สูงวัยไม่ยากจน สิทธิชราภาพประกันสังคม

สูงวัยไม่ยากจน สิทธิชราภาพประกันสังคม

สำนักงานสถิติแห่งชาติ คาดการณ์ว่าปี 65 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มตัว สำนักงานประกันสังคม จึงเดินหน้าดูแลผู้ประกันตนที่สูงอายุ ให้ได้รับความคุ้มครองและได้รับสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มมากขึ้น

สังคมผู้สูงอายุ หรือสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป กำลังถูกจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะจำนวนตัวเลขทั่วโลก ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) คาดการณ์ พบว่า จะเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 3 ต่อปี โดยในปี พ.ศ. 2573 คาดว่าจะมีจำนวนประชากรสูงอายุมากถึงประมาณ 1.4 พันล้านคนและจะเพิ่มขึ้นถึง 2 พันล้านคนในปี พ.ศ. 2593 ซึ่งทวีปเอเชียจะมีประชากรสูงวัยมากที่สุดในโลก สำหรับประเทศไทยนั้น กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า เมื่อปี 2563 มีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวนมากกว่า 12 ล้านคน และล่าสุด สำนักงานสถิติแห่งชาติ คาดการณ์ว่า ปีนี้ 2565 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว และจะเพิ่มสูงขึ้นแตะร้อยละ 26.9 ของประชากรทั้งประเทศ ในปี 2573 ดังนั้น สำนักงานประกันสังคม เดินหน้าดูแลผู้ประกันตน โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันรวมทั้งเป็นการรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในประเทศไทยเพื่อให้ผู้ประกันตนที่สูงอายุได้รับความคุ้มครองและได้รับสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม เป็นการปรับปรุงแก้ไขสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคม กรณีชราภาพ เพื่อให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อน แบ่งเป็นการขอเลือก ขอคืนและขอกู้ ดังนี้

กรณีผู้ประกันตนที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน สามารถเลือกรับเงินบำนาญชราภาพหรือเงินบำเหน็จชราภาพ (ขอเลือก) กรณีให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนมาใช้ก่อนมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ (ขอคืน) และกรณีนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนไปเป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินได้ (ขอกู้)

การแก้ไขร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ จะเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์ ภายใต้ระบบประกันสังคมที่มีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ลดความเหลือมล้ำในสังคม สร้างโอกาสการเข้าถึงบริการจากภาครัฐ รวมทั้งเป็นการจัดรัฐสวัสดิการที่เหมาะสมรองรับสังคมสูงอายุ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา หรือสายด่วนกระทรวงแรงาน 1506 ให้บริการทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง

สูงวัยไม่ยากจน สิทธิชราภาพประกันสังคม