ฝึกไว้ 5 ทักษะเอาตัวรอด เกราะป้องกันเด็กไทยจมน้ำ

ฝึกไว้ 5 ทักษะเอาตัวรอด เกราะป้องกันเด็กไทยจมน้ำ

-

เรื่องราวของอุบัติเหตุ ‘เด็กจมน้ำเสียชีวิต กำลังเป็นอีกประเด็นร้อนของสังคมไทย แม้ไม่ใช่เรื่องใหม่ หากแต่ละปีเรามักได้ยินเรื่องราวความเผลอไผลที่นำมาสู่โศกนาฎกรรมในสังคมไทยต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงวันหยุดปิดเทอมในทุกปี

แม้อุบัติเหตุเป็นเรื่องที่ไม่อาจคาดเดา แต่หากสังคมเรามีมาตรการและการเตรียมความพร้อมรับมือที่ดี ก็อาจสามารถช่วยป้องกันไม่ให้ทุกอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ หรือเกิดน้อยที่สุด

หากแต่สถิติในวันนี้ ยังพบข้อมูลว่า ปัญหาเด็กจมน้ำยังคงครองสถิติสาเหตุการเสียชีวิตของเด็กไทยเป็นอันดับ 1 โดยเฉพาะผลสำรวจการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กวัยเรียนกลุ่มอายุ 5-9 ปี ในปี 2558 ยังพบว่า มีอัตราการตาย 6 ต่อ 100,000 คน

สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากบางครั้งผู้ใหญ่ก็อาจเผลอเรอโดยไม่ตั้งใจ หรือมองไม่ออกว่านี่คือภัยใกล้วตัวที่เราคาดไม่ถึง ทางออกของปัญหาจึงต้องสร้างความตระหนักในผู้ใหญ่

ซึ่งถึงที่ผ่านมาคนไทยจะเริ่มตระหนักเรื่องภัยทางน้ำกับเด็กไทย ว่าคือไม่ใช่ประเด็นเล็กๆ อีกต่อไป และหลายฝ่ายร่วมมือกันรณรงค์ต่อเนื่อง แต่ก็ยังพบว่าสถิติเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กในวัย 5-9 ปี ยังคงมีแนวโน้มไม่ลดลงมากอย่างที่คิด

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กับ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล จึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ โครงการทักษะความปลอดภัยทางน้ำ Stop Drowning Start Doing ขึ้น เพื่ออบรมเพิ่มทักษะความปลอดภัยทางน้ำ ให้กับครูจากโรงเรียนพื้นที่ต่างๆ นำร่อง 30 โรงเรียน ทั่วประเทศ ที่มุ่งร่วมมือร่วมใจกันพยายามหาแนวทางแก้ไขปัญหา และหามาตรการปกป้องชีวิตคนไทย โดยเฉพาะเยาวชนไทยที่ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสำคัญให้มีความปลอดภัย จากภัยทางน้ำมากที่สุด

โดยการส่งเสริมหลักสูตรการพัฒนาการเรียนรู้ทักษะเอาตัวรอดต่างๆ ให้กับเด็กและผู้ใหญ่ใกล้ตัว เพราะจะสามารถเป็นเกราะป้องกันที่ช่วยลดการสูญเสียได้ดี

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล ให้ข้อมูลว่า แม้ว่าการเล่นจะเป็นสิ่งที่คู่กันกับวัยเด็ก และถือเป็นกิจกรรมทางกายที่ดี แต่ด้วยวัยที่อยากรู้อยากเห็น บางครั้งการที่ปล่อยให้เด็กเล่นโดยไม่ได้ดูแลอาจนำไปสู่อันตรายได้ ซึ่งจุดเสี่ยงสำคัญคือ แหล่งน้ำขนาดเล็กในชุมชนใกล้บ้านเด็ก และแอ่งน้ำบริเวณใกล้เคียงในพื้นที่ชุมชน และที่สำคัญสาเหตุของการเสียชีวิตส่วนใหญ่มาจากความไม่รู้ต่อความเสี่ยงของแหล่งน้ำ และไม่มีทักษะช่วยตนเองและผู้อื่นเมื่อตกน้ำ ขณะที่ผู้ปกครองก็มองว่าเป็นพื้นที่ไกล้บ้านจึงไม่ได้ระมัดระวัง

ผลสำรวจจากศูนย์วิจัยฯ พบว่า นักเรียนชั้นประถมปีที่ 1 ช่วงอายุ 6-7 ปี ในโรงเรียนกลุ่มขาดโอกาสและยากจนที่จัดเป็นกลุ่มวัยเสี่ยงต่อการจมน้ำเสียชีวิตนั้น ไม่มีทักษะชีวิตที่จะป้องกันตนเองให้รอดปลอดภัยจากการจมน้ำ มีนักเรียนเพียง ร้อยละ 5 ที่สามารถบอกความเสี่ยงที่นำไปสู่การตกน้ำจมน้ำได้ และยังไม่รู้จักและวิธีการใช้เสื้อชูชีพ และหากเห็นเพื่อนตกน้ำกำลังจะจมน้ำ จะพยายามกระโดดไปช่วยด้วยตนเอง โดยไม่รู้จักการร้องขอความช่วยเหลือก่อน ซึ่งถือว่าเด็กขาดทักษะการป้องกันตนเองและการช่วยเหลือตนเองเมื่อตกน้ำ”

ชฎาพร สุขสิริวรรณ นักวิจัยจากสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล เล่าถึงที่มาโครงการว่า เกิดจากการที่ได้ทำวิจัยแบบสอบถามกับผู้ปกครองเด็กวัย 5-9 ปี จำนวน 569 ราย เกี่ยวกับการมีทักษะชีวิตป้องกันตนเองให้รอดปลอดภัยจากการจมน้ำ โดยในคำถามที่เกี่ยวกับความสามารถลอยตัวของเด็กเองได้มีผู้ปกครองตอบว่าสามารถทำได้ร้อยละ 35 หากวิกฤตสำคัญกลับอยู่ที่เมื่อนำกลุ่มเด็กที่ผู้ปกครองตอบว่าลอยตัวได้ร้อยละ 35 เหล่านี้มาทดสอบ ปรากฏว่าเด็กส่วนใหญ่กลับไม่สามารถลอยตัวได้อย่างที่คิด

“แต่สิ่งที่เราตกใจคือ เด็กลอยตัวได้น้อยมากและไม่ถึง 3 นาที ตรงนี้คือจุดอ่อนสำคัญ และมีโอกาสที่เด็กจะเสียชีวิตเพราะจมน้ำสูง เพราะพ่อแม่เข้าใจผิดคิดว่าลูกช่วยเหลือตัวเองได้ เราจึงต้องกลับไปบอกพ่อแม่ใหม่ว่า แท้จริงลูกคุณทำไม่ได้และไม่ควรปล่อยให้ไกลสายตา เพราะยังไม่ปลอดภัยนะ”

ชฎาพรเสริมว่าจากสถิติที่พบ แม้วันนี้เด็กไทยจะเสียชีวิตจากการจมน้ำน้อยลง แต่ในกลุ่มวัย 5-9 ปี หรือวัยประถมต้น สถิติเด็กจมน้ำกลับยังคงลดลงช้า

“จึงมองว่าเด็กควรมีทักษะเรื่องนี้ตั้งแต่ชั้น ป.1และนี่เป็นเหตุผลที่โครงการเริ่มจับมือกับโรงเรียน 30 แห่งดังกล่าว”

ส่วนจุดท้าทายของโครงการคือการตั้งมาตรการเพื่อให้ทางโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการต้องต้องดำเนินการใน 3 มาตรการสำคัญ ได้แก่ หนึ่ง สอนเด็กประถม 1 ให้รู้ใน 5 ทักษะความปลอดภัยทางน้ำ 5 เรื่อง ที่ทางศูนย์ฯ ออกแบบมาจากการตรวจพบสาเหตุการเสียชีวิตเด็ก แล้วนำมาสู่แนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกัน ได้แก่ 1. เรียนรู้สิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมเสี่ยงต่อการจมน้ำ สอนให้เด็กรู้ว่าแหล่งน้ำไหนเสี่ยง ไม่ควรไปวิ่งเล่นใกล้ๆ โดยอาจจะพาเด็กเดินสำรวจสิ่งแวดล้อมในชุมชน และพาเขาไปดูว่าจุดไหนที่อันตราย และจุดไหนที่ปลอดภัย เพราะเด็กวัยนี้จะเข้าใจ ในเหตุและผลได้แล้ว  2.เด็กต้องลอยตัวในน้ำได้อย่างน้อย 3 นาที เพื่อรอการช่วยเหลือ เนื่องจากสาเหตุของการจมน้ำส่วนใหญ่ เกิดจากการที่เด็กมักจะเล่นกันใกล้ฝั่งและพลาดตกลงไปในน้ำ แต่ไม่สามารถที่จะลอยตัวขึ้นมาเพื่อจะเข้าฝั่งได้ เพราะฉะนั้นถ้าลอยตัวได้ 3 นาที เด็กจะสามารถช่วยตัวเองได้  3. ว่ายได้ 15 เมตร นอกจากการลอยตัวให้ได้ 3 นาทีแล้ว เพื่อเป็นทักษะในการว่ายเข้าฝั่งหากพลัดตกลงไปในน้ำ  4. รู้อันตราย เด็กต้องรู้ว่า การกระโดดลงไปช่วยเพื่อนที่กำลังจมน้ำนั้นเป็นเรื่องที่อันตราย และยึดหลัก 3 ข้อ คือ “ตะโกน โยน ยื่น” ตะโกน ให้ผู้ใหญ่มาช่วย โยน สิ่งของที่อยู่รอบตัว เช่น ถังน้ำ แกลลอน เพื่อให้เพื่อนเกาะและสามารถใช้ลอยตัวได้ ยื่น สิ่งยาวๆ ให้เพื่อนจับแล้วดึงเข้ามาใกล้ฝั่ง (โดยจุดที่ยืนก็ต้องมั่นคงด้วย) และ 5. การใช้ชูชีพ เพื่อการเดินทางทางน้ำ ไม่ว่าจะเรือชนิดใด จะว่ายน้ำเป็นไม่เป็น ก็มีความเสี่ยงที่จะจมน้ำได้เช่นกัน ดังนั้น การฝึกให้เด็ก ใส่ – ถอด ชูชีพให้ถูกวิธี หัดลอยตัวเมื่อใส่ชูชีพให้ได้ เพราะถ้าลอยตัวไม่เป็น หน้าคว่ำลงก็อาจจะอันตรายกับชีวิตเด็กเช่นกัน

.”โดยทางเราจะมาตรวจสอบและต้องมีเกณฑ์ผ่านไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75 ทุกโรงเรียน นอกจากนี้ หลังการสอน ครูและโรงเรียนต้องสามารถออกแบบคู่มือการเรียนรู้ได้ 1 ชิ้น มาตรการเรื่องที่สอง โรงเรียนต้องเพิ่มพื้นที่ดีสำหรับการเล่นให้เด็ก และลดพื้นที่เสี่ยงภัย โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงต่อการจมน้ำ ซึ่งอาจเป็นการกั้นบริเวณ หรือหากไม่มีงบประมาณอย่างน้อยควรทำป้ายตักเตือนให้เด็กรู้ และมาตรการที่สาม คือโรงเรียนต้องสื่อสารกับผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น ในโรงเรียน นอกโรงเรียน ตลอดจนพ่อแม่ผู้ปกครองเด็กให้ช่วยเฝ้าระวัง”

เสียงสะท้อนของตัวแทนครูที่เข้าร่วมอบรมครั้งนี้ จีรวรรณ์ ปันผา ครูโรงเรียน บ้านแก่งหว้าแก่งไฮ จ.พิษณุโลก เล่าว่า โรงเรียนให้ความสำคัญในการป้องกันอุบัติเหตุ และปลูกฝังจิตสำนึกเกี่ยวกับความปลอดภัยในทุกๆ ด้าน ซึ่งทักษะทางน้ำเป็นหนึ่งในทักษะที่สำคัญ เพราะพื้นที่ของบ้านแก่งหว้าแก่งไฮ มีแหล่งน้ำธรรมชาติ และอ่างเก็บน้ำมากมาย ซึ่งเสี่ยงต่อการจมน้ำของเด็ก การฝึก 5 ทักษะให้กับครู และเด็กจะช่วยลดความเสี่ยงได้

ปีที่ผ่านมา โรงเรียนได้เป็นหนึ่งในโรงเรียนนำร่อง โดยเริ่มจากการเสริมทักษะให้กับเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 25 คน ผลที่ได้คือ เด็กมีทักษะช่วยเหลือตนเองได้ทั้งหมด จนสามารถเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่ใกล้เคียง และในปีนี้โรงเรียนได้วางแผนต่อยอดนำ 5 ทักษะไปสอดแทรกในการเรียนการสอนในทุกชั้นเรียน ตลอดจนเชิญชวนผู้ปกครอง และคนในชุมชนมาร่วมกันเรียนรู้ตั้งแต่ทฤษฎีไปจนถึงการปฏิบัติจริง ซึ่งต้องขอบคุณ สสส. และ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวฯ ที่จัดโครงการดีๆ แบบนี้” จีรวรรณ์ กล่าว

สำหรับคู่มือการเรียนรู้เรื่องทักษะความปลอดภัยทางน้ำที่ถูกออกแบบโดย 30 โรงเรียนนำร่องดังกล่าว ทางโครงการจะนำมารวบรวม และวิเคราะห์เพื่อเป็นต้นแบบคู่มือการเรียนให้กับโรงเรียนอื่นๆ ทั่วประเทศได้ใช้ให้เหมาะกับบริบทแต่ละแห่งต่อไปในอนาคต

อย่างไรก็ดี อุบัติเหตุเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ แต่การมีทักษะ และมีสติเมื่อเกิดเหตุจะเป็นตัวช่วยรักษาชีวิตได้  ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่แค่หน้าที่ครูหรือใคร แต่เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ทุกคน โดยเฉพาะพ่อแม่ที่ต้องให้ความใส่ใจ จึงจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตการจมน้ำในกลุ่มอายุ 5-9 ปี ได้รวดเร็วและยั่งยืน

ฝึกไว้ 5 ทักษะเอาตัวรอด เกราะป้องกันเด็กไทยจมน้ำ

ฝึกไว้ 5 ทักษะเอาตัวรอด เกราะป้องกันเด็กไทยจมน้ำ

ฝึกไว้ 5 ทักษะเอาตัวรอด เกราะป้องกันเด็กไทยจมน้ำ

ฝึกไว้ 5 ทักษะเอาตัวรอด เกราะป้องกันเด็กไทยจมน้ำ

ฝึกไว้ 5 ทักษะเอาตัวรอด เกราะป้องกันเด็กไทยจมน้ำ ฝึกไว้ 5 ทักษะเอาตัวรอด เกราะป้องกันเด็กไทยจมน้ำ

ฝึกไว้ 5 ทักษะเอาตัวรอด เกราะป้องกันเด็กไทยจมน้ำ