งาน “ทิศทางอนาคตของแรงงานดิจิทัลในประเทศไทย”

งาน “ทิศทางอนาคตของแรงงานดิจิทัลในประเทศไทย”

สถาบันพัฒนาบุคลากรดิจิทัล (DISDA) ร่วมกับหัวเว่ย จัดงาน “ทิศทางอนาคตของแรงงานดิจิทัลในประเทศไทย”ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการพัฒนาทักษะดิจิทัลในประเทศไทย

สถาบันพัฒนาบุคลากรดิจิทัล ภายใต้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ร่วมกับ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดงาน “ทิศทางอนาคตของแรงงานดิจิทัลในประเทศไทย (Future Direction of Thailand Digital Workforce)” ภายใต้หลักสูตรการฝึกอบรม “พื้นฐานการพัฒนาแอปพลิเคชันบนมือถือ (Mobile App Development Foundation Course)” ครั้งที่สอง พร้อมงาน Huawei Developer Day ประกาศเร่งผลิตแรงงานดิจิทัลผ่านการเสริมสร้างทักษะใหม่ ๆ โดยหลักสูตรดังกล่าวจะจัดขึ้นผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้วยตนเองของหัวเว่ย ตั้งเป้าฝึกอบรมบุคลากรได้ 800 – 1,000 คนหลังจบโครงการฯ เพื่อช่วยประเทศไทยปูรากฐานด้านไอซีทีให้แข็งแกร่งผ่านการฝึกอบรมและบ่มเพาะบุคลากรอย่างต่อเนื่อง

งาน “ทิศทางอนาคตของแรงงานดิจิทัลในประเทศไทย”

 

การผนึกกำลังระหว่างภาครัฐและเอกชนในครั้งนี้เป็นไปตามการลงนามในบันทึกความเข้าใจ ระยะเวลา 3 ปี ระหว่างกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สังกัดกระทรวงแรงงาน กับ หัวเว่ย ประเทศไทย เมื่อเดือนตุลาคม 2563 โดยทั้งสองฝ่ายให้คำมั่นที่จะร่วมกันสร้างโอกาสในการเรียนรู้ทางดิจิทัล ตลอดจนออกแบบและนำเสนอรูปแบบการเรียนการสอนด้านดิจิทัลที่สะดวกสบายและเข้าถึงง่ายสำหรับคนจำนวนมากขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการผลิตแรงงานดิจิทัล 3,000 คน และเจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานอีก 120 คน ตลอดระยะเวลาความร่วมมือ

 

 

งาน “ทิศทางอนาคตของแรงงานดิจิทัลในประเทศไทย”

หัวเว่ยได้เปิดตัวหลักสูตร Mobile App Development Foundation ระหว่างงาน Huawei Developer Day (HDD) 2564 ที่จัดขึ้นในหัวข้อ “อนาคตของแรงงานดิจิทัลในประเทศไทย (Future of Thailand Digital Workforce)” โดยงาน HDD ในปีนี้จะมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาแอปพลิเคชันและระบบนิเวศของแอป โดย Huawei Developer Day (HDD) เป็นเวทีระดับโลกที่หัวเว่ยใช้นำเสนอนวัตกรรมและบริการล่าสุดแก่ นักพัฒนา พร้อมบอกเล่าเทรนด์ล่าสุดในโลกไอที  ซึ่งงานในปีนี้ หัวเว่ยได้ประกาศถึงอัปเดตสำคัญของระบบปฏิบัติการ HarmonyOS 2.0, Huawei Mobile Services (HMS) 6.0 รวมถึงข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับระบบนิเวศของแอปและเครื่องมือที่มีประโยชน์มากมายที่หัวเว่ยสร้างขึ้นเพื่อช่วยเหลือชุมชนนักพัฒนาแอปพลิเคชันบนอุปกรณ์เคลื่อนที่  และด้วยนวัตกรรมและการทำงานร่วมกันกับพาร์ทเนอร์อย่างต่อเนื่อง HMS ได้กลายเป็นระบบนิเวศแอปพลิเคชันมือถือที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลกด้วยเครือข่ายนักพัฒนากว่า 2.3 ล้านคน HMS ยังได้ปลดล็อกความสามารถด้านการพัฒนาฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ของหัวเว่ย และช่วยให้นักพัฒนาทั่วโลกได้คิดค้นนวัตกรรมที่ก้าวล้ำอีกด้วย

 

งาน “ทิศทางอนาคตของแรงงานดิจิทัลในประเทศไทย”

นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของแรงงานทักษะที่มีทักษะแห่งอนาคต (future skills) ที่จะมารองรับอุตสาหกรรมใหม่ ๆ พร้อมกล่าวว่า “กระทรวงแรงงานมีพันธกิจในการยกระดับทักษะของแรงงานดิจิทัลให้เพียงพอและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดในปัจจุบัน หลักสูตรด้านเทคโนโลยีดิจิทิลในหัวข้อการพัฒนาแอปพลิเคชันนี้จะช่วยสร้างโอกาสในการทำงานใหม่ ๆ ในยุคนิวนอร์มอลให้แก่ผู้เข้าอบรม ขอขอบคุณหัวเว่ย ประเทศไทย สำหรับการสนับสนุนอย่างเต็มที่เสมอมา ร่วมนำนวัตกรรมและความเชี่ยวชาญมาช่วยเตรียมความพร้อมให้แรงงานไทย ภายใต้กรอบความร่วมมือนี้ เราจะช่วยกันพัฒนาให้แรงงานไทยมีทักษะขั้นสูงที่จำเป็นต่อขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืนของประเทศในยุคดิจิทัล”

 

นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร หัวเว่ย ประเทศไทย กล่าวว่า “เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมเปิดงาน “ทิศทางอนาคตของแรงงานดิจิทัลในประเทศไทย (Future Direction of Thailand Digital Workforce)” เพื่อเปิดตัวหลักสูตรการฝึกอบรม “พื้นฐานการพัฒนาแอปพลิเคชันบนมือถือ (Mobile App Development Foundation Course)” ครั้งที่สอง โดยครั้งนี้เราตั้งเป้าฝึกอบรมบุคลากรจำนวน 800 ถึง 1,000 คน เมื่อสิ้นสุดการอบรม ผู้เข้าร่วมได้จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายนักพัฒนาแอปของหัวเว่ยซึ่งมีสมาชิกกว่า 2.3 ล้านคนทั่วโลกได้อีกด้วย” นายอาเบลกล่าวเสริมว่า “ผมขอขอบคุณกระทรวงแรงงานสำหรับความร่วมมืออันยาวนาน ในฐานะบริษัทไอซีทีชั้นนำระดับโลกที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2542 หัวเว่ยเชื่อมั่นว่าอีโคซิสเต็มบุคลากรดิจิทัลเป็นรากฐานที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่การเป็นดิจิทัลฮับแห่งอาเซียน หัวเว่ยพร้อมสร้างระบบนิเวศอัจฉริยะที่เชื่อมต่อกันอย่างเต็มรูปแบบสำหรับทุกคน ภายใต้พันธกิจ ‘Grow in Thailand, Contribute to Thailand’ ของเรา”

 

สถาบันพัฒนาบุคลากรดิจิทัลและหัวเว่ยพร้อมเดินหน้าจัดโครงการเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้อีกมากมายในอนาคต ภายใต้ความร่วมมือระยะเวลา 3 ปี เพื่อสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับบุคลากรด้านดิจิทัลและลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีศักยภาพ ด้วยทรัพยากรและความเชี่ยวชาญที่มีร่วมกัน สำหรับนักศึกษาและบุคลากรที่สนใจเข้าร่วม สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการลงทะเบียนได้ที่ 02-643 6038 หรือคลิก https://bit.ly/3saLkAW  หรือไปที่เพจเฟซบุ๊กของสถาบันพัฒนาบุคลากรดิจิทัล https://bit.ly/3gZkQhk