กองทุนพัฒนาสื่อฯทุ่ม 300 ลบ. เฟ้นหาผู้ผลิตสื่อสร้างสรรค์ปลอดภัยกับสังคม

กองทุนพัฒนาสื่อฯทุ่ม 300 ลบ. เฟ้นหาผู้ผลิตสื่อสร้างสรรค์ปลอดภัยกับสังคม

ผู้สนใจสามารถยื่นข้อเสนอโครงการหรือกิจกรรมได้ที่ www.thaimediafund.or.th ตั้งแต่วันนี้ – 19 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 16:30 น.

“กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” ก่อตั้งขึ้นจากความมุ่งหวัง ในการใช้ "สื่อ" ที่เหมาะสม เป็นเครื่องมือเพื่อพัฒนาการเรียนรู้แก่เด็กและเยาวชน พร้อมเปิดรับข้อเสนอโครงการสนับสนุนทุน 300 ล้านบาทต่อปี เพื่อผลักดันผู้ผลิตสื่อที่มีคุณภาพและความคิดสร้างสรรค์ พร้อมสร้างทักษะการเฝ้าระวัง ให้ประชาชนเข้าถึง เข้าใจ และใช้สื่ออย่างปลอดภัย

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ อธิบายว่า กองทุนฯ มีการจัดสรรทุนมาตั้งแต่ปี 2560 – 2563 ให้การสนับสนุนทุนไปแล้วรวม 446 โครงการ เป็นเงินกว่า 1,000 ล้านบาท สำหรับในปี 2564 นี้ ได้เปิดรับข้อเสนอโครงการหรือกิจกรรมเพื่อขอรับการสนับสนุนเงิน วงเงินงบประมาณไม่เกิน 300 ล้านบาท แบ่งการให้ทุนออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1. การให้ทุนประเภทเปิดรับทั่วไป (Open Grant) กรอบวงเงินไม่เกิน 90 ล้านบาท ไม่ได้กำหนดประเด็น ใช้สื่อได้ทุกประเภท แต่เน้นการจัดทำสื่อให้กับ 4 กลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มเด็กและเยาวชน 30 ล้านบาท กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มคนพิการและผู้ด้อยโอกาส และกลุ่มประชาชนทั่วไป กลุ่มละ 20 ล้านบาท

2. การให้ทุนประเภทเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Grant) กรอบวงเงินไม่เกิน 180 ล้านบาท แบ่งเป็น “โครงการหรือกิจกรรมขนาดใหญ่” ได้แก่ “โครงการผลิตภาพยนตร์เสริมสร้างความรักชาติ” 1 เรื่อง 30 ล้านบาท เป็นทิศทางของสื่อที่กองทุนฯ อยากจะเห็น แต่ต้องทำความเข้าใจว่า ในปีนี้ ประเทศไทยเจอสถานการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโควิด-19 ส่งผลต่อเศรษฐกิจ วิถีชีวิต และยังมีเรื่องของการเมือง จึงคิดว่าสื่อน่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะสร้างความสมดุลในสังคม

ถัดมา คือ “โครงการหรือกิจกรรมขนาดกลาง” กรอบวงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท มี 4 ประเด็น คือ การเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมือง การสร้างเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว และการสร้างจิตสำนึกผ่านการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทยการสร้างความสามัคคีของคนในชาติ และ “โครงการหรือกิจกรรมขนาดเล็ก” ทั้งหมด 5 ประเด็น ได้แก่ การทำนุบำรุงสถาบันหลักของชาติ การสร้างสื่อเพื่อส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมในสังคม วัฒนธรรมกับการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ การสร้างสื่อเพื่อเชิดชูบุคคลที่ทำความดี และโทษและความเสี่ยงของสื่อออนไลน์ กรอบวงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาท

3. การให้ทุนประเภทความร่วมมือ (Collaborative Grant) กรอบวงเงินไม่เกิน 30 ล้านบาท โดยมีขอบเขตของโครงการหรือกิจกรรมสำหรับผู้ขอรับการสนับสนุนที่เป็นภาคีเครือข่ายหรือผู้ผลิตสื่อที่เป็นนิติบุคคลซึ่งมีประสบการณ์หรือผลงานอันเป็นที่ประจักษ์และมีวัตถุประสงค์โครงการหรือกิจกรรมสอดคล้องกับภารกิจของคณะอนุกรรมการตามมาตรา 21 (13)

ดร.ธนกร กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมามีผู้ยื่นขอทุน 1,460 โครงการ โดยมีผู้สนใจในทุกกลุ่ม เพราะคุณสมบัติครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ตั้งแต่บุคคลธรรมดา นิติบุคคล หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน องค์กรชุมชน สมาคม มูลนิธิ หรือหน่วยงานที่ไม่แสวงหากำไร ซึ่งสามารถยื่นได้องค์กรละ 1 โครงการ แต่พิเศษสำหรับมหาวิทยาลัยซึ่งมีหลายคณะ ขอเพียงว่าหัวหน้าโครงการ คณะทำงาน ไม่ซ้ำกัน สามารถยื่นได้หลายโครงการ

“สำหรับความคาดหวังในปีนี้ คือ อยากให้ผู้รับทุนเป็นผู้ผลิตสื่อที่มีความสามารถ มีคุณภาพ สร้างผลกระทบเชิงบวกทางสังคมได้จริง สร้างสมดุลให้กับสังคม ความตั้งใจสูงสุดของกองทุนฯ คือ มีสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เพิ่มมากขึ้น ให้คนไทยเข้าถึง และใช้ประโยชน์ได้ หวังว่าคนไทยจะมีทักษะในการเปิดรับสื่อที่ดีที่ถูกต้องและมีสติในการแชร์ข้อมูล”

ทั้งนี้ การต่อยอดโครงการที่ได้รับทุน ดร.ธนกร บอกว่า ขณะนี้ มีสารคดีเรื่อง บรูด้าน้อยผจญภัย ขึ้นฉายทาง Netflix เป็นเรื่องแรก โดยในอนาคตมองว่าจะมีผลงานหลายชิ้นที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ และอีกช่องทาง คือ รายการ “เล่าสื่อกันฟัง” โดยให้ผู้รับทุนที่ทำผลงานเสร็จมาบอกเล่าความน่าสนใจของผลงาน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการผลิตสื่อที่มีคุณภาพ ผ่านทางช่อง PSI สาระดี 99 ออกอากาศทุกวันอาทิตย์เวลา 08.30 – 08.55 น. สามารถดูย้อนหลังได้ในทุกช่องทางของกองทุนฯ ทั้งเวปไซต์ เฟสบุ๊ค และ ยูทูป

ผู้สนใจสามารถยื่นข้อเสนอโครงการหรือกิจกรรมได้ที่
www.thaimediafund.or.th ตั้งแต่วันนี้ – 19 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 16:30 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร 02-273-0116-9 Facebook กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์