‘ไอบีเอ็ม วัตสัน’รุกเดินหน้าแก้ปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์

‘ไอบีเอ็ม วัตสัน’รุกเดินหน้าแก้ปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์

ผนึก 8 มหาวิทยาลัยติวเข้มวัตสัน เพิ่มความแกร่งไซเบอร์ซิเคียวริตี้

 ‘ไอบีเอ็ม ซิเคียวริตี้’เปิดตัว ‘วัตสันสำหรับไซเบอร์ซิเคียวริตี้’ (Watson for Cyber Security) เทคโนโลยีค็อกนิทิฟบนคลาวด์สำหรับองค์กรทุกระดับที่ใช้ความสามารถของวัตสันในการเรียนรู้งานวิจัยด้านซิเคียวริตี้จำนวนมาก เพื่อศึกษาแพทเทิร์นของการคุกคามและภัยไซเบอร์ที่อาจแอบแฝงอยู่แต่ไม่สามารถตรวจจับได้ โดยวัตสันสามารถเข้าใจข้อมูลไร้โครงสร้าง (unstructured data) ที่มีอยู่ถึงร้อยละ 80 ของข้อมูลทั้งหมดในปัจจุบัน อาทิ ข้อมูลจากบล็อก บทความ วิดีโอ รายงาน การแจ้งเตือนต่างๆ ฯลฯ เหล่านี้เป็นข้อมูลที่ระบบซิเคียวริตี้ทั่วไปไม่สามารถนำมาประมวลผลได้

 

พร้อมกันนี้ไอบีเอ็มยังเตรียมจับมือกับมหาวิทยาลัย 8 แห่ง มุ่งขยายคลังข้อมูลด้านซิเคียวริตี้และฝึกสอนวัตสันเพิ่มเติม เพื่อเสริมศักยภาพระบบค็อกนิทิฟซิเคียวริตี้ ให้พร้อมเป็นเครื่องมือสำคัญช่วยนำเสนอกลยุทธ์การรับมือรูปแบบต่างๆ ให้ผู้เชี่ยวชาญด้านซิเคียวริตี้ขององค์กรสามารถรับมืออาชญากรรมไซเบอร์ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ

 

ปัจจุบันองค์กรโดยทั่วไปต้องเผชิญกับเหตุด้านความปลอดภัยเฉลี่ยกว่า 200,000 รายการต่อวัน[1]นำสู่ค่าใช้จ่ายที่องค์กรต้องสูญเสียเพื่อแก้ไขปัญหาผลบวกลวง (False Positives) ถึง 1.3 ล้านดอลลาร์ต่อปี และการสูญเสียเวลาในการแก้ปัญหาเกือบ 21,000 ชั่วโมง[2] เมื่อผนวกรวมกับข้อมูลช่องโหว่ของซอฟต์แวร์ที่ตรวจพบกว่า 75,000 รายการในฐานข้อมูลช่องโหว่แห่งชาติ [3] เอกสารงานวิจัยด้านความปลอดภัยกว่า 10,000 ฉบับที่ตีพิมพ์ในแต่ละปี และข้อมูลด้านความปลอดภัยจากกว่า 60,000 บล็อกที่เผยแพร่ในแต่ละเดือน [4]เรื่องการรักษาความปลอดภัยจึงกลายเป็นความท้าทายสำคัญที่กดดันให้องค์กรต้องเดินหน้าจัดทัพและรับมืออย่างรวดเร็ว

“ปริมาณและการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของข้อมูลคือปัจจัยสำคัญที่ท้าทายเป็นอย่างยิ่งในการรับมือกับอาชญากรรมไซเบอร์การใช้ความสามารถของวัตสันในการเชื่อมโยงบริบทของข้อมูลแบบไร้โครงสร้างปริมาณมหาศาล จะนำสู่มุมมองเชิงลึก คำแนะนำ และองค์ความรู้ที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้เชี่ยวชาญด้านซิเคียวริตี้ ช่วยให้นักวิเคราะห์ด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ขั้นสูงสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น ขณะที่นักวิเคราะห์มือใหม่ก็สามารถฝึกฝนและเรียนรู้เพิ่มเติมไปด้วยในขณะปฏิบัติงาน"นายกิตติพงษ์ อัศวพิชยนต์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซอฟต์แวร์ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าว