จัดพอร์ตลงทุนคุ้มครองเงินต้น ยุคตลาดหุ้นมีความไม่แน่นอนสูง
การจัดพอร์ตการลงทุนคุ้มครองเงินต้น ในยุคตลาดหุ้นมีความไม่แน่นอนสูง
หากย้อนดูช่วง 8-9 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกขยายตัวในอัตราที่เพิ่มขึ้น มาจากการอัดฉีดสภาพคล่องเป็นจำนวนมาก การเลือกลงทุนในตลาดหุ้นหรือกองทุนหุ้นใดๆ ก็สามารถสร้างผลตอบแทนเป็นบวกได้ต่อเนื่อง แต่ในปี 2561 ตลาดหุ้นเริ่มติดลบ จากความกังวลการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ตามปัจจัยต่างๆ เช่น ความขัดแย้งทางการค้า และสภาพคล่องที่ลดลง ทำให้การวางแผนการลงทุนจึงเป็นเรื่องยาก
สำหรับในปี 2562 วัฏจักรเศรษฐกิจโลกจะเปลี่ยนตัวเองไปสู่ Late Cycle ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง และอัตราดอกเบี้ยในตลาดมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาวะตลาดกระทิงผ่านไปแล้ว ตลาดหุ้นจะปรับฐาน และหาทิศทางของตลาดได้ยากขึ้น ความผันผวนที่แสดงถึงความเสี่ยงในการลงทุนเพิ่มสูงขึ้น นักลงทุนจึงมองหาการลงทุนที่ยังคงคาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนได้บ้าง ขณะเดียวกันยังคงสามารถป้องกันเงินต้นจากความผันผวนได้ด้วย ซึ่งเป็นการลงทุนลักษณะ Portfolio Protection หรือมีการปกป้องความเสี่ยงของการลงทุนในขาลง โดยผมมีหลายกลยุทธ์การลงทุนมาฝาก ดังนี้
แนวทางที่ 1: การจัดพอร์ตคุ้มครองเงินต้น 100% เป็นการเลือกลงทุนในตราสารหนี้ หรือหุ้นกู้เอกชนในประเทศ ที่ให้ผลตอบแทนคงที่ตลอดอายุการลงทุน โดยควรเลือกหุ้นกู้เอกชนที่มีอันดับเครดิตในระดับที่สูงเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระคืนเงินต้น ในยามที่เศรษฐกิจผันผวน
แนวทางที่ 2 : การจัดพอร์ตแบบรักษาเงินต้นด้วยการจัดน้ำหนักการลงทุน เป็นการกำหนดน้ำหนักการลงทุนให้มีส่วนผสมของตราสารหนี้กับกองทุนหุ้น โดยคำนวณให้เงินต้นของตราสารหนี้บวกกับดอกเบี้ยรับในอนาคต ได้เท่ากับ ต้นเงินที่คิดจะป้องกัน ตัวอย่างเช่น ลงทุนในหุ้นกู้อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ย 4% ซึ่งจะได้ดอกเบี้ย 20% ตลอดระยะเวลา 5 ปี ดังนั้น หากลงทุน 100 บาท จะจัดสรรไปลงทุนในหุ้นกู้ไว้ 80 บาท และ นำ 20 บาท ลงทุนในกองทุนหุ้น หากเป็นแบบนี้ ในระยะเวลา 5 ปี จะสามารถรักษาเงินต้นได้ และยังคาดหวังผลตอบแทนของการลงทุนในกองทุนหุ้นในระยะเวลา 5 ปี ที่มีโอกาสจะได้ผลตอบแทนส่วนเพิ่ม
แนวทางที่ 3: การเลือกลงทุนในกองทุนที่มีการการันตีเงินต้น เป็นแนวทางที่ง่าย ด้วยการนำเงินไปลงทุนในกองทุนผสมที่มีการการันตีเงินต้นโดยสถาบันการเงินที่น่าเชื่อถือ ซึ่งกองทุนเหล่านี้จะมีระยะเวลาถือครองจำนวนหนึ่ง และผู้จัดการกองทุนมีหน้าที่ในการบริหารเงินกองทุนนั้นให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ช่วยให้นักลงทุนสามารถวางใจและกำหนดการลงทุนได้ตามเป้าหมาย
แนวทางที่ 4: การลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงที่คุ้มครองเงินต้น เป็นการลงทุนในตราสารหนี้ของสถาบันการเงิน แต่เลือกรับผลตอบแทนอ้างอิงกับดัชนีของหลักทรัพย์ประเภทอื่นนอกเหนือจากอัตราดอกเบี้ย ตัวอย่างเช่น ลงทุนในตราสารหนี้แบบคุ้มครองเงินต้น แต่เลือกรับการมีส่วนร่วมในผลตอบแทนของดัชนีหุ้น S&P500 ที่หากดัชนีปรับตัวขึ้นจากจุดอ้างอิง ตราสารหนี้ได้ผลตอบแทนเป็นสัดส่วนของผลตอบแทนของดัชนี แต่หากดัชนีปรับตัวลดลง ก็จะรับคืนเงินต้นเมื่อครบกำหนด โดยไม่เสียเงินต้น
จากกลยุทธ์การลงทุนข้างต้น นักลงทุนสามารถผสมผสานแนวทาง 1 ถึง 4 ร่วมกันได้ และการกระจายการลงทุนยังเป็นสิ่งสำคัญในการลงทุน ผมขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในการลงทุนนะครับ
TIPS: นักลงทุนควรมีการกระจายความเสี่ยงจากการลงทุน โดยจัดสรรสินทรัพย์เพื่อการลงทุน ตามระดับความเสี่ยงที่สามารถรับได้ เช่น หากรับความเสี่ยงได้ต่ำ เน้นลงทุนในตราสารหนี้สัดส่วนมากกว่าตราสารทุน แต่หากรับความเสี่ยงได้สูง ให้เน้นลงทุนในตราสารทุนเป็นสัดส่วนมากกว่าตราสารหนี้ เป็นต้น นอกจากนี้ การลงทุนแบบ DCA (dollar-cost averaging) ซึ่งเป็นการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน โดยการกำหนดเงินลงทุนเป็นงวดๆ งวดละเท่าๆ กัน โดยไม่สนใจราคาของหน่วยลงทุนหรือราคาหุ้น ซึ่งจะทำให้สามารถซื้อหน่วยลงทุนหรือหุ้นในจำนวนที่มากขึ้น หากราคาหุ้นปรับลดลง และ จะทำให้ซื้อได้น้อยลง หากราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้น ก็ถือเป็นการกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนอีกทางหนึ่งด้วยครับ - SCB CIO Office