สภาเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ ร่วม "ปฏิรูปนโยบายเรียนฟรี" ลดความเหลื่อมล้ำ

สภาเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ ร่วม "ปฏิรูปนโยบายเรียนฟรี" ลดความเหลื่อมล้ำ

สภาเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ ผนึกเครือข่าย ผุดแคมเปญ "ปฏิรูปนโยบายเรียนฟรี" ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของเยาวชนไทย

เกือบ 3 เดือนของการเปิดเทอมทั่วประเทศ ยังมีเด็กจำนวนมากยังไม่ได้ไปโรงเรียน แต่ต้องออกมาทำงานช่วยพ่อแม่หาเลี้ยงปากท้อง เป็นแรงงานที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง ทำงานที่มีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของชีวิต อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิด เด็กบางคนเลือกที่จะไปเรียนบางวันและต้องหยุดไปทำงาน เพราะการไปเรียนมีต้นทุนเกินกว่าครอบครัวยากจนจะแบกรับ 

แม้ภาครัฐจะมี นโยบายเรียนฟรี แต่ช่องว่าง ความเหลื่อมล้ำ ที่ถ่างกว้าง ทำให้เด็กยากจนทั้งในเมืองและชนบทจำนวนมากยังไปไม่ถึงโรงเรียน โดยเฉพาะครอบครัวผู้มีรายได้น้อยต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาสูงมากเมื่อเทียบกับรายได้ เด็กยากจนเหล่านี้ไม่เพียงเข้าถึงระบบการศึกษายาก กลับกันภาวะรายได้ต่ำยังเพิ่มโอกาสให้เด็กๆ "หลุดจากการเรียนหนังสือ" มากขึ้น เพราะงบเรียนฟรียังช่วยเหลือเด็กได้ไม่ครอบคลุม ไม่เพียงพอ 

ล่าสุด สภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร ได้ตระหนักถึงประเด็นดังกล่าว จึงร่วมมือกับหลายเครือข่าย ทั้ง สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย เครือข่ายเด็กและเยาวชนพื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดาร ภาคประชาสังคมที่ทำงานกับเด็กเยาวชน และ Inskru ผลักดันแคมเปญออนไลน์ "ปฏิรูปนโยบายเรียนฟรี" #เรียนฟรีต้องฟรีจริง เรียกร้องให้ภาครัฐเพิ่มงบดูแลนักเรียนยากจน เพื่อช่วยเหลือเด็กที่กำลังเสี่ยงต่อการหลุดจากระบบการศึกษา ให้ยังสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ ผ่าน change.org 

สำหรับนโยบายเรียนฟรีที่ดำเนินการมา 15 ปี พบว่ามีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย และยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ตรงจุด โดยเฉพาะด้านเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานให้แก่นักเรียนยากจน ที่ยังไม่ได้ปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป และยังไม่ครอบคลุมถึงระดับชั้นอนุบาลและมัธยมปลายทั้งที่เป็นกลุ่มเสี่ยงหลุดการศึกษามากที่สุด ไม่ครอบคลุมนักเรียนยากจนทุกระดับชั้นในโรงเรียนสังกัด กทม. ขณะเดียวกันหลายครอบครัวยังมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่ม เช่น ค่าบำรุงโรงเรียน ค่าชุดนักเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน รวมถึงค่าใช้จ่ายแฝงอื่นๆ 

นอกจากนี้ ประเด็นที่เกิดขึ้นซ้ำเติมในช่วงวิกฤติโควิด-19 ระบาด คือรายได้ของครอบครัวเด็กและเยาวชนยากจนพิเศษลดลงเหลือเฉลี่ย 1,094 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็น 36 บาทต่อวัน สวนทางกับค่าใช้จ่ายแฝงที่เพิ่มขึ้นทุกด้านตามภาวะเงินเฟ้อพุ่ง เช่น ค่าชุดนักเรียนสูงถึง 500 บาท ปัญหาเหล่านี้ส่งผลให้จำนวนเด็กยากจนพิเศษเพิ่มขึ้น ล่าสุดเป็น 1,302,968 คน เพิ่มขึ้น 128,524 คน จากภาคเรียนที่ 2/2563 กลายเป็นกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษามากขึ้น อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวส่งผลให้ปีการศึกษา 2564 มีนักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษาไปชั่วคราวมากกว่า 238,000 คน ก่อนที่มีโครงการพาน้องกลับมาเรียนเพื่อพยายามดึงเด็กกลุ่มนี้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา

สำหรับแคมเปญ "ปฏิรูปนโยบายเรียนฟรี" #เรียนฟรีต้องฟรีจริง ต้องการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการจัดสรรงบประมาณ ดังนี้

  1. ขยายกลุ่มเป้าหมายการให้เงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนในโครงการเรียนฟรี 15 ปี โดยเพิ่มการจัดสรรระดับชั้นอนุบาลและมัธยมปลาย จากเดิมให้เฉพาะระดับประถมถึงมัธยมต้น
  2. ปรับอัตราเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนให้สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบันเพื่อป้องกันนักเรียนหลุดจากระบบการศึกษา โดยให้ระดับอนุบาล 1,000 บาทต่อคนต่อปี เด็กประถมให้ 2,000 บาทต่อคนต่อปี มัธยมต้น 4,000 บาทต่อคนต่อปี และมัธยมปลาย 6,000 บาทต่อคนต่อปี จากเดิมให้เพียงระดับประถม 1,000 บาทต่อคนต่อปี และมัธยมต้น 3,000 บาทต่อคนต่อปี 

ทุกคนสามารถมาเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ ผ่านการลงชื่อสนับสนุนในเว็บไซต์ Change.org ให้ครบ 100,000 รายชื่อ เพื่อเป็นหนึ่งในฟันเฟืองของการเรียนฟรีต้องฟรีจริง ฟรีอย่างเสมอภาค โดยทุกรายชื่อที่ร่วมสนับสนุน จะถูกส่งต่อให้กับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อนำเสียงสนับสนุน ไปผลักดันนโยบายเรียนฟรี ให้ปรับเปลี่ยนในปีงบประมาณ 2566