จาก Go Zero Waste สู่ หมอนหลอดพลาสติก
จาก Go Zero Waste สู่ หมอนหลอดพลาสติก นวัตกรรมแก้โรค(ผู้ป่วยติดเตียง) เพื่อรักษ์โลก
วันนี้ “หมอนหลอดพลาสติกใช้แล้ว” กำลังกลายเป็นอีกก้าวเล็กๆ ที่กำลังช่วยโลกให้หายป่วย
1.
ในปีที่ผ่านมา อาจเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับสังคมไทย เมื่อเริ่มมีกระแสความตระหนักและห่วงใยเรื่องขยะพลาสติกกันมากขึ้น หลังจากพบหลายข่าวสุดหดหู่ ของเหล่าบรรดาสัตว์เพื่อนร่วมโลกต้องได้รับผลกระทบจากปัญหาขยะที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์
ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เต่าตนุตัวหนึ่งต้องสังเวยชีวิตเพราะกินขยะพลาสติก และพบภายในกระเพาะอาหารพบขยะพลาสติกเป็นจำนวนมาก
ไม่กี่เดือนต่อมาเรื่องราวความเศร้าสลดยิ่งถูกตอกย้ำ ด้วยข่าวเต่าตัวที่สองถูกหลอดพลาสติกอุดรูจมูก จนเกือบเอาชีวิตไม่รอด
เหล่านี้สะท้อนได้ว่าปริมาณขยะมูลฝอยทุกวันนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากขนาดไหน
2.
ย้อนไปเมื่อช่วงเดือนกันยายน 2561 ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้จัดกิจกรรมเปิดตัวนิทรรศการหมุนเวียน “Go Zero Waste ชีวิตใหม่ ไร้ขยะ” ขึ้น ณ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ โดยหวังให้เป็นกิจกรรมที่กระตุ้นเตือนใจ และสร้างความตระหนักแก่สาธารณชนต่อสถานการณ์ขยะที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะ
เบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. เล่าถึงงานนิทรรศการหมุนเวียน “Go Zero Waste ชีวิตใหม่ไร้ขยะ”ว่า เป็นนิทรรศการที่เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และสร้างจิตสำนึก ผ่านประสบการณ์การเรียนรู้ รวม 4 โซน ได้แก่ 1. โซน Check&Shock สำรวจพฤติกรรมการบริโภคในชีวิตประจำวันของตัวเองในบ้าน ร้านค้า โรงเรียน และสำนักงาน 2. โซน Waste Land สถานการณ์ปัญหาขยะในปัจจุบันและวิธีการแยกขยะ 3. โซน Waste Wow นวัตกรรมการจัดการขยะใกล้ตัว และ 4. โซน Zero Waste World เรียนรู้ต้นแบบวิถีการจัดการขยะจากสถานการณ์ขยะล้นโลกในปัจจุบันที่ส่งผลต่อสุขภาวะ ผ่านองค์ความรู้ในการลดการสร้างขยะ (Reduce) การนำขยะหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) และการนำขยะมาแปรรูปแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) รวมทั้งการคัดแยกขยะ ที่เรียกว่า 3Rs ซึ่งแม้คือเรื่องง่ายๆ ที่ใครๆ ก็รู้จักและทำได้ แต่น้อยคนนักที่จะลงมือทำ
“เพราะขยะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ ที่สำคัญประเทศไทยเรานี่แหละ เป็นคนที่สร้างปริมาณขยะจนติดอันดับ 6 ของโลก ด้วยถิติสูงถึง 27.4 ล้านตัน โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ นี่ คือกลุ่มคนที่สร้างขยะถึง 1 ใน 5 ของประเทศ โดยเฉพาะการใช้ขยะจากผลิตภัณฑ์ประเภทใช้แล้วทิ้ง (Single Use) ที่ผลิตจากวัสดุย่อยสลายได้ยาก กำลังคือตัวการสำคัญที่สร้างปัญหาขยะและสุขภาพ”
อีกนัยหนึ่งกิจกรรมนี้ ยังคือการกระตุ้นทุกภาคส่วนให้มองเห็นหนทางที่ช่วยกันแก้ไขปัญหาขยะที่เป็นวาระแห่งชาติด้วยนวัตกรรมที่ทุกคนสามารถทำได้
ดังนั้นเพื่อขยายภาพกิจกรรมรักษ์โลกดังกล่าวให้สู่การลงมือทำจริง โครงการจึงต่อยอดด้วยหนึ่งกิจกรรมเล็กๆ นั่นคือ กิจกรรมรับบริจาคหลอดใช้แล้วเพื่อนำมาทำหมอนหลอดให้กับผู้ป่วยติดเตียง โรงพยาบาลอุ้มผาง จังหวัดตาก ที่เปิดรับบริจาคหลอดใช้แล้ว และขณะนี้กำลังเปิดรับบรรดาจิตอาสาผู้มีน้ำใจมาลงแรงช่วยกันผลิตหมอนจนถึงวันที่ 16 มกราคม 2562 นี้
“สสส.ไม่ได้อยากให้คนแค่มาดูนิทรรศการเราแล้วก็กลับไป แต่อยากให้เกิดการ Take Action ขึ้น โดยการที่ทุกคนลุกขึ้นมาทำ คือตัวหลอดพลาสติคเรามองว่าอาจ Reuse ไม่ได้เพราะเป็นเรื่องสุขอนามัย แต่เรานำมารีไซเคิลคือแปรรูปมาใช้ใหม่ได้เป็นหมอนหลอดสำหรับผู้ป่วย ที่มีประโยชน์มากกว่าใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งไปเลย” เบญจมาภรณ์เล่า
3.
“แนวคิดดังกล่าวเกิดจากเราต้องการเอาขยะมาสร้างมูลค่าเพิ่ม พอดีช่วงนั้นมีกระแสโซเชียลที่ภาพหลอดติดในจมูกเต่า เราเลยลองสังเกตก็เห็นจริงด้วยว่า “หลอด” กับถุงพลาสติก มันอยู่ทุกที่ทุกแห่งตลอดเวลา ไม่ว่าเราเดินไปไหน”
จึงติดต่อไปทางโรงพยาบาลอุ้มผางสอบถามความต้องการว่าสนใจไหม ทางโรงพยาบาลเองก็ขาด อุปกรณ์การแพทย์และการดูแลผู้ป่วยไม่เพียงพอ เพราะมีทั้งผู้ป่วยคนไทยและคนต่างด้าวค่อนข้างมาก จึงยินดีที่จะรับบริจาคจากเรา” ชลลดา เพ็งสุนทร (ดา) หัวหน้าฝ่ายกิจกรรม ฝ่ายนิทรรศการเพื่อการเรียนรู้สุขภาวะ สสส. เล่าถึงที่มาของกิจกรรมนี้
เธอเล่าว่า หมอนหลอดนั้นดีกับผู้ป่วยที่ต้องนอนในโรงพยาบาลจริง เพราะนอกจากจะมีความยืดหยุ่น ระบายอากาศเหมาะกับผู้ป่วยที่นอนติดเตียงเป็นเวลานานไม่ให้เป็นแผลกดทับแล้ว ยังช่วยลดปัญหาเรื่องไรฝุ่น ภูมิแพ้ให้กวนใจเหมือนหมอนที่ทำจากนุ่นหรือฝ้ายทั่วไป ซึ่งก่อนหน้านี้ สสส.เคยทำกิจกรรมเบาะนอนให้ผู้ป่วยติดเตียงมาแล้ว จึงนำมาประยุกต์ใช้กับโครงการนี้
“ตอนนั้นเขาใช้หลอดใหม่ ซึ่งเราคิดว่าแทนที่เราต้องซื้อหลอดมาทำ น่าจะมาปรับไอเดียว่าเปลี่ยนเป็นหลอดที่ใช้แล้ว ถ้านำมาทำความสะอาดดีๆ ก็ใช้ได้เหมือนกัน เราเลยคิดว่าน่าต่อยอดจากตรงนั้น” ชลลดาเล่าเสริม
ปัจจุบันหลังปิดรับบริจาคหลอดไปเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ปรากฎว่าได้รับการตอบรับอย่างดีเกินคาด เพราะตอนนี้มีหลอดกักตุนอยู่เกือบเต็มห้องนิทรรศการของ สสส. มากกว่าหลายสิบตัน
สำหรับหมอนหนึ่งลูก สามารถลดการทิ้งหลอดใช้แล้ว โดยนำมาใช้ซ้ำได้ถึงประมาณหนึ่งถัง (20 ลิตร) โดยทีมงานตั้งเป้าผลิตหมอนขนาดมาตรฐาน 25x25 เซ็นติเมตร จำนวน 500 ใบ แต่ตอนนี้น่าจะเกินเป้าไปในระดับหลักพันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งทางโครงการก็ยังเดินหน้าทำต่อไปต่อเนื่องเพราะว่าจำนวนหลอดพลาสติก
“ตอนนี้เราคิดว่าหลอดที่บริจาคมาให้น่าจะเพียงพอที่เราจะขยายทำเป็นเบาะรองนั่งนอนให้กับทางโรงพยาบาลเพิ่มเติมด้วย และยังกำลังคุยกับโรงพยาบาลในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เพิ่มด้วยค่ะ”
“ตอนแรกเราก็คิดว่าจะทำเป็นโครงการเล็ก ๆ เพราะไม่มั่นใจว่าคนจะร่วมมือกับเราด้วยเปล่า แต่กลายเป็นว่าทุกคนสนใจโครงการนี้ มีบริจาคหลอดกันเข้ามาไม่ขาดสาย แม้แตโรงงานทานตะวัน เป็นผู้ผลิตหลอดก็ส่งเศรษหลอดที่ไม่ผ่าน QC แล้วที่เขาต้องทิ้งมาให้เราเยอะมาก” ชลลดาเสริม
ด้านผู้รับบริจาค นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก ให้ข้อมูลเสริมถึงแนวคิดการรับบริจาคหมอนหลอดพลาสติกแก่ผู้ป่วยว่า มองว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อสังคมไม่แค่เฉพาะคนป่วย
“ทางโรงพยาบาลกับ สสส.เรามีแนวคิดสอดคล้องกันว่า เราอยากเอาพลาสติคออกจากสังคม ซึ่งโครงการนี้จะเป็นต้นแบบที่ดีในการขยายแนวคิดนี้ไปสู่สังคม และอยากชักชวนให้ทุกคนเห็นความสำคัญในเรื่องนี้”
โดย นพ.วรวิทย์กล่าวต่อว่า โรงพยาบาลอุ้มผางมีแนวคิดสนับสนุนให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เกี่ยวกับการใช้อย่างคุ้มค่า โดยที่ผ่านมา โรงพยาบาลเองได้รับขอรับบริจาคยาเหลือใช้และยังไม่หมดอายุจากประชาชนมาแล้ว
4.
นอกจาก นอกจากช่วยลดโรคของผู้ป่วย และยังรักษ์โลกได้อย่างดี กิจกรรมหมอนหลอดยังกลายเป็นกิจกรรมแห่งความสุข เพราะทุกคนอาสาเดินทางมาทำด้วยใจ บางคนก็มาหลายครั้งแล้ว บางคนก็พาเพื่อน พาครอบครัวมากันทั้งบ้านกลายเป็นกิจกรรมสร้างสุขในวันหยุด ซึ่งมักจะเป็นวันที่มีอาสาสมัครมาทำกันหนาแน่น บางคนไม่มีเวลาเดินทางมา ก็ขออาสารับไปทำที่บ้านแล้วนำมาส่งก็ยังมี
ชารินี อุเส็นยัง หญิงสาวจิตอาสาเล่าขณะเธอกำลังนั่งตัดหลอดให้เป็นท่อนสั้นๆ ความยาวประมาณ 1 นิ้ว พร้อมเผยความรู้สึกให้ฟังว่า เธอมาทำหมอนเป็นครั้งที่สองแล้ว โดยพื้นฐานเดิมเธอชอบทำกิจกรรมจิตอาสา มาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาอยู่แล้วจึงสนใจโครงการ
“พอดีเห็นในข่าวช่องไทยพีบีเอสวันก่อน ว่าทาง สสส. จะเอาหมอนไปแจกให้กับโรงพยาบาลอุ้มผาง ในข่าวบอกว่าหลอดตอนนี้มีเยอะมาก แต่ขาดกำลังคนที่มาช่วยทำหมอน เราลองโทรมาถามเจ้าหน้าที่ดู ก็ไม่เคยรู้จักว่า สสส.อยู่ที่ไหน แต่ก็ลองมาคนเดียวเลยค่ะ ตอนแรกคิดว่าแค่ตัดหลอดจะง่ายๆ ก็เมื่อยเหมือนกันนะ (หัวเราะ) แต่เรารู้สึกดีค่ะ เหมือนแค่เราสละเวลาที่เล่นโทรศัพท์มือถือแค่ 1-2 ชั่วโมงมาทำตรงนี้ก็ได้ประโยชน์แล้ว” ชารินีเล่า
“เห็นตอนนี้เขายังขาดคนมาช่วยทำเยอะมาก เพราะหลอดที่บริจาคมาเยอะมากเป็นห้องเลย แต่เราพยายามเช็คอินในสเตตัสตลอดนะ เผื่อใครสนใจอยากจะมาช่วยทำ และคิดไว้ว่าอยากจะไปช่วยบริจาคที่โรงพยาบาลอยากไปช่วยด้วยเลยค่ะ ถ้าเป็นไปได้ และตั้งใจว่าจะติดตามต่อไปว่า หากทาง สสส.เขามีกิจกรรมจิตอาสา ถ้าเป็นจังหวะที่เรามีเวลาว่างก็จะมาร่วมกิจกรรมอีก”
สิริพร อีกหนึ่งอาสาสมัครที่มาช่วยผลิตหมอนหลอดแบบไม่ได้ตั้งตัวเล่าว่า
“เรามางานอื่น แต่เห็นบอร์ดประกาศข้างบน เรามาสำรวจดูก็เลยลองดูดีกว่า พอลองแล้วก็เพลินๆ ไม่น่าเบื่อนะ ลองทำหลายอย่างตัดหลอด บรรจุ ยังขาดลองเย็บ เดี๋ยวกำลังจะลองทำดู แต่เห็นว่ามีคนเอาไปเย็บที่บ้านก็เยอะ ตั้งใจว่าเราคงจะมาอีกเรื่อยๆ ถ้าว่าง เดี๋ยวกลางเดือนเขาจะซักหมอนแล้วช่วยกันยัดกลับเข้าไป” เธอกล่าวทิ้งท้าย