สจล. ร่วมวิจัยพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์สู้ภัยโควิด-19

สจล. ร่วมวิจัยพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์สู้ภัยโควิด-19

เชิญท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือพี่น้องชาวไทย สร้างเครื่องจ่ายออกซิเจน High Flow และนวัตกรรมทางการแพทย์ ได้ที่ เลขบัญชี 693-0-35455-4 สาขาเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯลาดกระบัง ชื่อบัญชี มูลนิธิโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารในพระสังฆราชูปถัมภ์ ร่วมสู้ภัยโควิด สู้เพื่อสร้าง และสู้เพื่อให้กับ KMITL FIGHT FOR GIVING เพื่อทุกคน

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่เล็งเห็นความสำคัญของโรงพยาบาลนวัตกรรมทางแพทย์ ด้วยความมุ่งมั่นและทุ่มเทของ ท่านอธิการบดี สจล. ศาสตราจารย์ ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ได้วางนโยบาย สู่การ “ให้เพื่อสร้าง” เพื่อสร้างโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร และเพื่อสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ผลิตด้วยฝีมือคนไทย นวัตกรรมไทยทำ ไทยใช้  ไทยรอด จึงเกิดความร่วมมือผนึกกำลังเพื่อสร้างและพัฒนานวัตกรรมต่างๆเพื่อมอบให้ตามความต้องการของโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศไทย  ด้วยความภาคภูมิใจ สจล. สู้ภัยโควิด-19 และสู้เพื่อให้ KMITL FIGHT FOR GIVING  คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ร่วมตอกย้ำความเป็นหนึ่งและเป็นที่พึ่งของสังคม ระดมคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญร่วมกับคณะแพทย์ศาสตร์ สจล. และหน่วยงานต่างๆ เพื่อสร้างและพัฒนานวัตกรรมสู้ภัยโควิด  เพื่อช่วยกันลดความสูญเสียแก่คนไทยและสังคมไทยจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ได้อย่างทันท่วงทีและเต็มศักยภาพในระยะเวลาอันรวดเร็ว

สจล. ร่วมวิจัยพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์สู้ภัยโควิด-19

 

รศ.ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หนึ่งในนักทีมผู้สร้างเครื่องและเป็นอาจารย์ในภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า กล่าวว่า “การพัฒนาเครื่องจ่ายออกซิเจน KMITL High Flow เน้นการออกแบบให้ใช้งานได้ทั้งในโรงพยาบาล และโรงพยาบาลสนาม หลักการคือนำอากาศจากแหล่งกำเนิดออกซิเจนไม่ว่าจะเป็นท่อนำออกซิเจนหรือแทงค์ออกซิเจน 100% มาผสมกับอากาศสะอาด ให้ได้ความเข้มข้นที่ต้องการในห้องผสมอากาศ (Air Tank) ซึ่งเมื่ออากาศถูกดูดเข้าสู่ห้องผสมอากาศ จะมีวาล์วจ่ายออกซิเจนที่ถูกควบคุมแบบป้อนกลับเพื่อควบคุมให้อัตราออกซิเจนคงที่เป็นไปตามการรักษา ทั้งนี้ ค่าพารามิเตอร์ดังกล่าว สามารถตั้งค่าได้ทั้งทางหน้าจอแอลซีดีแบบสัมผัส และแอปฯ ผ่านการเชื่อมต่อด้วยระบบ Wi-Fi เครื่องจ่ายออกซิเจน High Flow จาก สจล. เป็นเครื่องมือแพทย์ที่ผลิตด้วยฝีมือคนไทย เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าจากต่างประเทศ เครื่องมือชิ้นนี้ปลอดภัยและสามารถใช้งานได้จริง ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO13485 สจล. ได้สร้างและจัดส่งมอบให้กับ รพ. ในหลายพื้นที่ นำไปช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด ผู้ป่วยทางเดินหายใจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”

สจล. ร่วมวิจัยพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์สู้ภัยโควิด-19

 

เครื่องช่วยหายใจในภาวะฉุกเฉิน (Emergency Transport Ventilator – KNIN II) พัฒนาโดย ศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ คำฝอย รองอธิการบดีฝ่ายแผนงานและทีมงานวิจัย  เครื่องนี้สามารถเลือกตั้งค่า operation setting mode เพื่อให้เหมาะสมกับภาวะการหายใจของผู้ป่วยแต่ละราย ตั้งค่าแจ้งเตือน highest pressure ช่วยลดสัมผัสผู้ป่วย แบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ 

AI (Artificial Intelligence) วัดสัญญาณชีพทางไกล (COVID-19 Remote & Offsite Monitoring Application Systems หรือ CROMAS) ซึ่งพัฒนาโดย ดร.วิบูลย์ ปิยวัฒนเมธา พร้อมทั้งทีมคณาจารย์และนักศึกษาจากภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ เป็นเครื่องตรวจวัดและติดตามอาการผู้ป่วยวิกฤตอย่างใกล้ชิดแบบไร้สัมผัส แสดงผลเรียลไทม์ไปยังมอนิเตอร์ส่วนกลาง เพื่อให้แพทย์ทำการวิเคราะห์ผลและแนวทางการรักษาได้ทันท่วงที เป็นการผสานความรู้ทางการแพทย์และปัญญาประดิษฐ์ เพื่อช่วยเหลือประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน

ตู้อบฆ่าเชื้อ UV-C แบบพกพา โดย ผศ.ดร. สรินพร วิสิฐสัทธาพงศ์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ ซึ่งตู้อบฆ่าเชื้อดังกล่าวสามารถทำลายเชื้อจุลินทรีย์ได้ถึง 99.5 % ใช้ฆ่าเชื้อพื้นผิวอุปกรณ์การแพทย์ รวมถึงหน้ากากอนามัยชนิดต่างๆ เช่นหน้ากากชนิด Surgical mask, N-95 หรือ หน้ากากผ้าได้เป็นอย่างดี โดยใช้เวลาเพียง 5 นาทีเท่านั้น 

นวัตกรรมหุ่นยนต์ RAIBO-X ฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่กว้าง ด้วยแสง UV ครั้งแรกของคนไทย โดยฝีมือ ดร.ภูมิ คงห้วยรอบและนักศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. สามารถฆ่าเชื้อโรคด้วยแสง UV-C ในรัศมี 1–1.5 เมตร และกำจัดสิ่งมีชีวิตหรือเชื้อโรคขนาดเล็ก อาทิ ไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา รวมทั้งเชื้อโรคชนิดต่างๆ รวมถึงเชื้อโควิด-19 ได้ ซึ่งหุ่นยนต์ RAIBO-X มีการใช้งานด้วยระบบ AI
นวัตกรรมที่มีความสำคัญต่อบุคลากรทางการแพทย์ขณะทำการคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัย คือ

ตู้ตรวจเชื้อ Swab Test โดยฝีมือคณาจารย์ และนักศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ ร่วมกับสมาคมศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ซึ่งหลักการทำงานใช้ระบบความดันลบภายในห้อง พร้อมติดตั้งระบบกรองและฆ่าเชื้อก่อนปล่อยอากาศสู่ภายนอก ส่วนตู้ตรวจเชื้อความดันบวก จะใช้สำหรับการเก็บตัวอย่างหาเชื้อโควิด-19 เน้นการใช้งานภายนอก หรือการลงพื้นที่ตรวจเชื้อในกลุ่มเสี่ยงที่มีจำนวนมาก
นอกจากนี้ ยังมีห้องความดันลบเคลื่อนย้ายได้เพื่อใช้เป็นห้อง ICU

โดย ผศ.ดร.ณัฐพล ฤกษ์เกษมสันติ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี เพื่อใช้ในโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนาม ขนาด 3*6.5 เมตร/ยูนิต ห้องความดันลบนี้มีความพิเศษ คือ มีห้อง Anteroom ในตัว และมีระบบควบคุมแรงดันอากาศอัตโนมัติ เพื่อช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่ภายนอก ซึ่งสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้สนับสนุนทุนวิจัยด้วย
อีกหนึ่งนวัตกรรมเพื่อป้องกันการติดเชื้อ คือ ปุ่มกดลิฟท์แบบไม่สัมผัส โดยมีอาจารย์ดุสิต สุขสวัสดิ์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คิดค้น ‘ลิฟต์ไร้ปุ่มกด’ ลดการสัมผัส ป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19  โดยพัฒนาปุ่มกดลิฟท์แบบไม่สัมผัส อุปกรณ์จะมีลักษณะเป็นกล่องเจาะรูตามจำนวนปุ่มกดของลิฟท์ที่ต้องการติดตั้ง โดยในแต่ละรูจะมีเซ็นเซอร์ติดตั้งไว้ เมื่อผู้ใช้สอดนิ้วเข้าไปที่รูนั้นๆ เซ็นเซอร์จะส่งข้อมูลไปยังส่วนควบคุมของลิฟท์กันที วิธีนี้จะช่วยให้ผู้ใช้งานไม่ต้องสัมผัสปุ่มกดลิฟท์ ซึ่งมีส่วนช่วยให้ลดการแพร่กระจายของไวรัสได้ป้องกันการเเพร่ระบาคโควิด-19

สจล.ได้จัดส่งนวัตกรรมที่เป็นเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมกว่า 1,082 ชิ้น ไปยังโรงพยาบาลและหน่วยงานต่างๆ เฉพาะในประเทศรวมกว่า 351 แห่ง ใน 68 จังหวัด นอกจากนี้ ยังมีการส่งตู้ตรวจเชื้อความดันลบ ตู้ตรวจเชื้อความดันบวก เครื่องวัดอุณหภูมิอัตโนมัติ และ PAPR ให้ประเทศเพื่อนบ้าน เมียนมา ลาว มัลดีฟ รวมกว่า 46 ชิ้น และคณะวิศวกรรมศาสตร์ยังได้มอบเจลแอลกอฮอล์ให้กับหน่วยงานทางการแพทย์อีกด้วย”