DITP มุ่งขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมนักออกแบบไทยสู่ตลาดโลก นำทัพแบรนด์ไทยบุกปารีส

DITP มุ่งขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมนักออกแบบไทยสู่ตลาดโลก นำทัพแบรนด์ไทยบุกปารีส

DITP มุ่งขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมนักออกแบบไทยสู่ตลาดโลก นำทัพแบรนด์ไทยบุกปารีส โชว์ความสำเร็จขึ้นแท่นผู้นำสินค้าไลฟ์สไตล์ของเอเชีย

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางสู่ประเทศที่มีรายได้สูง ด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการยกระดับเพื่อเพิ่มมูลค่าภาคการผลิตและบริการ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ภายใต้การสนับสนุนของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เดินผลักดันนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดมอบหมายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เร่งพัฒนาสินค้าเพื่อส่งออกและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในด้านการออกแบบให้กับผู้ประกอบการไทย

 

คุณประอรนุช ประนุช ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า DITP เปิดเผยว่า แนวทางหลักๆ ในการยกระดับสินค้าไทย คือ การพัฒนาด้านการออกแบบสินค้าให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าในทุกภูมิภาคทั่วโลก ซึ่งมีความต้องการที่หลากหลายและแตกต่างกัน กรมฯ จึงได้ริเริ่มโครงการส่งเสริมนักออกแบบไทยสู่ตลาดโลก (Designers’ Room & Talent Thai Promotion 2021)  ดำเนินการต่อเนื่องมาทุกปีจนถึงปีนี้เป็นปีที่ 19 และสร้างนักออกแบบมาแล้วกว่า 601 แบรนด์ โดยตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการฯ ได้เห็นพัฒนาการของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีที่ได้พัฒนาคุณภาพสินค้าและการออกแบบดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทำให้ประสบความสำเร็จทั้งด้านยอดขายและการยอมรับจากตัวแทนผู้นำเข้าต่างชาติผ่านงานแสดงสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ

 

ในปี 2564 ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 กรมฯ ยังคงเดินหน้าโครงการอย่างเต็มทื่ โดยการจัดโครงการส่งเสริมนักออกแบบไทยสู่ตลาดโลก (Designers’ Room & Talent Thai Promotion 2021) ครั้งนี้ มีความแตกต่างจากปีที่ผ่านมา ทั้งในเรื่องของรูปแบบการจัดการ และสาขาที่ส่งเสริม โดยรูปแบบการจัดงานในปี 2564 จะอยู่ภายใต้คอนเซปต์ “MAXIMIZE DIVERSITY SHIFT CREATIVITY BEYOND BORDERS พลังแห่งความหลากหลาย ยกระดับความคิดสร้างสรรค์ให้เหนือขอบเขต” ผ่านกิจกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้และกิจกรรมไฮไลท์ต่างๆ อาทิ กิจกรรมทดลองตลาดแนวใหม่เพื่อขยายการทำตลาดใหม่สู่แพลตฟอร์ม E-Commerce และ Social Commerce เปิดช่องทางการนำเสนอสินค้าของนักออกแบบไทยเข้าสู่แพลตฟอร์ม Shopee ในรูปแบบ POP UP Store และ Live Streaming บน Facebook เป็นครั้งแรก

ที่สำคัญนักออกแบบที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 73 แบรนด์ ยังได้ร่วมงานกับบริษัทผู้ส่งออกรายใหญ่หลายราย เพื่อสร้างโจทย์การทำงานร่วมกัน ได้นำความรู้ประสบการณ์ของผู้ส่งออกมาประยุกต์ออกแบบสินค้าให้ขายได้จริง และได้จัดกิจกรรมค่ายบ่มเพาะนักออกแบบสู่สากล (Co-Brand) ร่วมกับ 5 แบรนด์ดังชั้นนำของไทย ได้แก่ SCG, PASAYA, DEESAWAT, THE STANDARD และ PDM BRAND สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่

ตามแนวทาง Circular Economy, Local Economy และ Digital Economy รวมทั้งจัดกิจกรรม Showcase - Creative Studio แสดงผลงานนักออกแบบในโครงการ 21 Brands ประกอบด้วย Creative Studio: 11 Brands และ Co-Brand: 10 Brands

ทั้งนี้ ประเทศไทยติดอยู่ในอันดับ 6 ของประเทศที่มีแบรนด์สินค้าเข้าร่วมในงาน Maison & Objet Paris 2021 สูงสุด โดย 10 อันดับแรก ได้แก่ 1. ฝรั่งเศส 764 ราย 2. เบลเยี่ยม 92 ราย 3. เยอรมนี 84 ราย 4. อิตาลี 77 ราย 5. เนเธอร์แลนด์ 73 ราย 6. ไทย 63 ราย  7. เดนมาร์ก 57 ราย 8. สเปน 47 ราย 9. โปแลนด์ 35 ราย และ10. สหราชอาณาจักร 24 ราย ซึ่งไทยเป็นอันดับ 1 ของประเทศฝั่งเอเชียที่เข้ารร่วมงาน 5 ประเทศ ดังนี้ ไทยอันดับ 1 รองลงมาเป็นไต้หวัน , อินเดีย , ญีปุ่น , และเกาหลีใต้ เห็นได้ชัดว่ามีศักยภาพด้านสินค้าไลฟ์สไตล์ เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ใกล้เคียงกับประเทศแฟชั่นชั้นนำในฝั่งยุโรป

 

สำหรับสินค้าจากประเทศไทยที่มีความโดดเด่นสะดุดตาและแจ้งเกิดในงาน Maison & Objet Paris 2021 ได้แก่ แบรนด์ Korakot และ Vanzter ซึ่งถูกเลือกไปโชว์ในวีดีโอ Best of Maison & Objet 2021  ที่เป็นการประมวลไฮไลท์ของเทรนด์สินค้าและภาพรวมบรรยากาศต่าง ๆ ของงานในปีนี้ ถูกเผยแพร่ไปในสื่อ official หลักของงานทั้ง Facebook , IG รวมถึงเว็บไซต์ของงาน M&O นอกจากนี้ สินค้าจากประเทศไทย จำนวน 5 แบรนด์ ประกอบด้วย Moonler, PREM CERAMICS, BAAN BOON BROOMS, SEDAR.W และ Tayaliving  ได้รับคัดเลือกจาก curator ชาวฝรั่งเศสไปแสดงในพื้นที่ trend forum ใช้ชื่อว่า What’s New

 

“มาตรการส่งเสริมในระยะยาวเพื่อความยั่งยืน กรมฯ ได้เร่งเดินหน้าสร้าง ecosystem ให้เกิดการรวมกลุ่มธุรกิจด้านการออกแบบทั้งหมด ก่อให้เกิดการต่อยอดสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ ๆ รวมทั้งมีการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ร่วมกับงานออกแบบ เพื่อสร้างสรรค์ให้สินค้าสวยงามและมีคุณสมบัติพิเศษเหนือประเทศคู่แข่ง สามารถเจาะกลุ่มลูกค้าไฮเอนด์ที่มีมูลค่าสูงได้มากขึ้นในอนาคต” ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า DITP กล่าวทิ้งท้าย