มิว สเปซ เปิดตัวดาวเทียมใหม่ mu-B200 พร้อมโชว์โรงงานแห่งที่ 3

มิว สเปซ เปิดตัวดาวเทียมใหม่ mu-B200 พร้อมโชว์โรงงานแห่งที่ 3

มิว สเปซ เปิดตัวดาวเทียมใหม่ mu-B200 พร้อมโชว์โรงงานแห่งที่ 3ชูศักยภาพผลิตดาวเทียมถึง 100 ตัว! เพื่อขับเคลื่อนการแข่งขันในระดับโลก

มิว สเปซ ผู้ผลิตชิ้นส่วนด้านการบินและอวกาศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดตัวเทคโนโลยีดาวเทียมใหม่ล่าสุด “mu-B200” พร้อมโชว์โรงงานแห่งที่ 3 ใช้ชื่อว่า Factory 2 ผ่านไลฟ์สด ในงาน Virtual Live Satellite Tech Unveil 2021 โดยโรงงาน Factory 2 จะมุ่งเน้นการทำงานในรูปแบบ Vertical-integrated ซึ่งเสริมศักยภาพ มิว สเปซ ให้กลายเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมดาวเทียมและอวกาศ ในประเทศไทย สามารถทำงานด้านการออกแบบ, สร้าง และประกอบชิ้นส่วน รวมไปถึง ทดสอบประสิทธิภาพดาวเทียมที่ผลิตได้เองครบทุกขั้นตอน มั่นใจช่วยลด ต้นทุนการผลิตได้สูงสุด

 

ในเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา มิว สเปซ ได้เปิดตัวโรงงานขนาดเล็ก แห่งแรก ใช้ชื่อว่า Factory 0เพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ต้นแบบ ต่อมา ได้ทำการเปิดโรงงาน Factory 1 โรงงานแห่งที่ 2 เพื่อรองรับการผลิตดาวเทียมและชิ้นส่วนดาวเทียมเต็มรูปแบบ และล่าสุด ได้เปิดโรงงาน Factory 2 เป็นโรงงานแห่งที่ 3 เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา เพื่อใช้เป็นพื้นที่ขยายการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และระบบพลังงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตดาวเทียมของ มิว สเปซ ภายใต้แนวคิด Vertical-integrated ซึ่งครอบคลุมการทำงานตั้งแต่กระบวนการออกแบบ, สร้าง, ประกอบชิ้นส่วน และ ทดสอบประสิทธิภาพดาวเทียม ตลอดจนเทคโนโลยีที่กำลังพัฒนา ภายในโรงงานแห่งนี้อย่างครบวงจร!

มิว สเปซ มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 ที่ผ่านมาได้ดำเนินการทดสอบชิ้นส่วนบนสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง (Microgravity) ด้วยจรวด New Shepard ของบริษัท Blue Origin มาแล้วถึง 4 ครั้ง อีกทั้งมีแผนในการร่วมธุรกิจเชิงพาณิชย์กับบริษัทต่าง ๆ และ คาดว่าจะสามารถปล่อยดาวเทียมของ มิว สเปซ เพื่อส่งขึ้นไปทดสอบบนชั้นบรรยากาศจริงในเร็ว ๆ นี้ จากการที่บริษัท มิว สเปซ เติบโตอย่างรวดเร็ว และมีเป้าหมายมุ่งสู่เส้นทางการเป็นบริษัทชั้นนำด้านดาวเทียมและอวกาศระดับโลก จึงมีความตั้งใจที่จะผลักดันให้สังคมไทยเกิดความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมดาวเทียมและอวกาศในประเทศไทยพร้อมก้าวเข้าสู่การแข่งขันในระดับสากล

มิว สเปซ เปิดตัวดาวเทียมใหม่ mu-B200 พร้อมโชว์โรงงานแห่งที่ 3

สำหรับ การจัดงานเปิดตัว Virtual Live Satellite Tech Unveil 2021 ได้เผยโฉมดาวเทียม mu-B200ตัวจริง อันเป็นผลงานล่าสุดของ มิว สเปซ สร้างความสนใจให้กับนักลงทุนและประชาชนที่เข้าร่วมชมไลฟ์สดเป็นอย่างมาก โดยทีมวิศวกรของ มิว สเปซ ได้นำเสนอการผลิต และรายละเอียดของระบบดาวเทียมmu-B200 ซึ่งมีน้ำหนักเพียง 200 กิโลกรัม แต่มีระบบพลังงานสูงถึง 1.2 kW โดยการนำเทคโนโลยีนาโนมาใช้ในกระบวนการพัฒนาระบบพลังงาน ยิ่งไปกว่านั้น ดาวเทียมนี้ยังมีระบบขับดันไฟฟ้าเชื้อเพลิงคริปตอนสำหรับการโยกย้ายวงโคจร และมีสายอากาศแบบแบ่งเฟสที่แตกต่างจากเทคโนโลยีทั่วไปอีกด้วย

 

ในช่วง 10 ปีนี้ อุตสาหกรรมดาวเทียม ได้มีกิจกรรมการปล่อยยานพาหนะทางอวกาศ เพิ่มขึ้นถึง 39 เปอร์เซ็นต์ โดยคาดว่า ในปี 2567 อุตสาหกรรมด้านดาวเทียม จะมีมูลค่าเพิ่มสูงถึง 508 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยอ้างอิงตามรายงานข้อมูลเชิงลึกของอุตสาหกรรมดาวเทียม ทั่วโลก และ รายงานการพยากรณ์ของ Global Satellite Industry Insights & Forecast Report 2020 ดังนั้น การขยายตัวของ มิว สเปซ สู่ตลาดโลก จึงเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังเร่งเครื่องในการเข้าสู่อุตสาหกรรมดาวเทียมนานาชาติ และอุตสาหกรรมอวกาศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังเร่งกำลังขับเคลื่อนให้เติบโตยิ่ง ๆ ขึ้นไป อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ บริษัท มิว สเปซ ได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุน อย่าง B.Grimm Joint Venture อุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าเอกชนของไทย รวมไปถึง Majuven Fund และบริษัทเอกชนอื่นๆ อีกมากมาย

มิว สเปซ เปิดตัวดาวเทียมใหม่ mu-B200 พร้อมโชว์โรงงานแห่งที่ 3

นายวรายุทธ เย็นบำรุง หรือ คุณเจมส์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า “จากวันที่เริ่มต้นทำงาน ด้วยโต๊ะทำงานเพียงตัวเดียว มาจนขณะนี้ มีพนักงาน จำนวนมากกว่า 100 คน โดยเราเริ่มการเปิดโรงงาน Factory 0 ที่สามารถสร้างดาวเทียมได้ 1 ตัว และโรงงาน Factory 1 สามารถสร้างดาวเทียมได้ 10 ตัว จนถึงปัจจุบัน โรงงาน Factory 2 ของ มิว สเปซ รองรับกำลังการผลิตดาวเทียม mu-B200 ได้ถึง 100 ตัวด้วยทีมงานวิศวกรของ มิว สเปซ เอง โดยดาวเทียม mu-B200 นั้นมุ่งเน้นการพัฒนาในด้านประสิทธิภาพและพลังงานที่สูงสุด เพราะดาวเทียมที่มีพลังงานสูงจะสามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าและผู้ต้องการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดนั่นเอง”

 

สามารถรับชมวิดีโอถ่ายทอดสดย้อนหลังฉบับเต็มได้ที่

Facebook Page: https://fb.watch/8AKYsM0u8E/

YouTube: https://youtu.be/Bv8Mhi6rVmE