'ชาวเอธิโอเปีย' กับการเผชิญความยากลำบากในการเอาชีวิตรอดท่ามกลางภัยแล้ง

'ชาวเอธิโอเปีย' กับการเผชิญความยากลำบากในการเอาชีวิตรอดท่ามกลางภัยแล้ง

ชวนอ่านเรื่องราวของ "ครอบครัวชาวเอธิโอเปีย" กับการเผชิญความยากลำบาก ในการเอาชีวิตรอดท่ามกลางภัยแล้ง จาก "วิกฤติการเปลี่ยนแปลงกับการพลัดถิ่น"

เอธิโอเปีย กำลังประสบภัยแล้งที่เกิดจากปรากฏการณ์ ลานีญา ที่รุนแรงที่สุดในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา หลังจากฝนไม่ตกตามฤดูกาลติดต่อกันนาน 4 ฤดู นับตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2563 ภัยแล้งเกิดขึ้นท่ามกลางความซับซ้อนของความขัดแย้งในแคว้นโซมาเลียในเอธิโอเปีย ซึ่งเป็นพื้นที่พักพิงของผู้พลัดถิ่นภายในประเทศนับล้านคน รวมไปถึงผู้ลี้ภัย 246,000 คน ผู้ที่ถูกบังคับให้หนีจากความขัดแย้งจากประเทศโซมาเลีย ที่พักพิงอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย 8 แห่ง โดยมีผู้ที่เดินทางมาถึงใหม่ราว 16,000 คน ภัยแล้งยังส่งผลกระทบต่อพื้นที่อื่นๆ ในภูมิภาค เช่น ชาวอาฟาร์, โอโรเมีย รวมถึงชาติทางใต้ เชื้อชาติ และภาคประชาชน หรือ Southern Nations, Nationalities, and Peoples (SNNP)

"อาร์โด" เดินออกมาจากที่พักของตนเอง เมื่อได้ยินเสียงรถบรรทุกน้ำเข้ามา หลังจากที่ตนและสัตว์เลี้ยงต้องอยู่โดยปราศจากน้ำนานหลายวัน ครอบครัวผู้พลัดถิ่นภายในประเทศราว 500 คน กำลังพักพิงอยู่ในที่พักพิงชั่วคราวมารา-กาโจ ในเมือง Kebribeyah ในแคว้นโซมาเลียของเอธิโอเปีย หลังจากต้องหนีออกจากบ้าน เพื่อแสวงหาน้ำสะอาดในวิกฤติภัยแล้งรุนแรงในรอบหลายทศวรรษ

"เราไม่เคยพบเจอกับความแห้งแล้งขนาดนี้มาก่อน มันส่งผลกระทบต่อทุกชีวิต เราเรียกมันว่า the unseen" อาร์โด กล่าว

"อาร์โด" เดินเท้าราว 260 กิโลเมตร จากหมู่บ้านของตนลึกเข้าไปทางตะวันออกของภูมิภาคโซมาเลียในเอธิโอเปียไปยังเมืองเล็กๆ ชื่อว่า Kebribeyah ซึ่งอยู่ห่างออกไป 53 กิโลเมตร จากเมืองหลวงของแคว้นจิจิกา ตนบอกว่าออกเดินทางมาพร้อมกับคนในหมู่บ้าน

"อาร์โด" เป็นหนึ่งในผู้คนจำนวนมากที่พักพิงอยู่ในที่พักพิงชั่วคราวมารา-กาโจ ที่เริ่มออกเดินทางบนเส้นทางที่ยาวนาน เหน็ดเหนื่อย และเต็มไปด้วยภัยอันตราย เพื่อหาน้ำสะอาด และหญ้าสำหรับสัตว์เลี้ยงของตน

อับดุลลาฮี เกดิ คนเลี้ยงสัตว์ อายุ 55 ปี เป็นหนึ่งในผู้ที่ต้องพลัดถิ่นอยู่ในเมืองมารา-กาโจ เขาต้อนวัว แพะ และแกะ ออกจากหมู่บ้านจากทางตะวันออกของแคว้นโซมาเลีย แต่อย่างไรก็ตามสภาพพื้นที่ตลอดเส้นทางแห้งแล้งเกินไปสำหรับสัตว์เลี้ยงของเขา โดยสัตว์เลี้ยงที่รอดชีวิตไปถึงค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ บาบาคาดา เอล-บาเฮย์ ในแคว้นจิจิกาที่เขาพักพิงอยู่ตอนนี้ มีน้อยกว่าครึ่งของสัตว์เลี้ยงทั้งหมด

"นอกจาก 3 ตัวนี้แล้ว วัวที่เหลือตายทั้งหมด ผมเคยมีแพะ และแกะ รวม 445 ตัว แต่ตอนนี้มีสัตว์เลี้ยงเหลืออยู่เพียง 190 ตัว เพราะที่เหลือตายหมด" อับดุลลาฮี กล่าว

แม้การเดินทางของ "อับดุลลาฮี" จะเต็มไปด้วยอันตราย แต่เขาได้รับการต้อนรับด้วยความเมตตาจากชุมชนที่ให้ที่พักพิง ไม่ต่างจากผู้พลัดถิ่นคนอื่นๆ ที่พักพิงอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นชั่วคราวหลายแห่งในแคว้นโซมาเลีย ถึงแม้ว่าคนในชุมชนก็กำลังรับมือกับผลกระทบจากภัยแล้งด้วยความยากลำบากเช่นกัน ชาวไร่ที่ให้ความช่วยเหลือคนเลี้ยงสัตว์ผู้พลัดถิ่นแบ่งหญ้าที่มีอยู่อย่างจำกัดของพวกเขาให้กับผู้พลัดถิ่นภายในประเทศเพื่อดูแลสัตว์เลี้ยงของพวกเขา

ตั้งแต่กันยายน ปี พ.ศ. 2564 สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR ทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่น สำนักงานจัดการภัยพิบัติในภูมิภาค และพันธมิตร เพื่อมอบน้ำสะอาด ที่พักพิง เสื้อผ้าที่สร้างความอบอุ่น และของใช้ในครัวเรือน ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบมากกว่า 7,200 ครอบครัว ในค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ และในชุมชนที่ให้ที่พักพิง แต่อย่างไรก็ตาม ขณะที่ภัยแล้งทวีความรุนแรงขึ้น ความต้องการความช่วยเหลือของประชาชนเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน ปัญหาเร่งด่วนที่สุดคือ ความขาดแคลนน้ำ รวมไปถึงการบริหารจัดการน้ำ

อับดุลลาฮี ชีค แบร์รี เจ้าหน้าที่ภาคสนามของ UNHCR ในจิจิกา กล่าวว่า ความช่วยเหลือที่เราได้มอบให้ยังต่ำกว่าความต้องการที่เพียงพอต่อการดำรงชีพของผู้ที่ได้รับผลกระทบ UNHCR ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและพันธมิตรเพื่อให้แน่ใจว่าผู้พลัดถิ่นมีน้ำ ที่พักพิง สิ่งของบรรเทาทุกข์ และสนับสนุนการเดินทางแก่ผู้ที่เลือกเดินทางกลับบ้านพร้อมกับสัตว์เลี้ยง

ใน เอธิโอเปีย UNHCR และพันธมิตรด้านมนุษยธรรมกำลังยกระดับการให้ความช่วยเหลือเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นยังพยายามร่วมกันผ่าน UN Resilience Framework เพื่อสนับสนุนเอธิโอปีย ในการสร้างความยืดหยุ่นและปรับตัวในภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะภัยแล้งและน้ำท่วม

ใน แคว้นโซมาเลีย พันธมิตรด้านมนุษยธรรมกำลังให้ความช่วยเหลือผู้พลัดถิ่นมากกว่า 2.4 ล้านคน โดยการมอบอาหาร และน้ำสะอาดให้มากกว่า 859,000 คน ที่กำลังต้องการความช่วยเหลือ แต่อย่างไรก็ตามปริมาณความต้องการในปัจจุบันมีจำนวนมากกว่าทรัพยากรที่มีอยู่

UNHCR ต้องการงบประมาณ 22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 783 ล้านบาท เพื่อมอบความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ และชุมชนที่ให้ที่พักพิง 1 ล้านคน ที่ได้รับผลกระทบในเอธิโอเปีย ซึ่งงบประมาณจำนวนนี้เป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณ 42.6 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1,500 ล้านบาท ที่ UNHCR ต้องการเพื่อการตอบสนองในวิกฤติภัยแล้งรวมถึงในโซมาเลีย และเคนยา

ความร่วมมือจากบริษัทชั้นนำและผู้สนับสนุนด้านการเงินบริจาคเพื่อการกุศล มีส่วนสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตผู้พลัดถิ่นที่กำลังเผชิญกับความลำบาก ช่วยให้ UNHCR เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและความสามารถในการมอบความช่วยเหลือที่ยั่งยืนแก่ผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นทั่วโลก

\'ชาวเอธิโอเปีย\' กับการเผชิญความยากลำบากในการเอาชีวิตรอดท่ามกลางภัยแล้ง