ้ารับประทานยากันชักชนิดที่กระตุ้นเอนไซม์ตับ ควรรับประทานวิตะมินเคช่วงเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ และควรฉีดวิตะมินเคเข้ากล้ามเนื้อทารกหลังคลอดทุกราย เพื่อลดการเกิดภาวะเลือดออกในทารกแรกเกิด
  7. ควรรับประทานยากันชักอย่างสม่ำเสมอและได้นอนหลับพักผ่อนเพียงพอ
  8. โดยทั่วไปสามารถคลอดทางช่องคลอดได้ โดยอาจได้รับการช่วยคลอดตามความเหมาะสม
  9. ส่วนใหญ่สามารถเลี้ยงด้วยนมมารดาได้ ยากันชักบางชนิด เช่นphenobarbital และ กลุ่ม benzodiazepine ขับออกทางน้ำนมได้บ้าง อาจทำให้ทารกง่วงซึมได้ แต่ก็ยังสามารถให้นมบุตรได้ ถ้าทารกง่วงมากก็คอยกระตุ้นให้ดูดนมเป็นระยะ ควรป้องกันอันตรายต่อเด็กเมื่อมารดาเกิดอาการชัก เช่น เปลี่ยนผ้าเด็กและนั่งให้นมบุตรบนพื้นหรือกลางเตียงขนาดใหญ่ เช็ดตัวเด็กแทนการอาบน้ำในอ่างหรือมีผู้อื่นคอยระวังระหว่างอาบน้ำให้เด็ก ควรจัดให้ผู้ป่วยหญิงได้นอนหลับให้เพียงพอเพื่อลดโอกาสชักลงให้ผู้อื่นช่วยให้นมแม่ที่ปั๊มเก็บไว้หรือนมชงแทนในช่วงที่ผู้ป่วยหญิงต้องการนอนหลับพักผ่อน

 

จากรายงานวิจัยผลการติดตามทารกที่เกิดจากผู้ป่วยหญิงที่รับประทานยากันชักระหว่างตั้งครรภ์ พบว่าโดยส่วนใหญ่แล้วทารกที่เกิดมาสมบูรณ์ดีและมีพัฒนาการปกติหรือใกล้เคียงปกติ จึงสมควรสนับสนุนให้หญิงที่เป็นโรคลมชักที่ควบคุมอาการชักได้ดีมากหรือที่ยังมีอาการชักบ้างไม่บ่อยนัก ได้มีโอกาสมีคู่สมรสและมีบุตรเป็นของตนเองอย่างมีความสุขได้