ยื่นจดหมายเปิดผนึกร้อง ผู้ตรวจการแผ่นดิน ตรวจสอบการทำงาน กสทช. กรณีควบรวม ทรู - ดีแทค

ยื่นจดหมายเปิดผนึกร้อง ผู้ตรวจการแผ่นดิน ตรวจสอบการทำงาน กสทช. กรณีควบรวม ทรู - ดีแทค

"ภัทร ภมรมนตรี" รุดยื่นจดหมายเปิดผนึกร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ตรวจสอบการทำงาน กสทช. ส่อเอื้อประโยชน์ควบรวม ทรู - ดีแทค เล่นเกมดึงฝ่ายบริหารเข้าแทรกแซงการพิจารณา

นายภัทร ภมรมนตรี ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนการทำงานของ กสทช. และพวก แก่ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ตรวจสอบและเอาผิด หากส่อเจตนาเอื้อเอกชน จากกรณีที่ กสทช. ก็ได้มีการทำหนังสือนายกรัฐมนตรี เพื่อให้กฤษฎีกาพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ของตน ในการพิจารณาการควบรวมธุรกิจ ทรู - ดีแทค เป็นรอบที่ 2 แสดงถึงเจตนา และความพยายามที่จะไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่ ของตนในฐานะองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ โดยมีความพยายามที่จะดึงฝ่ายบริหาร ให้เข้ามาแทรกแซง ครอบงำการใช้อำนาจของ กสทช. ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน

นายภัทร กล่าวว่า จากกรณีการประกาศควบรวมกันของ ทรู - ดีแทค ที่ทุกภาคส่วนต่างเฝ้าจับตามอง และเป็นกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแก่ผู้บริโภค ในขณะที่ กสทช. ในฐานะองค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 60 ที่ต้องดูแลผลประโยชน์ของประชาชน ประเทศชาติ กลับแสดงให้เห็นถึงการไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนตามที่ควรจะเป็น โดยมุ่งดูแลผลประโยชน์ของผู้ประกอบการ อย่างไม่คำนึงถึงผู้บริโภคอย่างชัดเจน จากกรณีล่าสุด หลังจากที่ กสทช. เคยมีการทำหนังสือไปยังสำนักงานกฤษฎีกาเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 เพื่อหารือเกี่ยวกับอำนาจในการพิจารณอนุมัติ หรือไม่อนุมัติการควบรวม และคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบกลับ กสทช. มาแล้ว เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ว่าไม่สามารถรับข้อหารือไว้พิจารณาได้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาล แต่เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ที่ผ่านมา ก็ได้มีการทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี อีกครั้ง เพื่อให้สั่งการไปยังกฤษฎีกาพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ในกรณีการควบรวมธุรกิจของ ทรู - ดีแทค เป็นครั้งที่ 2 ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 60 และส่งผลให้ นายกรัฐมนตรี เสื่อมเสีย และมีความเสี่ยงในการปฏิบัติขัดต่อกฎหมาย

"การมีคำถามไปยังกฤษฎีกาอีกครั้งดังกล่าว มีเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจของ กสทช. รวมถึงในทางปฏิบัติแล้ว นายกรัฐมนตรีเอง ก็ไม่มีอำนาจที่จะสั่งการให้กฤษฎีกาใช้ข้อยกเว้น เพื่อวินิจฉัยประเด็นปัญหาดังกล่าวด้วยเช่นกัน เพราะเรื่องนี้เป็นหน้าที่และอำนาจโดยเฉพาะ ตามกฎหมายของกสทช. ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมายและเป็นผู้ออกประกาศฯ ที่ปรึกษา มิใช่เป็นประกาศที่ออกโดยฝ่ายบริหาร และกสทช. มิใช่หน่วยงานในสังกัดหรือกำกับของฝ่ายบริหาร ที่นายกฯ จะมีอำนาจให้กฤษฎีกาซึ่งเป็นที่ปรึกษาของฝ่ายบริหารทำความเห็นชี้นำหรือแนะนำ ดังนั้น จึงไม่อาจมีคำสั่งให้กฤษฎีกาวินิจฉัยตามข้อยกเว้นของระเบียบฯ ได้ กสทช. จึงต้องวินิจฉัย และชี้ขาดปัญหาได้ด้วยตนเอง ดังเช่นที่เคยตีความ กฎหมายและประกาศอื่นๆ เองมาตลอด ดังนั้นถือได้ว่า กสทช. พยายามดึงฝ่ายบริหารเข้ามาเป็นหลังพิงในแง่ของกฎหมาย โดยไม่ทำหน้าที่ของตนเอง"

นายภัทร ย้ำในตอนท้ายว่า การมายื่นจดหมายถึงท่านประธานผู้ตรวจการแผ่นดินในครั้งนี้ เพื่อขอวิงวอนให้ สำนักงานตรวจการแผ่นดิน ซึ่งมีหน้าที่ดูแล สอดส่องกระบวนการทำงาน ของหน่วยงานรัฐให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และระเบียบปฏิบัติ ตลอดจนมีความโปร่งใส ตามธรรมาภิบาลแผ่นดิน ได้โปรดดำเนินการตรวจสอบและพิจารณาว่า กระบวนการที่ทั้ง กสทช. อนุกรรมการฯ และเจ้าหน้าที่ของกสทช. ที่เกี่ยวข้อง ได้เสนอความเห็นเพื่อสอบถามปัญหาดังกล่าวไปยังกฤษฎีกาเป็นครั้งที่ 2 ผ่านนายกรัฐมนตรีนั้น นับเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของ กสทช. อันมีเจตนาเพื่อเอื้อประโยชน์ แก่ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และหากตรวจสอบแล้วพบว่า เป็นตามข้อร้องเรียน ก็ขอให้ส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจในการดำเนินการเอาผิดต่อไป