TIJ ร่วมสมาคมนักข่าวฯ รุกลดกระทำผิดซ้ำ เพื่อสังคมปลอดภัย ไม่ตีตราผู้พ้นโทษ

TIJ ร่วมสมาคมนักข่าวฯ รุกลดกระทำผิดซ้ำ เพื่อสังคมปลอดภัย ไม่ตีตราผู้พ้นโทษ

TIJ ร่วมสมาคมนักข่าวฯ รุกลดกระทำผิดซ้ำ เพื่อสังคมปลอดภัย ไม่ตีตราผู้พ้นโทษ

ปัจจุบัน ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำจากการกระทำผิดซ้ำเป็นประเด็นที่สังคมหันมาให้ความสนใจ เพราะนอกจากจะเพิ่มภาระหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะกระทรวงยุติธรรมในการนำงบประมาณมากกว่าครึ่งที่ได้รับมาในแต่ละปีไปดูแลผู้ต้องขังแล้ว การที่เรือนจำมีสภาพแวดล้อมแออัดยังส่งผลกระทบต่อสภาวะทางร่างกายและจิตใจของผู้ที่อยู่ในเรือนจำ ทำให้ขาดแคลนพื้นที่และงบประมาณเพื่อจัดหาโครงการฝึกอบรมเพื่อฟื้นฟูเยียวยา อีกทั้งส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่เมื่อผู้พ้นโทษถูกตีตราจากสังคมจนไม่สามารถหาเลี้ยงชีพได้ด้วยวิธีการสุจริตหลังได้รับการปล่อยตัว และสุดท้ายต้องหวนกลับไปกระทำผิดซ้ำ เกิดเป็นวังวนให้ต้องกลับเข้าสู่โลกหลังกำแพงไม่จบสิ้น ขณะที่สังคมก็ต้องสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ที่หากได้รับการฝึกฝนเพิ่มเติมทักษะการใช้ชีวิตและได้โอกาสเริ่มต้นใหม่ก็จะมีส่วนช่วยให้ประเทศพัฒนาก้าวหน้าไปได้

ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จึงได้ร่วมมือกันจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนกับสื่อมวลชน ในหัวข้อ “การรายงานข่าวเพื่อช่วยลดการกระทำความผิดซ้ำ” โดยมุ่งหวังให้สื่อมวลชนในประเทศไทยที่ได้เข้าร่วมกิจกรรม ได้ทราบ ตระหนักและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันถึงความสำคัญจำเป็นและหลักการของการรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ที่อาจจะมีส่วนช่วยลดการกระทำผิดซ้ำ และนำไปสู่การบรรเทาปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ และปัญหาที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ ทั้งภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐ และการตีตราทางสังคมต่อผู้พ้นโทษต่อไป

TIJ ร่วมสมาคมนักข่าวฯ รุกลดกระทำผิดซ้ำ เพื่อสังคมปลอดภัย ไม่ตีตราผู้พ้นโทษ

TIJ ร่วมสมาคมนักข่าวฯ รุกลดกระทำผิดซ้ำ เพื่อสังคมปลอดภัย ไม่ตีตราผู้พ้นโทษ

ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการ TIJ กล่าวเปิดการอบรมว่า หวังว่าจะช่วยให้ผู้ร่วมกิจกรรมได้ต่อยอดความสนใจในประเด็นการลดการกระทำผิดซ้ำ และได้ฉุกคิดว่าการลงโทษจำคุก เป็นวิธีทางที่จะช่วยยับยั้งให้คนกระทำผิดได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ หรือจริงๆ แล้วไม่น่าจะใช่คำตอบที่สังคมไทยต้องการ โดย TIJ พร้อมจะต่อยอดประเด็นความสนใจนี้ไปด้วยกันกับสื่อมวลชน และประสานความสัมพันธ์ต่อไป การยุติธรรม การใช้โทษอาญา ผู้ต้องขังล้นคุก เป็นปัญหาสังคมที่คนในสังคมเห็นปัญหาร่วมกันได้ ถ้าเรามีพันธมิตรร่วมทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้  มุมมองจากสื่อจะช่วยขยายมุมมองของ TIJ ด้วยเช่นกัน จึงเป็นที่มาของการกิจกรรมนี้ โดยมีเป้าหมายปลายทางคือสังคมดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปและเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน

สำหรับกิจกรรมการอบรมสื่อมวลชนครั้งนี้ ประกอบด้วยกิจกรรมหลากหลาย ทั้งการใช้ทักษะการรายงานข่าวโดยมีการจำลองสถานการณ์ให้ผลิตรายงานข่าว และการบรรยายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้เชี่ยวชาญและผู้เข้าร่วมกิจกรรม โดยในช่วงแรก คุณชลธิช ชื่นอุระ ผอ.สำนักส่งเสริมข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด TIJ และ   ดร.นัทธี   จิตสว่าง ที่ปรึกษา TIJ และอดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวในการสนทนา “พ้นโทษแล้ว ยังกลับคืนสู่เรือนจำ การกระทำความผิดซ้ำ โจทย์ใหญ่ของกระบวนการยุติธรรม” ถึงประเด็นเหตุที่ทำให้ผู้พ้นโทษยังคงกระทำผิดซ้ำว่า มาจากหลายปัจจัย แต่ส่วนใหญ่เป็นเพราะเข้าไปอยู่ในกลุ่มเพื่อนกับสภาพแวดล้อมเดิม ส่วนเหตุที่มีผลช่วยให้ไม่กระทำผิดซ้ำมาจากการได้รับการยอมรับและให้โอกาสจากครอบครัวและสังคม และอีกประการหนึ่งคือศักยภาพในการก่ออาชญากรรมลดลง เพราะอายุมากขึ้นเมื่อได้รับโทษจำคุกนาน โดยหลายคนตระหนักรู้ว่าต้องการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ เมื่อพ้นโทษแล้ว จึงกลับตัวกลับใจ

TIJ ร่วมสมาคมนักข่าวฯ รุกลดกระทำผิดซ้ำ เพื่อสังคมปลอดภัย ไม่ตีตราผู้พ้นโทษ

TIJ ร่วมสมาคมนักข่าวฯ รุกลดกระทำผิดซ้ำ เพื่อสังคมปลอดภัย ไม่ตีตราผู้พ้นโทษ

นอกจากนี้ ผู้ร่วมกิจกรรมยังมีโอกาสได้สัมภาษณ์ผู้เคยกระทำผิดซ้ำคดียาเสพติด “ชีวิตใหม่ ... ที่ยังมีเรือนจำยังติดตามเราไปทุกหนทุกแห่ง” ซึ่งได้ข้อสรุปในทางเดียวกันว่า หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ผู้พ้นโทษสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ โดยไม่หวนกลับไปทำผิดอีก คือการคิดได้เองว่าต้องการจะปรับเปลี่ยนตนเองให้มีประโยชน์มีคุณค่าต่อสังคม และได้รับการสนับสนุนจากผู้ที่เปิดใจและให้โอกาสแก่พวกเขา

จากนั้น ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการ TIJ ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองในหัวข้อ “การคุมขัง เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการทำให้สังคมปลอดภัย จริงหรือ” โดยกล่าวถึงแนวทางการกำหนดโทษที่มิใช่การคุมขัง เช่น การปล่อยตัวชั่วคราว การให้บริการชุมชน การเลือกใช้โทษให้เหมาะกับคนที่สมควรจะรับโทษนั้น ให้เพียงพอกับสัดส่วนการกระทำผิด (proportionality) และการปรับแก้กฎหมายให้กำหนดโทษทางอาญาอย่างเหมาะสม ซึ่งแนวทางเหล่านี้จะช่วยบรรเทาปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำได้ พร้อมทั้งได้ยกตัวอย่างในแง่กฎหมายด้วยว่า หากกฎหมายอาญามีการกำหนดโทษในกรณีต่างๆ อย่างละเอียดเหมือนแหจับปลาที่มีความถี่มาก เรื่องเล็กน้อยก็เป็นความผิดอาญา ก็จะทำให้มีโอกาสที่จะเกิดปัญหาว่าจับคนกระทำผิดได้มาก กลายเป็นการใช้โทษอาญามากเกินไป (overcriminalization)

ส่วนการร่วมสะท้อนความคิดในหัวข้อ “นโยบายยาเสพติด มาถูกทางจริงหรือ เมื่อนักโทษคดียาเสพติดล้นเรือนจำ” จาก ผศ.นพ.ดร.อภินันท์ อร่ามรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วย คุณคาเรน ปีเตอร์ ผู้แทนสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ สรุปได้ว่า นโยบายการปราบปรามยาเสพติดมีส่วนทำให้ผู้ต้องขังล้นเรือนจำ เนื่องจากเน้นไปที่การปรามปรามให้ยาเสพติดหมดไป แต่ปัจจุบันทุกฝ่ายเห็นตรงกันแล้วว่า ยาเสพติดไม่มีทางหมดไป และจำเป็นต้องเปลี่ยนนโยบายใหม่ โดยมีการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN Sustainable Development Goals 2030) ในเป้าหมายที่ 3 ส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ทุกคน ในข้อย่อย 3.5 ระบุให้เสริมสร้างการป้องกันและรักษาผู้ที่ใช้สารเสพติดอย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งเป้าหมายนี้มุ่งเน้นว่า หากคนเรามีความมั่นคงในชีวิตแล้วก็จะห่างไกลจากสารเสพติดและใช้สารเสพติดน้อยลง สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวล่าสุดในประเทศไทยที่ได้ประกาศบังคับใช้ พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 โดยมีหลักการคือ กำหนดนโยบายหรือแผนระดับชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาแนวใหม่ เหมาะสมทางการแพทย์และเศรษฐกิจ มองปัญหาในมิติของสาธารณสุขและสุขภาพมากขึ้น วางกรอบการลงโทษที่ได้สัดส่วนและเหมาะสมกับความร้ายแรงของการกระทำผิด และมุ่งเน้นต่อการทำลายโครงสร้างเครือข่ายหรือเครือข่ายการค้ายาเสพติดที่สำคัญ

จากกิจกรรมแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ยังได้ข้อคิดเห็นจากผู้ร่วมกิจกรรมในประเด็นของ บทบาทของสื่อเพื่อลดการกระทำผิดซ้ำ ด้วยว่า เนื่องจากสังคมมีแนวโน้มจะให้ความสำคัญกับข่าวลบ เพราะมีความน่าสนใจมากกว่าข่าวที่นำเสนอพฤติกรรมที่ดีของผู้พ้นโทษและประสบความสำเร็จในชีวิต ทำให้เกิดภาพการตลาด (marketing) เป็นวงจรที่ทำให้มีแรงกดดันให้ต้องเสนอข่าวในทิศทางนี้ ดังนั้น สื่อมวลชนอาจมีบทบาทเพื่อลดการกระทำผิดซ้ำได้ ด้วยการนำเสนอข้อเท็จจริง และใช้การย้อนกลับไปดูว่าผู้ต้องขังประสบปัญหาอะไรบ้างเมื่อออกจากเรือนจำ เช่น การกีดกันการทำงาน สร้างบรรยากาศลดการตีตรา ด้วยการนำเสนอข้อมูลอื่น อย่างเรื่องราวความเป็นมนุษย์ในแง่มุมอื่นๆ และศักยภาพของผู้พันโทษ และเลือกใช้ภาษาในการรายงานอย่างเหมาะสม น่าจะเป็นแนวทางที่สร้างสรรค์และช่วยสร้างบรรยากาศให้สังคมยอมรับผู้ที่พ้นโทษแล้วได้

การจัดการอบรมสื่อมวลชน ในหัวข้อ “การรายงานข่าวเพื่อช่วยลดการกระทำความผิดซ้ำ” ครั้งนี้ นอกจากจะเอื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาและการกระทำความผิดซ้ำ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ ความท้าทาย และความคาดหวังในการทำงานข่าวเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่สนใจประเด็นดังกล่าวได้นำเสนอแนวคิดเพื่อขอรับทุนในการผลิตผลงานเกี่ยวกับการช่วยลดการกระทำความผิดซ้ำในอนาคตจำนวน 5 ทุนอีกด้วย สำหรับความคืบหน้าของกิจกรรม สามารถติดตามได้ที่ Facebook: tijthailand.org หรือ www.tijthailand.org