‘GCNT-UN’ รวมพลังสมาชิกประกาศเจตนารมณ์ ‘สู้วิกฤติโลกร้อน’ ตั้งเป้า Net Zero ภายในปี 2050

‘GCNT-UN’ รวมพลังสมาชิกประกาศเจตนารมณ์ ‘สู้วิกฤติโลกร้อน’ ตั้งเป้า Net Zero ภายในปี 2050

โกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย-UN รวมพลังสมาชิก ประกาศเจตนารมณ์ "สู้วิกฤติโลกร้อน" ตั้งเป้า Net Zero ภายใน ค.ศ.2050 หรืออย่างช้าที่สุดไม่เกิน ค.ศ.2070

กรุงเทพฯ 11 ตุลาคม 2564 : สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT - Global Compact Network Thailand) ร่วมกับ สหประชาชาติ (United Nations in Thailand)
จัดงาน GCNT Forum 2021: Thailand’s Climate Leadership Summit 2021 ภายใต้แนวคิด A New Era of Accelerated Actions รวมพลังองค์กรสมาชิกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กฯ ร่วมประกาศเจตนารมณ์ว่าด้วย “การป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ในการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบและช่วยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ 

เน้นไปที่การใช้มาตรการ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังและวัดผลได้ รวมถึงการพัฒนาแหล่งกักเก็บคาร์บอน และ การส่งเสริมพฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของภาคีเครือข่าย และ ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน โดยมีนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานเปิดงาน ร่วมด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย เป็นสักขีพยานในพิธีประกาศเจตนารมณ์ พร้อมผู้นำจากหลากหลายองค์กรร่วมแสดงวิสัยทัศน์ แลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง เป็นการส่งสัญญาณว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นสำคัญและเร่งด่วน ที่ทุกภาคส่วนพร้อมมีส่วนร่วมผลักดันและส่งเสริมให้ภาคธุรกิจเป็นผู้นำสร้างการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้  

โดยองค์กรสมาชิกของ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจชั้นนำจากธุรกิจที่หลากหลาย ทั้งด้านเกษตร-อาหาร พลังงาน การเงิน เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมทั่วไป ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

นับเป็นครั้งแรกที่ภาคเอกชนทุกธุรกิจ ทุกขนาด ของไทยตั้งเป้าหมายร่วมกันในเรื่องนี้อย่างชัดเจนและจริงจัง ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายใน ค.ศ. 2050 หรืออย่างช้าที่สุดไม่เกิน ค.ศ. 2070 โดยจะร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน เพิ่มมาตรการเพื่อรับมือกับปัญหาอันเกิดจาก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นสถานการณ์วิกฤติ (Climate Emergency) รวมทั้งวัดผลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Measure GHG Emissions) จากการประกอบธุรกิจของตนเอง เพื่อรับรู้และหาวิธีการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ยังคงมีอยู่ พร้อมเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ ต่อสาธารณะเป็นประจำ ตลอดจนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเต็มที่ (Take Action to Reduce GHG Emissions) รวมถึงมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มแหล่งกักเก็บคาร์บอน พร้อมทั้งส่งเสริมพฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน

ซึ่งการประกาศเจตนารมณ์ในครั้งนี้ จะช่วยผลักดันให้ภาคธุรกิจอื่นๆ ลุกขึ้นมาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจดั้งเดิมไปสู่ธุรกิจหมุนเวียนตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงส่งเสริมการบูรณาการงานด้านภูมิอากาศ การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์สินค้าใหม่ๆ ที่ปล่อยคาร์บอนต่ำหรือเป็นศูนย์ สอดคล้องตามนโยบายพัฒนาประเทศ

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “บทบาทผู้นำ มุ่งสู่การลงมือแก้ปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ย้ำความเร่งด่วนในการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศโลกว่า ปัญหานี้นับวันจะทวีความรุนแรงและความเร่งด่วนยิ่งขึ้น โดยกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ได้พยายามผลักดันให้ประเทศต่างๆ กำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งแม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นการตั้งเป้าโดยประเทศพัฒนาแล้ว อาทิ สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ แต่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเองก็ได้พยายามตั้งเป้าเช่นกัน อาทิ เกาหลีใต้กำหนดว่าจะเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี ค.ศ. 2050 ส่วนจีนคาดว่าจะบรรลุในปี ค.ศ. 2060 นอกจากนี้ เพื่อนบ้านไทยในอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย และ เวียดนาม ได้กำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์แล้ว โดยอินโดนีเซียตั้งเป้าในปี ค.ศ. 2070 และ เวียดนามคาดว่าจะบรรลุได้ในปี ค.ศ. 2060 ไทยจึงต้องร่วมมือกับประชาคมโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหา climate change โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการลดและควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีที่ค่อนข้างสูงเพื่อปรับเปลี่ยนแนวทางการผลิตและพฤติกรรมการบริโภค ซึ่งมักส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อประเทศกำลังพัฒนารวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน

‘GCNT-UN’ รวมพลังสมาชิกประกาศเจตนารมณ์ ‘สู้วิกฤติโลกร้อน’ ตั้งเป้า Net Zero ภายในปี 2050

ที่ผ่านมา ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมทำให้เกิดกระแสต่อต้านสินค้าบางประเภทแล้ว เช่น กรณีการต่อต้านน้ำมันปาล์มที่ผลิตในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ในสหภาพยุโรป เนื่องจากเห็นว่า การปลูกปาล์มทำให้เกิดการบุกรุกพื้นที่ป่ามากขึ้น และ ปัจจุบันอียูอยู่ระหว่างร่างระเบียบมาตรการการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน หรือที่เรียกกันว่า CBAM (ซีแบม) ซึ่งอาจกลายเป็นรูปแบบหนึ่งของมาตรการกีดกันทางการค้า

ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะเริ่มบังคับใช้ในปี 2566 ครอบคลุมสินค้า 5 ประเภท ได้แก่ ซีเมนต์ พลังงานไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า และอะลูมิเนียม รวมถึงมีแนวโน้มที่จะขยายไปยังสินค้าอื่นๆ ในอนาคต ขณะเดียวกันเริ่มมีกระแสในสหรัฐ ฯ และ แคนาดาที่อาจพิจารณาใช้มาตรการในลักษณะคล้ายคลึงกันด้วย แม้ว่าหลายประเทศเห็นว่า CBAM น่าจะขัดต่อกฎเกณฑ์ของ WTO และอาจต้องมีการฟ้องร้องกัน แต่ไทยจำเป็นต้องตระหนักว่า การฟ้องร้องใน WTO จะเริ่มขึ้นภายหลังมีการประกาศใช้มาตรการดังกล่าวแล้ว และใช้เวลานานหลายปี ดังนั้น ไทยจึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากมาตรการนี้ได้ นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่สุดท้ายแล้ว WTO จะตัดสินว่า มาตรการดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎเกณฑ์ของ WTO เช่นกัน

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาภาคเอกชนให้ความร่วมมือกับรัฐบาลเป็นอย่างดี ด้วยการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตและบริการนำร่องโครงการต่างๆ เช่น โครงการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่มีผลิตภัณฑ์รวมเกือบ 300 ผลิตภัณฑ์ หรือโครงการของสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทยที่ขณะนี้ขยายไปเป็นเครือข่ายไทยแลนด์คาร์บอนนิวทรัลแล้ว แต่ไทยจะต้องเร่งพัฒนาองค์ความรู้ เพิ่มขีดความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปรับตัวรับมือกับผลกระทบควบคู่ไปกับการสร้างภูมิคุ้มกัน โดยใช้ประโยชน์จากกองทุนระหว่างประเทศ และกลไกส่งเสริมเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ การแบ่งปันคาร์บอนเครดิตร่วมกัน หรือโครงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้ภาคเอกชนเข้าถึงเงินทุนและเทคโนโลยีมาปรับใช้ในองค์กรได้ โดยในวันนี้ตนมีความยินดีอย่างยิ่งที่สมาชิก GCNT ได้มาประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนตามแผนเหล่านี้ เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนให้ภาคส่วนอื่นๆ ดำเนินการตามต่อไป

ขณะเดียวกัน รัฐบาลอยู่ระหว่างการยกร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะเป็นกฎหมายที่ครอบคลุมประเด็นด้าน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในทุกมิติ และ ในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ไทยจะเข้าร่วมการประชุม COP26 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ซึ่งตนหวังว่า ที่ประชุมจะสามารถหาข้อสรุปร่วมกันในประเด็นสำคัญต่างๆ เพื่อนำไปสู่การดำเนินการตามความตกลงปารีสได้อย่างแท้จริง

การแก้ไขปัญหา climate change อาจก่อให้เกิดภาระทางเศรษฐกิจและเพิ่มต้นทุนการผลิต แต่นี่เป็นโอกาสที่ไทยจะพลิกโฉมประเทศสู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า อันจะนำมาซึ่งการเติบโตที่สมดุล ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญคือ เป็นโอกาสที่จะสร้างพลวัตใหม่ให้แก่เศรษฐกิจของเรา และจะเป็นประโยชน์สำหรับภาคธุรกิจทุกขนาด” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

‘GCNT-UN’ รวมพลังสมาชิกประกาศเจตนารมณ์ ‘สู้วิกฤติโลกร้อน’ ตั้งเป้า Net Zero ภายในปี 2050

ด้าน นายศุภชัย เจียรวนนท์  นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึง ความมุ่งมั่นและความตั้งใจจริงของสมาชิกเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทยว่า ขณะนี้หนึ่งในสามของสมาชิกสมาคมฯ ได้ลงมือปฏิบัติเพื่อสนับสนุนให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้ง 17 ข้อแล้ว โดยได้ดําเนินโครงการหรือจะดําเนินโครงการในอนาคตอันใกล้นี้ จํานวน 510 โครงการ และบางส่วนของ โครงการเหล่านี้คิดเป็นมูลค่ากว่าสี่แสนสองหมื่นล้านบาท ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่นเดียวกับการแสดงพลังในวันนี้ ที่จะร่วมป้องกันและแก้ปัญหาวิกฤติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมเป็นกําลังขับเคลื่อน และสนับสนุนนโยบายภาครัฐ โดยเฉพาะการขยายผลยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ BCG หรือ Bio-based, Circular และ Green Economy อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการสนับสนุนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ พลังงานสะอาด อุตสาหกรรมพื้นฐาน ชีวภาพ และธุรกิจมูลค่าสูงที่สร้างมลพิษต่ำ หรือ New S-Curve พร้อมการส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภครวมถึงนักลงทุน ตลอดจนส่งเสริมการศึกษาสร้างผู้นํารุ่นใหม่ที่มีความรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม พร้อมยกตัวอย่างหัวใจสำคัญของการปฏิรูปที่เป็นประโยชน์ต่อการป้องกันและแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นั่นคือ การส่งเสริมความโปร่งใสหรือการตระหนักรู้ผ่านตัวชี้วัดและการรายงาน อีกทั้งยังน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจมาใช้ สร้างภูมิคุ้มกันต่อความเปลี่ยนแปลง (Resilience) ตั้งอยู่บนความไม่ประมาท มีความรัก มีความเมตตา เอาใจเขามาใส่ใจเรา (Compassion) ต่อเพื่อนมนุษย์ ต่อโลก เพราะการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมต้องเริ่มจากตัวเอง

เราต้องเร่งมือ เร่งการปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจไทยสู่ยุค Net Zeroให้เร็วที่สุด ให้เป็น Race to Zero อย่างแท้จริง ด้วยระบบเศรษฐกิจและสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาด ต้องเร่งมือ เพื่อให้เกิด Just Transition หรือการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจสีเขียวที่เป็นธรรมแก่คนทุกกลุ่ม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ลดความเหลื้อมล้ำในทุกมิติ โดยเฉพาะในเรื่องเพศ เรื่องโอกาสทางเศรษฐกิจ และการศึกษาที่มีคุณภาพ” นายศุภชัย กล่าว

‘GCNT-UN’ รวมพลังสมาชิกประกาศเจตนารมณ์ ‘สู้วิกฤติโลกร้อน’ ตั้งเป้า Net Zero ภายในปี 2050

กีต้า ซับบระวาล (Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจําประเทศไทย ได้แสดงความเชื่อมั่นในศักยภาพของภาคธุรกิจ โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการขยายตลาดคาร์บอน การเพิ่มและการสร้างสรรค์นวัตกรรม การลงทุนในเทคโนโลยีที่มีความยั่งยืน รวมถึงการให้การสนับสนุนแก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในการเปลี่ยนผ่านสู่การดำเนินธุรกิจที่มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่ง GCNT ตระหนักดีว่า แม้ว่าเป้าหมายด้านความยั่งยืนจะเป็นเป้าหมายสากล แต่บริษัทต่างๆ จะต้องดำเนินการตามความพร้อมของตนในการเรียนรู้และเรียนแก้ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ท้าทายนี้

เราควรให้ความสำคัญกับการลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะสองข้อนี้ เป็นปัญหาที่เร่งด่วนที่สุดในปัจจุบัน เรามีเวลาและโอกาสที่จำกัดสำหรับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว การสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยนวัตกรรมในช่วงเวลานี้ จะเป็นโอกาสสำคัญสำหรับภาคธุรกิจในยุคปัจจุบัน ภาคเศรษฐกิจจำเป็นจะต้องเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งยิ่งเป็นการเน้นย้ำถึงความสำคัญของเวทีความร่วมมือเช่น GCNT” กีต้า กล่าว

‘GCNT-UN’ รวมพลังสมาชิกประกาศเจตนารมณ์ ‘สู้วิกฤติโลกร้อน’ ตั้งเป้า Net Zero ภายในปี 2050

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้เข้าร่วมงานในครั้งนี้ได้กล่าวถึงบทบาทของภาคเอกชนในการป้องกันและแก้ปัญหา จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่า การแก้ไขปัญหา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในวันนี้เป็นเรื่องที่เร่งด่วน และไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่เพียงแค่รัฐบาล ไม่ใช่เพียงแค่ฝ่ายค้าน ไม่ใช่เพียงแค่ภาคเอกชน แต่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน เพราะปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นเป็นปัญหาที่กระทบกับมวลมนุษยชาติทุกคน 

สิ่งที่จำเป็นต่อสังคมโลกวันนี้ ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คือ การที่เราจะต้องเดินหน้าโดยคำนึงถึงมาตรการสิ่งแวดล้อม และมาตรการสีเขียว ผนวกเข้าอยู่กับทุกๆ ขั้นตอนของภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ หรืออีกนัยหนึ่งคือเศรษฐกิจของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งของประเทศไทย จะเดินหน้าจากนี้ไปต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก มีแนวคิดเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการพัฒนาไปสู่สังคมปล่อยคาร์บอนต่ำ ผนวกเข้าอยู่กับทุกๆ นโยบายและขั้นตอนการวางแผน” นายวราวุธ กล่าว

การประชุมครั้งนี้พยายามชี้ให้เห็นความสำคัญของทุกภาคส่วนที่จะช่วยขับเคลื่อนสู่ Net Zero โดยเฉพาะบทบาทของตลาดทุนและตลาดเงิน รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้กล่าวถึงบทบาทของ ก.ล.ต. ว่า ก.ล.ต. มุ่งมั่นพัฒนาระบบนิเวศที่เกื้อหนุนให้ตลาดทุนไทยมีความยั่งยืน โดยนำหลักการ ESG มาบูรณาการกับการดำเนินงาน เน้นหลัก tone-from-the-top และการบริหารจัดการความเสี่ยง ซึ่ง ก.ล.ต. ได้ยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ในแบบรายงานประจำปี 56-1 One Report ซึ่งรวมถึงด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสิทธิมนุษยชน และส่งเสริมการออกผลิตภัณฑ์การลงทุนที่สนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ การขับเคลื่อนเรื่อง ESG จำเป็นต้องรับฟังและร่วมมือรวมพลังจากทุกภาคส่วนเพื่อผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนให้บรรลุผลสำเร็จต่อไป

เช่นเดียวกับ ดร. ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงบทบาทของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ในการเร่งกระบวนการธุรกิจเปลี่ยนผ่าน New Economy เป็น Net Zero อีกไม่นานนี้ ตลาดหลักทรัพย์กำลังจะหารือเพื่อร่วมมือกับ TGO และสภาอุตสาหกรรม ในการจัดตั้งตลาด Carbon Credit เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การลดการใช้พลังงาน และการสร้างนวัตกรรมและการพัฒนาธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยกลไกตลาดให้เป็นรูปธรรมในไทย

ทั้งนี้ งาน GCNT Forum 2021: Thailand’s Climate Leadership Summit 2021 ภายใต้แนวคิด A New Era of Accelerated Actions หรือการประชุมสุดยอดระดับผู้นำของประเทศไทย ด้านการปัองกันและแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ ภายใต้แนวคิด มิติใหม่ของการเร่งลงมือทำ จัดขึ้นบนแพล็ตฟอร์มออนไลน์ ตามรูปแบบการประชุมอย่างยั่งยืน (Sustainable Event) โดยสอดคล้องกับแนวทางของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. (Thailand Convention & Exhibition Bureau หรือ TCEB) โดยมีผู้นําจากหลากหลายองค์กรเข้าร่วมงาน จำนวนมากกว่า 800 คน อาทิ ผู้แทนองค์การระหว่างประเทศประจําประเทศไทย ผู้แทน UN Global Compact ผู้นําภาครัฐ ประชาสังคม ภาคเอกชน อาทิ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จํากัด, บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน), บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน), ธนาคาร เอชเอสบีซี, บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จํากัด, บริษัท เอ็น อาร์ อินสแตนท์โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน), บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน), บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด, บริษัท ซี.พี. อินเตอร์เทรด จำกัด บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (โลตัส), บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน), บริษัท โอ๊คลิน (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน), บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน), บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน), บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ที่มาผนึกกําลังร่วมกับสมาคมโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย เป็นภาคีเครือข่ายด้านความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ เดินหน้าเร่งลงมือทำอย่างจริงจังและวัดผลได้ เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

‘GCNT-UN’ รวมพลังสมาชิกประกาศเจตนารมณ์ ‘สู้วิกฤติโลกร้อน’ ตั้งเป้า Net Zero ภายในปี 2050

โดยภายในงานมีเสวนาถึง 5 เวที 5 หัวข้อ ได้แก่ การประเมินสถานการณ์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในไทย ทางออกในการบรรลุปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรายกลุ่มธุรกิจ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจอาหารและการเกษตร กลุ่มพลังงาน และกลุ่มอุตสาหกรรมทั่วไป บทบาทของภาคการเงินและการลงทุน บทบาทของนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการแก้ปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสรุปการหารือและการดำเนินการต่อไป

สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT - Global Compact Network Thailand): เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนธันวาคม 2561 โดยสมาชิกผู้ก่อตั้งในไทย 15 บริษัท ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 80 องค์กร โดยสมาคมฯ นับเป็นหนึ่งในเครือข่ายท้องถิ่น (Local Network) ของโครงการสำคัญในระดับโลกของสหประชาชาติ หรือ UN Global Compact ซึ่งเป็นเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในโลก รณรงค์ให้ภาคเอกชนทั่วโลกวางกลยุทธ์และยึดหลักการทำงานที่สร้างเศรษฐกิจยั่งยืน ภายใต้หลักสากล 10 ประการ ครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ สิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อม การต่อต้านทุจริต ตลอดจนดำเนินกิจกรรมที่ช่วยผลักดันเป้าหมายสหประชาชาติ อาทิ เป้าหมายว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) รวมไปถึงความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Paris Agreement)

สหประชาชาติในประเทศไทย (United Nations in Thailand): สหประชาชาติทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยและประชาชนไทยมากว่า 50 ปี เพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืน โดยยึดตามวาระสำคัญและแผนงานระดับชาติ ทีมสหประชาชาติประจำประเทศประกอบด้วยหน่วยงานของสหประชาชาติ 21 หน่วยงาน ซึ่งต่างดำเนินโครงการและกิจกรรมเฉพาะด้านในประเทศไทย ผ่านความร่วมมือกับรัฐบาลไทย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระดับชาติ ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา ภาคเอกชนผู้บริจาค สื่อมวลชน และยังทำงานอย่างใกล้ชิดกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (United Nations ESCAP) รวมถึงศูนย์ความร่วมมือระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในกรุงเทพมหานคร (UNFCCC RCC Bangkok) อีกด้วย