“ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ” (FutureTales Lab by MQDC)

“ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ” (FutureTales Lab by MQDC)

เผย 4 ภาพสถานการณ์การพัฒนากรุงเทพฯ ในอนาคต กรุงเทพ เมืองสีเขียว, เมืองแห่งแม่น้ำ เมืองป้องกันมลพิษ เมืองรับมือกับภัยพิบัติ

 อย่างที่ทราบกันดีว่า ทุกครั้งที่เข้าสู่ฤดูฝน กรุงเทพฯซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ราบลุ่ม และมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ มักเกิดสภาวะน้ำท่วมขัง หรือ น้ำรอการระบาย ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของคนมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดการตั้งคำถามว่าในอนาคตกรุงเทพฯ จะเป็นอย่างไร จะเกิดน้ำท่วมกลายไปเป็นเมืองลอยน้ำหรือไม่ รวมถึงจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด

ดร.การดี เลียวไพโรจน์ หัวหน้าคณะที่ปรึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (FutureTales Lab by MQDC) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา “ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ” (FutureTales Lab by MQDC) ได้ทำการศึกษาและวิจัยในเรื่องแนวโน้มของการดำรงชีวิตของคนเมือง และรูปแบบการพัฒนากรุงเทพฯในอนาคตว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และการใช้ชีวิตของผู้คนจะเป็นเช่นไร ร่วมกับนักวางแผนด้านการพัฒนาเมืองระดับโลกและทีมนักพัฒนาเมือง ภายใต้บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด โดยล่าสุดในประเด็นที่คนกรุงตั้งคำถามถึงความเปราะบางของเมืองต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงขึ้น เราจึงได้ทำการศึกษาเพื่อให้เห็นถึงผลกระทบของเมืองในอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้น และเพื่อที่จะมองว่าเมืองอย่างกรุงเทพฯ ในอนาคตนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร โดยคาดการณ์รูปแบบเมืองได้เป็น 4 สถานการณ์ ได้แก่

1.กรุงเทพ เมืองสีเขียว (Green Metropolis) กรุงเทพสามารถพัฒนาเป็นเมืองสีเขียวได้หากมีการจริงจังด้านกฎหมายและการเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนเมืองด้วยการปรับตึกสูงให้กลายเป็นอาคารสีเขียวที่ได้รับการออกแบบอย่างดี โดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากร พลังงาน และสภาพแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเราจะสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพกายที่ดีรวมไปถึงสุขภาพใจที่พร้อมต่อการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ จากพื้นที่สีเขียวที่มากขึ้นจะช่วยส่งผลถึงคุณภาพอากาศที่ดีและช่วยปรับคุณภาพอากาศได้อย่างยั่งยืน


2.กรุงเทพ เมืองแห่งแม่น้ำ (River City) เมื่อระดับน้ำในเมืองมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นและพื้นดินที่อาศัยทรุดตัวลงอย่างหลีกเหลี่ยงไม่ได้ ส่งผลให้คนต้องปรับตัวเพื่อดำรงชีวิตในภาวะน้ำที่เพิ่มขึ้น โดยจำเป็นต้องมีนวัตกรรมที่เข้ามาช่วยให้เราสามารถตั้งถิ่นฐานบนผิวน้ำได้ และก่อให้เกิดการเติบโตจนเป็นเมืองที่สามารถอยู่รอดได้แม้จะมีผืนแผ่นดินที่น้อยลง มีการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้อยู่ร่วมกับน้ำได้อย่างยั่งยืน เช่น ชุมชนการค้าลอยน้ำ ที่ทำให้เกิดจุดเชื่อมต่อการเดินทาง เป็นต้น ซึ่งถือเป็นการตอบสนองความต้องการของผู้คนที่ใช้ชีวิตร่วมกับแม่น้ำ หรือ การทำฟาร์มแสงอาทิตย์บนผิวน้ำ โดยการแปลงความร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ ผ่านแผงโซลาร์เซลล์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า


3.กรุงเทพ เมืองป้องกันมลพิษ (Indoor City) เป็นสถานการณ์ที่ไม่อยากให้เกิด เมื่อสภาพเมืองในอนาคตพังทลาย อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น มลพิษทางอากาศที่ย่ำแย่ ยากต่อการใช้ชีวิตภายนอกอาคาร สาเหตุอาจเกิดจากวิถีการดำเนินชีวิตที่ไม่มีการเปลี่ยนพฤติกรรม และ นโยบายเมืองที่ไม่สนับสนุนต่อการเปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อสภาพเมืองมีฝุ่นเยอะและอากาศร้อน คนก็จะเปิดแอร์และเก็บตัวใช้ชีวิตอยู่ในอาคารแบบปิด และเมื่อหนาวจากการเปิดแอร์ ก็จะหลบอยู่ในผ้าห่ม แทนที่จะปรับอุณภูมิแอร์ในห้องให้เหมาะสม เป็นต้น ซึ่งการปรับตัวของเมืองภายใต้สภาวะอากาศภายนอกที่เป็นพิษ อาจจะมีการสร้างทางเดินเชื่อมระหว่างอาคาร เพื่อไปยังสถานที่ต่างๆ ในเมือง จะถูกปกคลุมด้วยโครงสร้างที่สามารถปกป้องมลภาวะทางอากาศนอกอาคาร จากสถานการณ์นี้ คาดการณ์ได้ว่าจะเกิดความเหลื่อมล้ำแบบสุดขั้ว ทั้งในรูปแบบการเข้าถึงสิทธิ์อากาศหายใจที่สะอาด ซึ่งควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตทุกประเภทที่ไม่ใช่เพียงแค่มนุษย์เท่านั้น


4.กรุงเทพฯ เมืองรับมือกับภัยพิบัติ (Disaster – Resilient City) สถานการณ์ที่อยากให้เกิดมากที่สุดในรูปแบบเมืองที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เป็นมุมมองการพัฒนาเมืองไปพร้อมกับการรับมือภัยพิบัติ ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญปัญหาอุทกภัยกว่า 213 ครั้ง ในช่วง 20 ปี ระหว่างปี 2532 – 2552 และในปี 2554 มีพื้นที่ประสบอุทกภัยกว่า 69.02 ล้านไร่ จากหลากหลายภัยพิบัติทำให้เมืองต้องเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถช่วยรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด เช่น การปรับพื้นที่สีเขียวในหน้าแล้งเป็นพื้นที่รับน้ำในฤดูฝน รวมถึงปรับได้ทุกรูปแบบของการดำเนินชีวิต เป็นต้น นอกจากนี้ กรณีน้ำท่วมหรือแม้แต่ปัญหาภัยแล้ง ควรมีพื้นที่รองรับน้ำเพื่อกักเก็บน้ำไว้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ภายในเมืองหรือพื้นที่ชุมชนใกล้เคียง อีกทั้งเตรียมพื้นที่สาธารณะที่สามารถรองรับกิจกรรมต่างๆ ของผู้คน รวมไปถึงสร้างเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ของเมือง ซึ่งหากเกิดภัยพิบัติขึ้น ยังสามารถเปลี่ยนเป็นพื้นที่รองรับคนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ และตั้งเป็นจุดช่วยเหลือได้ในเวลาจำเป็น


“เราเชื่อว่าวิถีการดำเนินชีวิตและพฤติกรรมต่างๆ ของพวกเราทุกคนในปัจจุบัน ล้วนจะส่งผลให้อนาคตมีการเปลี่ยนแปลงทั้งในแง่มุมการใช้ชีวิต การอยู่อาศัย การใช้เทคโนโลยี การเดินทาง และการดูแลสุขภาพ ตลอดจนแนวโน้มของนโยบายภาพใหญ่ของภาครัฐบาล ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่พวกเราต้องเตรียมตัวในหลากหลายมิติ ดังนั้นเราจึงต้องเตรียมความพร้อมรับมืออย่างถูกวิธีและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคตข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน” ดร.การดี กล่าวทิ้งท้าย

ข้อมูลอ้างอิง
https://www.thaiwater.net/web/index.php/flood-history.html
https://thaipublica.org/wp-content/uploads/2012/10สถิติภัยพิบัติของไทย.pdf
###

เกี่ยวกับฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ (FutureTales Lab by MQDC)
ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ (FutureTales Lab by MQDC) คือศูนย์วิจัยเอกชน ก่อตั้งโดยบริษัทอสังหาชั้นนำของประเทศ ที่ทำการศึกษา วิเคราะห์ และรวบรวมข้อมูลที่สำคัญต่ออนาคต เพื่อสร้างอนาคตที่ดีให้กับมนุษยชาติ

ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ ศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอนาคตของการใช้ชีวิต โดยใช้เครื่องมือการคาดการณ์อนาคตเพื่อสะท้อนภาพของ การอยู่อาศัย การทำงาน การเรียนรู้ การใช้เวลาว่าง คมนาคมขนส่ง และ บริบทของความยั่งยืน

นักวิจัยของฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ มุ่งวิเคราะห์ข้อมูล สำรวจและคาดการณ์อนาคต พร้อมสร้างแพลตฟอร์มความร่วมมือกับนักอนาคตศาสตร์ระดับประเทศและนานาชาติทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา รวมไปถึงชุมชนต่าง ๆ
ศูนย์ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ ตั้งอยู่ที่โครงการทรู ดิจิทัล พาร์ค กรุงเทพฯ โดยจะเป็นศูนย์หลักในการจัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่ข้อมูลเชิงลึกและแนวคิดใหม่ ๆ ในด้านต่าง ๆ เช่นการออกแบบ นโยบายนักวิจัย และโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น

ข้อมูลและงานวิจัยของศูนย์ฟิวเจอร์เทลส์เปิดกว้างสำหรับนักวิจัย พันธมิตรทางธุรกิจ และประชาชนทั่วไปที่สนใจเรื่องอนาคตศึกษา สามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมของศูนย์ฯ ได้ที่ www.futuretaleslab.com

เกี่ยวกับบริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC)
บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น (MQDC) ดำเนินธุรกิจการพัฒนา ลงทุน และจัดการอสังหาริมทรัพย์ ประกอบด้วย บ้าน คอนโดมิเนียม โครงการคอมมูนิตี้ ดิสทริค และ ธีมโปรเจกต์ รวมถึงธุรกิจค้าปลีกและโรงแรม พร้อมดำเนินธุรกิจภายใต้คำมั่นสัญญา ‘For All Well-Being’

MQDC พัฒนาที่อยู่อาศัย โครงการมิกซ์ยูสและธีมโปรเจกต์ภายใต้แบรนด์ “แมกโนเลียส์” (Magnolias) “วิสซ์ ดอม” (Whizdom) ดิ แอสเพน ทรี (The Aspen Tree) มัลเบอร์รี่ โกรฟ (Mulberry Grove) และเดอะ ฟอเรสเทียส์ (The Forestias) เพื่อส่งเสริมสุขภาพของผู้อยู่อาศัยและสร้างการใช้ชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

MQDC ได้ให้การรับประกัน 30 ปีในโครงการอสังหาริมทรัพย์ทุกโครงการเพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงมาตรฐานการก่อสร้างที่ดีเยี่ยม

การประยุกต์ปรัชญา ‘นวัตกรรมแห่งความยั่งยืน’ MQDC มุ่งมั่นที่จะนำพาภาคธุรกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไปสู่ความยั่งยืน ดังนั้น MQDC ได้ให้การสนับสนุนงานด้านการวิจัยและนวัตกรรม โดยได้จัดตั้งศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) ซึ่งเป็นศูนย์การวิจัยแห่งแรกของเอเชียที่มุ่งเน้นด้านการส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของสรรพสิ่งบนโลก พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์วิจัยอนาคตศึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยเอกชนที่ทำการศึกษา วิเคราะห์ และรวบรวมข้อมูลที่สำคัญต่ออนาคต เพื่อสร้างอนาคตที่ดีให้กับมนุษยชาติ

MQDC ดำเนินงานพร้อมกับการคำนึงถึงสิ่งมีชีวิตบนโลก มากกว่านั้นยังมีเป้าหมายในการพัฒนาความยั่งยืนเพื่อสังคมโดยรวม ข้อมูลเพิ่มเติม www.mqdc.com