ไต้หวัน ชู Taiwan Expo เชื่อมความร่วมมือ สู่ผู้นำการผลิตสินค้าไฮเทคของอาเซียน

ไต้หวัน ชู Taiwan Expo เชื่อมความร่วมมือ สู่ผู้นำการผลิตสินค้าไฮเทคของอาเซียน

"ไต้หวัน" ปักธง “ไทย” พื้นที่แห่งโอกาสการค้าและการลงทุน ชู Taiwan Expo เชื่อมความร่วมมือ สู่ผู้นำการผลิตสินค้าไฮเทคของอาเซียน

Taiwan Expo ถือเป็นหนึ่งในโครงการที่อยู่ภายใต้นโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southbound) ของ รัฐบาลไต้หวัน เพื่อหวังเป็นสะพานเชื่อมในด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ซึ่งได้มีการจัดขึ้นในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ภายใต้ชื่องาน “Taiwan Expo 2022” มหกรรมสินค้านวัตกรรมและเทคโนโลยีจากไต้หวันที่ใหญ่ที่สุด เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม -  4 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา โดย ดร.จวง ซั่ว ฮั่น ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำประเทศไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษถึงภาพรวมการจัดงานและแนวโน้มการลงทุนของนักลงทุนไต้หวันที่มีต่อประเทศไทย

ดร.จวง ซั่ว ฮั่น กล่าวว่า งาน Taiwan Expo 2022 จัดขึ้นในรูปแบบ Hybrid Event ผสานออนไลน์เข้ากับออฟไลน์ เพื่อให้ผู้ประกอบการชาวไทยสามารถเข้าถึงสินค้าและนวัตกรรมจากไต้หวันได้อย่างครอบคลุม ช่วยส่งเสริมการค้าแบบธุรกิจต่อธุรกิจ หรือ B2B โดยหวังว่าสินค้าและนวัตกรรมของ ไต้หวัน จะเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับชาวไทย ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนการค้าและการลงทุน นำไปสู่การผลักดันความร่วมมือทางธุรกิจในระดับนานาชาติ ซึ่งการจัดงาน Taiwan Expo ในปี 2564 ที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับที่ดีเยี่ยม โดยมีจำนวนการจับคู่เจรจาธุรกิจกว่า 284 คู่ค้า และมีผู้จัดซื้อภายในงานกว่า 118 ราย จึงเชื่อว่าการจัดงาน Taiwan Expo 2022 จะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายเช่นกัน ด้วยจำนวนผู้ร่วมชมงานไม่ต่ำกว่า 20,000 คน ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ และคาดว่าจะสร้างการเติบโตทางด้านมูลค่า 30% เมื่อเทียบกับการจัดงานในปี 2564 ที่จัดในรูปแบบออนไลน์เพียงอย่างเดียว 

ไต้หวัน ชู Taiwan Expo เชื่อมความร่วมมือ สู่ผู้นำการผลิตสินค้าไฮเทคของอาเซียน

สำหรับนวัตกรรมและสินค้าที่นำมาเข้าร่วมในงาน Taiwan Expo 2022 จะต้องได้รับตราสัญลักษณ์ Taiwan Excellence ซึ่งแสดงถึงการเป็นผลิตภัณฑ์สุดยอดของ ไต้หวัน ที่มีความคิดสร้างสรรค์และผ่านเกณฑ์มาตรฐาน รวมทั้งเมื่อขยายสู่ตลาดไทยจะมีการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนไทยด้วย โดยมีสินค้าที่ครอบคลุมจากผู้ประกอบการหลากหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มการแพทย์อัจฉริยะ (Smart Medical), กลุ่มการผลิตอัจฉริยะ (Smart Manufacturing), กลุ่มการลดการผลิตก๊าซคาร์บอน (Low Carbon Economy), กลุ่มไลฟ์สไตล์ (Lifestyle) และกลุ่มวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว (Culture & Tourism) โดยเป็นร่วมในรูปแบบออนไลน์จำนวน 240 ราย และเข้าร่วมในงานหรือออนไซต์จำนวน 46 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีผู้ประกอบการเข้าร่วมในรูปแบบออนไลน์จำนวน 170 ราย โดยนวัตกรรมและสินค้าที่นำมาโชว์เคสในปีนี้จะเน้นผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตอัจฉริยะ สมาร์ทแมนูแฟคตอริ่ง โดยเฉพาะอุปกรณ์เกี่ยวกับสุขภาพ รวมทั้งผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตนอกบ้าน  

“ผลสำเร็จจากการจัดงานในปีที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นสนใจเข้าร่วมเจรจาจับคู่ทางธุรกิจมากขึ้น ประกอบกับตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เข้ามาประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มองเห็นโอกาสทางการทำธุรกิจ ซึ่งไต้หวันมีแผนดำเนินการต่อยอดความสำเร็จจากการจัดงาน Taiwan Expo ด้วยการจัดงานแสดงสินค้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งเทรดโชว์ และพานักลงทุนไปร่วมเจรจาการค้าที่ไต้หวัน โดยหากนักลงทุนสนใจสั่งซื้อสินค้า ก็จะพาไปเยี่ยมชมโรงงานให้ได้เห็นกระบวนการการผลิต เพื่อสร้างความมั่นใจในคุณภาพสินค้าและมาตรฐานการผลิตในโรงงาน”

ไต้หวัน ชู Taiwan Expo เชื่อมความร่วมมือ สู่ผู้นำการผลิตสินค้าไฮเทคของอาเซียน

ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำประเทศไทย กล่าวว่า มูลค่าการค้าระหว่างไต้หวันและไทยเติบโตอยู่ในจุดที่ค่อนข้างสมดุลและมีความยั่งยืน โดยในปี 2564 ไต้หวัน ส่งออกสินค้ามาไทยมีมูลค่า 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโต 32% ซึ่งสินค้าที่ส่งออกสูงสุด ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ รองลงมาเป็นอะไหล่รถยนต์ เครื่องจักรสำหรับการผลิต เซมิคอนดัคเตอร์ รวมถึงแผ่นโลหะและแผ่นเหล็ก ส่วนสินค้าไทยส่งออกไปไต้หวันมีมูลค่า 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโต 31% ส่วนใหญ่เป็นสินค้าทางการเกษตร โดยเฉพาะทุเรียนที่ชาวไต้หวันชื่นชอบ ยกให้เป็นราชาแห่งผลไม้ (King of fruits) 

ขณะที่ทางด้านการลงทุนตั้งแต่เดือน มกราคม - มิถุนายน 2565 ไต้หวันกลายเป็นนักลงทุนอันดับหนึ่งในไทย ด้วยมูลค่ากว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และยังมีนักลงทุนอีกจำนวนไม่น้อยที่เตรียมปรับแผนธุรกิจใหม่หันมาลงทุนในประเทศไทย เนื่องจากเห็นโอกาสของไทยที่เป็นประเทศแห่งอนาคต โดยมีจุดเด่นหลากหลายด้าน อาทิ เรื่องวัฒนธรรม อาหาร มีความเป็นประชาธิปไตย การเมืองค่อนข้างนิ่ง มีกฎเกณฑ์ทางการค้าที่เสรี การดำเนินนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model และประเทศไทย 4.0 รวมถึงการผลักดันระเบียงเศรษฐกิจ EEC

“ประเทศไทยเป็นแหล่งแห่งโอกาสและการลงทุน ถือเป็นดาวดวงใหม่ของอาเซียน จากการที่มีห่วงโซ่อุปทานครบถ้วน โดยนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 สอดคล้องกับนักลงทุนไต้หวันที่เน้นอุตสาหกรรมทางด้านเทคโนโลยี ในฐานะเป็นผู้ผลิตชั้นนำทางด้านเซมิคอนดัคเตอร์ อุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ที่มีขนาดเล็ก ทำให้เชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าในอุตสาหกรรมไฮเทคต่างๆ ไต้หวัน และ ไทย สามารถจับมือกัน เพื่อทำให้ไทยเป็นผู้นำการผลิตสินค้าเทคโนโลยีของภูมิภาคอาเซียน ในยุคศตวรรษที่ 20 จากที่ไทยเป็นครัวของโลกอยู่แล้ว โดยปัจจุบันเริ่มเห็นแนวโน้มที่นักลงทุนเบนเข็มมาลงทุนในไทยมากขึ้น นับเป็นช่วงเวลาทองของไทย” ดร.จวง ซั่ว ฮั่น กล่าวสรุป
ไต้หวัน ชู Taiwan Expo เชื่อมความร่วมมือ สู่ผู้นำการผลิตสินค้าไฮเทคของอาเซียน